×

เจาะปรากฏการณ์ ‘Lying Flat’ เมื่อคนรุ่นใหม่ปราศจากความทะยานอยาก กำลังก่อตัวในจีน

29.10.2021
  • LOADING...
Lying Flat

ปรากฏการณ์ Lying Flat กำลังระบาดไปทั่วประเทศจีน มันคือภาวะของการอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรมากไปกว่าที่จำเป็นให้หมดไปในแต่ละวัน

 

โดยสำนักข่าว South China Morning Post รายงานปรากฏการณ์ Lying Flat ที่เกิดขึ้นในคนหนุ่มสาว ปรากฏการณ์นี้คืออะไร และมันจะส่งผลอย่างไรต่อสังคมบ้าง

 

  • อธิบายอย่างคร่าวๆ ปรากฏการณ์ Lying Flat คือภาวะที่ผู้คนรู้สึกขาดความกระตือรือร้นอย่างรุนแรง ไม่ขวนขวาย ไม่ทะเยอทะยานในการจะประสบความสำเร็จ โดยปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในกลุ่มชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศหนุ่มสาวที่ปราศจากแรงขับเคลื่อนในการทำงาน และแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง จนประธานาธิบดีสีจิ้นผิงออกปากตำหนิผ่านสาธารณะว่า “สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะซบเซาของผู้คนในสังคม ทำให้เกิดการขยับ ไหลลื่นภายในสังคมได้มากขึ้น สร้างโอกาสให้ผู้อื่นได้กลายเป็นคนรวย และสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งก็ต้องหลีกเลี่ยงภาวะไร้ความทะเยอทะยานเช่นนี้” และระบุว่าภาวะความเนือยสิ้นแรงนี้ขัดแย้งกับอุดมการณ์ ‘Chinese Dream’ ที่หมายถึงการฟื้นคืนครั้งใหญ่ของชาติจีน

  • นั่นเพราะการ Lying Flat คือการใช้ชีวิตอย่าง ‘เอาตัวรอดไปวันๆ’ ไม่ขวนขวาย ไม่อยากได้อยากมี และทำทุกอย่างเพื่อให้พ้นๆ ไปเท่านั้น (สำนวนไทยอาจจะเรียกว่า ‘นอนทอดหุ่ย’) ท่ามกลางสังคมที่คาดหวังให้สมาชิกในสังคมกระตือรือร้น ทำงานหนัก เรียนหนังสือให้เก่ง ซื้อบ้าน และสร้างครอบครัว ซึ่งกลายเป็นว่าอุดมคติเช่นนี้ที่มีส่วนในการขยับขยายสังคมและเป็นฟันเฟืองสำคัญให้สังคมเคลื่อนไหวต่อไปได้ กลับถูกปัดทิ้งโดยคนรุ่นใหม่ที่ไม่โหยหาความมั่นคงหรือความอยากได้อยากมีอะไรในชีวิต และเลือกที่จะใช้ชีวิตให้หมดไปวันต่อวันเท่านั้น บางคนมองว่าแนวคิดนี้เป็นการปฏิเสธทุนนิยม บางคนก็มองว่าเป็นแค่ความขี้เกียจ รวมทั้งบางคนก็วิเคราะห์ว่ามันมีรากมาจากความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ของผู้คนซึ่งอุทิศตัวเองให้การทำงาน แต่กลับไม่ได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนังกลับมา ก่อนจะลงเอยด้วยการยกธงขาวยอมแพ้ในที่สุด

 

  • อย่างไรก็ดี วิธีคิดแบบ Lying Flat หรือภาษาจีนคือ Tang Ping ปรากฏขึ้นบนโลกออนไลน์จนกลายเป็นไวรัลในเดือนเมษายน 2021 โดยชายคนหนึ่งที่อ้างว่าชื่อ เหลาฮัวซุง (Luo Huazhong) ชายวัยยี่สิบกลางๆ ที่ระบุผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม Baidu Tieba ว่าเขาใช้ชีวิตแบบมักน้อยมากว่า 2 ปีแล้ว และบอกว่า “ชีวิตคือการอยู่ให้พ้นไปวันต่อวัน วันต่อวัน และวันต่อวัน การอยู่ให้หมดไปวันๆ นั้นคือความยุติธรรมแล้ว” พร้อมอธิบายว่า 2 ปีที่ผ่านมาเขาใช้ชีวิตโดยไม่ปรารถนาสิ่งใด ต่อให้งานประจำจะไม่มั่นคงแค่ไหน เขาก็ไม่สนใจ เพราะไม่ได้อยากได้อยากมีอะไรเพิ่มอยู่แล้ว ทั้งยังอยู่ในบ้านกับพ่อแม่ที่มณฑลเจ้อเจียง แล้วถ้าวันไหนรู้สึกอยากทำงาน เขาก็จะเดินทางด้วยระยะเวลา 3 ชั่วโมงมายังเขตตงหยาง ซึ่งมีสตูดิโอทำหนังที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ และเป็นที่ที่เขาพบว่ามีงานที่เหมาะสมสำหรับเขาที่สุด นั่นคือการรับบทเป็น ‘คนตาย’ ในหนัง

 

  • เหลาได้โพสต์รูปตัวเองขณะกำลังแสดงเป็นคนตายในเครื่องแบบนักฆ่าจีนยุคพีเรียด และรูปนั้นกลายเป็นไวรัลในทันที ซึ่งเหลาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า “ตอนที่ผมนอนนิ่งๆ เช่นนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าผมเอาแต่นอนยาวทุกวันโดยไม่ได้ทำอะไรเลย แต่การนอนราบๆ เช่นนี้มันคือภาวะทางจิตใจนะ เพราะผมรู้สึกว่าหลายสิ่งหลายอย่างมันก็ไม่คู่ควรแก่ความสนใจและพลังงานของผมเลย”

 

  • เรื่องราวของเหลาสอดคล้องกับบรรยากาศอันแสนไม่กระตือรือร้นที่ปรากฏขึ้นในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีกลุ่มแรงงานวัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า ‘เทพเจ้าแห่งซานเหอ’ โดยพวกเขาจะเดินเล่นไปมาอยู่ตามย่านซานเหอ เซินเจิ้นอย่างไร้เป้าหมาย อันเนื่องมาจากความเหนื่อยล้าจากการทำงานในโรงงานยาวนานวันละหลายชั่วโมงโดยได้ค่าแรงน้อยนิดเป็นรายวัน ทำให้พวกเขามีคติประจำใจว่า “ค่าแรง 1 วัน ก็ทำให้เราสนุกไปได้อีก 3 วันแล้วล่ะ” โดยพวกเขาใช้ชีวิตโดยหาที่นอนหลับกันในสวนสาธารณะ กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาถูก ใช้เวลาในร้านอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ จนกว่าเงินจะหมด ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ย่านซานเหอได้จับกุมกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ จนทำให้เรื่องราวของเขาไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลักมากเท่าเรื่องราวของเหลา

 

  • อย่างไรก็ดี การใช้ชีวิตไปวันต่อวัน ปราศจากความทะยานอยากแบบเหลานั้น กลายเป็นวิธีคิดที่สวนทางกับวิธีคิดเก่าแก่ของวัฒนธรรมจีนอย่างมาก โดยที่ผ่านมาในอินเทอร์เน็ตมักมีผู้มาโพสต์เล่าเรื่องความยากลำบาก การขวนขวายกว่าจะประสบความสำเร็จของผู้คน หรือบุคคลที่อุตสาหะสร้างชาติมากมาย ขณะที่เหลาเพียงแต่โพสต์บอกว่าเขาไม่อยากเห็นได้อะไร เขาแค่อยู่ของเขาไปเท่านั้น

 

  • นักวิเคราะห์มองว่าบรรยากาศหมดอาลัยในชีวิตดังกล่าวที่เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ ความตึงเครียดทางการค้ากับประเทศตะวันตก และสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาด ขณะที่จีนก็โหมประโคม ‘Chinese Dream’ โฆษณาชวนเชื่อของสีจิ้นผิงที่วาดภาพความยิ่งใหญ่อันเกรียงไกรของจีน และคำมั่นว่าจะมีอนาคตที่สดใส มีชีวิตที่ดีขึ้นรอเยาวชนรุ่นใหม่นับจากนี้ ขณะที่ความเป็นจริง แรงงานชาวจีนจำนวนมากยังต้องเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘996 ชั่วโมง’ นั่นคือเข้างานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม, 6 วันต่อสัปดาห์ ทำให้บรรยากาศการทำงานตึงเครียดและเป็นทุกข์อย่างมาก (อย่างไรก็ดี มีการเดินขบวนประท้วงวัฒนธรรมการทำงานเช่นนี้ในนาม Anti-996 เมื่อปี 2019 และถูกศาลสูงสุดของจีนกำหนดว่าการทำงานแบบ 996 นั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายเมื่อเดือนสิงหาคม 2021)

 

  • กระแสการใช้ชีวิตให้พ้นไปวันต่อวันนี้ตื่นตัวขึ้นในกลุ่มพนักงานออฟฟิศและนักเรียนนักศึกษา พร้อมนิยามตัวเองผ่านใช้โซเชียลมีเดียว่าเป็น ‘เยาวชนรุ่นไม่อยากทำอะไร’ มีการสกรีนเสื้อยืดลาย ‘ไม่ทำอะไรเลย’ ซึ่งกลายเป็นสินค้าขายดีจนทางการจีนต้องหันมาจับตาปรากฏการณ์นี้ เนื่องจากเกรงว่ากระแสดังกล่าวจะส่งผลรุนแรงต่อระบบระเบียบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะในระยะยาว ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงจะกระทบยอดการอุปโภคบริโภคและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง ที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมประชากรโดยรวมและระบบสวัสดิการสังคมในจีนด้วย โดยนักจิตวิทยาและหมอต่างออกมาเตือนว่า หากเราปล่อยตัวให้เฉื่อยชาเป็นเวลานานมากๆ นั้น มันก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทั้งทางร่างกายและสภาะจิตใจ รวมทั้งโรคหัวใจและโรคซึมเศร้าด้วย

 

  • ดร.เกวินซินชินชุย นักวิจารณ์อิสระ และอดีตรองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น ระบุว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังกระจายตัวอย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่จะไม่คาดหวังเรื่องการเติบโตของรายได้ การบริโภคสิ่งต่างๆ การแต่งงาน และการมีทายาท อันจะส่งผลเสียต่อจีนที่พยายามหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง และต้องเผชิญกับความซบเซาทางเศรษฐกิจแทน พร้อมกันกับที่มีการรายงานว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนช่วงไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงเหลือเพียง 4.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สีจิ้นผิงก็ประกาศนโยบายที่ประชาชนทุกคนสามารถ ‘เจริญไปด้วยกัน’ และย้ำว่าต้องหลีกเลี่ยง ‘กับดักของสวัสดิการ’ ซึ่งอาจไปสนับสนุนให้คนเกียจคร้านมากขึ้นก็เป็นได้

 

  • อย่างไรก็ดี เพื่อจะป้องกันกระแสของ Lying Flat บนอินเทอร์เน็ต การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน หรือที่เรียกกันว่าด่านกันบุกรุกขนาดใหญ่ (Great Firewall) ก็ทำหน้าที่ป้องกันข้อมูลดังกล่าวไม่ให้กลายเป็นไวรัลมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการไล่บล็อกไม่ให้มีการโพสต์ถึงประเด็นดังกล่าว ทั้งจากโพสต์ต้นฉบับของเหลา ไปจนถึงโพสต์ต่างๆ ที่มีการคัดลอก อ้างอิงถึงโพสต์ต้นฉบับก็ถูกลบออกไม่เหลือเช่นกัน ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์กันว่ากระแส Lying Flat นี้ส่งผลสะเทือนต่อรัฐอย่างรุนแรง เพราะมันสะท้อนการขบถอันเงียบเชียบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งรัฐไม่อาจกำราบได้โดยง่าย เพราะการต่อต้านโดยนอนลงเงียบๆ บนถนนนั้นต่างไปจากที่ทุกคนนอนลงเงียบๆ แล้วไม่ทำอะไรที่บ้านตัวเอง ซึ่งจัดการยากกว่ามาก

 

  • ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้ชี้ว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลพวงมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น และค่อยๆ หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเคืองแค้น โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวซึ่งสังเกตว่าความมั่งคั่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองเท่านั้น โดยความไม่พอใจนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงในอนาคต และสถานการณ์ Lying Flat คือผลพวงของความไม่พอใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ดังที่ว่ามานี้เอง

 

  • อย่างไรก็ดี สภาวะที่คนรุ่นใหม่เฉื่อยชาและปราศจากความกระตือรือร้นก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐอเมริกา กับกระแส ‘Beat Generation’ หรือ ‘ยุคบีต’ กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตต่อต้านค่านิยมแบบเดิมในช่วงปี 1950 (ในเวลาต่อมาได้ผลิตวรรณกรรมที่เรียกว่า ‘งานยุคบีต’ ชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะงานของ อัลเลน กินส์เบิร์ก, แจ็ค เครูแอ็ก ฯลฯ) จนรัฐต้องหาทางกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวกันมากขึ้น หรือชาว ‘นีต’ (NEET) ในสหราชอาณาจักรยุค 1990 เกิดกระแสคนที่เรียนจบแล้วและไม่อยากทำงาน ใช้ชีวิตไปให้หมดไปวันๆ เป็นต้น โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า ประเด็นที่กลุ่มคนหนุ่มสาวในแต่ละช่วงวัยจะหมดอาลัย ปราศจากความทะเยอทะยานนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่เป็นระยะๆ เสมอ

 

  • ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้จีนกังวลต่อกระแสดังกล่าวคือ ขณะที่ปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวเหนื่อยหน่ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกในประเทศอื่นๆ นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้เศรษฐกิจจีนยังนิ่งอยู่มาก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งสภาวะที่คนหนุ่มสาวพากัน Lying Flat เช่นนี้ จะยิ่งทำให้จีนเข้าไปใกล้กับดักดังกล่าวนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแล้ว นี่จึงเป็นปัญหาที่ตัวสีจิ้นผิงต้องเผชิญและหาทางรับมือ กอบกู้กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้กลับมามีความหวังในชีวิตอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยทีเดียว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising