×

รู้จักกับ 21 มรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดประจำปี 2017 ของ UNESCO พร้อม 5 ส่วนขยาย

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ในการประชุม World Heritage Committee ครั้งที่ 41 ได้มีการประกาศมรดกโลกประจำปี 2017   ซึ่งมีเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าทั้งเชิงวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ โดยต้องมีความโดดเด่นและมีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ โดยในปีนี้มีอยู่ 26 แห่งด้วยกัน
  • มหาวิหารแห่ง สวียาซค์ (Sviyazhsk) ในรัสเซีย สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ ของนิกายรัสเซียน ออโธดอกซ์ ภายในวิหารถูกตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์สวยงามตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และถูกสร้างขึ้นในช่วงที่มิชชันนารีมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในขณะที่ดินแดนแถบนี้ยังนับถือศาสนาอิสลาม จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการอยู่ร่วมกันของความแตกต่างหลากหลาย
  • เขตทะเลสาบอังกฤษ (The English Lake District) ในสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ พื้นที่หุบเขาที่กำเนิดมาจากธารน้ำแข็งในยุคน้ำแข็ง ได้รับการปรับสภาพจากการทำเกษตรกรรมของมนุษย์ เป็นฉากภูมิทัศน์ที่สวยโรแมนติกราวกับภาพวาด จนเป็นที่นิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 18  ประชาชนรวมถึงทางการพยายามอนุรักษ์สภาพไว้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด

     ในแต่ละปีองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) จะประกาศว่าพื้นที่ไหนของโลกที่จะได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก โดยต้องมีความโดดเด่นและมีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งมีเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าทั้งเชิงวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ เช่นในแง่วัฒนธรรมต้องแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะภาพในความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ หรือในเชิงธรรมชาติก็ต้องมีภูมิประเทศที่สวยงามโดดเด่น เป็นต้น ฯลฯ

     สำหรับสถานที่ทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมซึ่งได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกของ UNESCO ประจำปี 2017 นี้ มีทั้ง 21 สถานที่ใหม่เพิ่งได้รับการจัดเข้าไปอยู่ในลิสต์ และอีก 5 แห่งเป็นมรดกโลกเดิมที่มีความเปลี่ยนแปลง โดยได้ระบุให้ขยายอาณาเขตเพิ่มเติมเข้าไปด้วย

     จะมีที่ไหนบ้างมาดูกันเลย!

 

 

1. อัฟโฟรดีซิอัส (Aphrodisias) ในตุรกี

     พื้นที่ทางโบราณคดีที่ประกอบไปด้วยร่องรอยทางอารยธรรม และสถาปัตยกรรมอันสวยงาม อย่างวิหารอะโฟรไดต์ (Aphrodite) โรงละคร ชุมชนโบราณ และเสาหินอ่อนที่ประดับเรียงรายอยู่รอบเมือง เป็นพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของศิลปะแนวเฮเลนนิสติก (Hellenistic) ณ ช่วงเวลานั้น

 

 

2. เมืองแอสมารา (Asmara) ในประเทศเอริเทรีย (Eritrea)

     นับว่าเป็นเมืองที่มีความทันสมัยมากที่สุดเมืองหนึ่งของทวีปแอฟริกา สืบเนื่องมาจากมรดกตกทอดทางภูมิปัญญา วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่ของประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอิตาลี

 

 

3. มหาวิหารแห่ง สวียาซค์ (Sviyazhsk) ในรัสเซีย

     สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ ของนิกายรัสเซียน ออโธดอกซ์ ภายในวิหารถูกตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์สวยงามตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และถูกสร้างขึ้นในช่วงที่มิชชันนารีมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในขณะที่ดินแดนแถบนี้ยังนับถือศาสนาอิสลาม มหาวิหารแห่งนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการอยู่ร่วมกันของความแตกต่างหลากหลาย

 

 

4. ถ้ำและศิลปะโบราณ ในบริเวณเทือกเขสวาเบียน จูรา (Swabian Jura) ประเทศเยอรมนี

     ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี มีถ้ำอยู่ 6 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่รวมผลงานประติมากรรมที่มีความเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยยุคหิน เช่น รูปปั้นสุภาพสตรีที่เรียกว่า ‘The Venus of Hohle Fels’ ซึ่งคาดว่ามีอายุระหว่าง 43,000 – 33,000  ปี ทั้งยังมีรูปปั้นแกะสลักช้างขนาด 6 เซนติเมตร รูปแกะสลักของเครื่องประดับ เครื่องดนตรี และอื่นๆ อีกมากมาย

 

 

5. ย่านเมืองเก่าฮีบรอน หรือ อัลคาลีล (Hebron/Al-Khali) ในปาเลสไตน์

     ย่านเมืองเก่าแห่งนี้หนาแน่นไปด้วยสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนที่ก่อด้วยหินปูนตั้งแต่ช่วงปี .. 1250-1517 นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์แล้ว ยังเป็นสถานที่แสวงบุญทางศาสนา ทั้งศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามด้วย

 

 

6. เมืองประวัติศาสตร์ อาห์เมดาบัด (Ahmedabad) ประเทศอินเดีย

     อาห์เมดาบัดก่อตั้งขึ้นโดย สุลต่าน อาห์หมัด ซาห์ ในราวศตวรรษที่ 15 ที่นี่แสดงให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนาน โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งสไตล์ฮินดูและอิสลามเข้าไว้ด้วยกัน เบื้องหลังของกำแพงเมืองเก่าโอบล้อมไปด้วยอาคารบ้านเรือนแบบเก่า ที่ยังปรากฏให้เห็นลวดลายและริ้วรอยที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเมืองเก่าได้อย่างสวยงาม

 

 

7. เมืองประวัติศาสตร์ยาซด์ (Yazd) ในอิหร่าน

     สะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในแถบนี้ มีความโดดเด่นด้านการชลประทานที่ส่งผ่านท่อหรืออุโมงค์ใต้ดิน (Qanats) มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีตทำเลที่ตั้งของเมืองนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมและเส้นทางเครื่องเทศที่สำคัญของโลก

 

 

8. Kujataa บนเกาะ Greenland ประเทศเดนมาร์ก

     ด้วยภูมิประเทศแบบกึ่งอาร์กติก และวิถีชีวิตของนักล่าสัตวชาวนอร์ส ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมของชาวอินนูอิด ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งสองวัฒนธรรมนี้ได้ร่วมสร้างภูมิทัศน์ในเชิงปศุสัตว์อันความตื่นตาตื่นใจให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับการทำฟาร์มท้องถิ่นในแบบอาร์กติก

 

 

9. เกาะโกหล่องซู (Kulangsu) ประเทศจีน

     เกาะเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำของแม่น้ำ Chiu-lung ของเมืองเซียะเหมิน (Xiamen) ย้อนไปเมื่อ 174 ปีที่แล้ว ที่นี่มีการเปิดท่าเรือพาณิชย์ขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการตั้งข้อตกลงระหว่างประเทศในเวลาต่อมา ทำให้ที่นี่กลายแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่รุ่งเรือง นอกจากนี้ที่นี่ยังมีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่าง ทั้งสไตล์จีน ตะวันตก และสถาปัตยกรรมโคโลเนียลวีรันดาที่สวยงาม

 

 

10. เมืองมบันซา คองโก (M’banza Kongo) ประเทศแองโกลา (Angola)

     หนึ่งในรัฐที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของแอฟริกา ศูนย์กลางทางการเมืองและจิตวิญญาณของราชอาณาจักรคองโกตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 14-19 เป็นสถานที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงสถานที่จัดถวายพระเพลิงเชื้อพระวงศ์ การเข้ามาของชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 15 นำมาซึ่งโครงสร้างอาคารตามสถาปัตยกรรมของยุโรป ทว่าใช้วัสดุท้องถิ่นในการก่อสร้าง ฉะนั้นเมืองมบันซา คองโก จึงมีรูปแบบอารยธรรมเฉพาะตัว และเสมือนแหล่งเตือนใจของการมาถึงของชาวโปรตุเกสในแอฟริกากลาง

 

 

11. เกาะศักดิ์สิทธิ์ โอกิโนชิมะ (Okinoshima) ประเทศญี่ปุ่น

     เคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมโบราณในช่วงศตวรรษที่ 4-9 โดยนักเดินเรือสมัยก่อนจะมาขอพรจากศาลเจ้าภายในเกาะเเห่งนี้ ให้ออกเดินเรือได้อย่างปลอดภัย และค้าขายกับต่างชาติเป็นผลสำเร็จ เกาะนี้มีข้อห้ามต่างๆ มากมาย เช่น ห้ามให้ผู้หญิงขึ้นมาบนเกาะศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ รวมถึงห้ามพูดเมื่อคุณเห็นหรือได้ยินเสียงอะไร บนเกาะเเห่งนี้โดยเด็ดขาด

 

 

12. Taputapuātea ในหมู่เกาะ French Polynesia

     ตั้งอยู่บนเกาะ Ra’iatea ตรงกลางของ ‘Polynesian Triangle’ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น บริเวณแถบนี้ เต็มไปด้วยแหล่งโบราณคดีและสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ มากมาย สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 14-18 อย่างซับซ้อน แสดงถึงความเจริญด้านศิลปวิทยาการในขณะนั้น ก่อนที่พื้นที่บริเวณนี้จะเสื่อมโทรมลงจากการรุกรานของชาติตะวันตก และได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา

 

 

13. เหมืองทาร์นอฟสกี้ โกรี (Tarnowskie Góry) ประเทศโปแลนด์

     อดีตแหล่งผลิตแร่ตะกั่วและสังกะสีสำคัญของโลก ตั้งอยู่ในแคว้นปกครองตนเองทางตอนเหนือของแคว้นไซลีเซีย ประเทศโปแลนด์ โดดเด่นเรื่องระบบจัดการน้ำ ซึ่งเราสามารถเห็นอุปกรณ์และขั้นตอนต่างๆ ได้ ตามบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีสูบน้ำระบบไอน้ำของศตวรรษที่ 19 อุปกรณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและภูมิปัญญาในการกำจัดน้ำทิ้งจากการทำเหมืองแร่ใต้ดิน ตลอด 300 ปี ของทาร์นอฟสกี้ โกรี

 

 

14. สมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk) ประเทศกัมพูชา

     สถานที่ตั้งของปราสาทโบราณกว่า 50 แห่ง คาดกันว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 6 พระปรางค์และปราสาทส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะเป็นทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทรงแปดเหลี่ยมที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

15. เขตทะเลสาบอังกฤษ (The English Lake District) ในสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland)

     ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ เป็นพื้นที่หุบเขาที่กำเนิดมาจากธารน้ำแข็งในยุคน้ำแข็ง และได้รับการปรับสภาพจากการทำเกษตรกรรมของมนุษย์ กลายเป็นฉากภูมิทัศน์ที่สวยโรแมนติกราวกับภาพวาด จนเป็นที่นิยมตั้งศตวรรษที่ 18 ประชาชนรวมถึงทางการพยายามอนุรักษ์สภาพไว้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด

 

 

16. ท่าเรือโบราณวาลองโก (Valongo) ในเมืองหลวงของบราซิล

     พื้นที่ทางโบราณคดี อดีตเป็นจุดเชื่อมต่อด้านการค้าทาสแอฟริกันที่สำคัญในทวีปอเมริกาใต้  สร้างขึ้นในปี 1811 นับเป็นสถานที่อันเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของผู้คนในอดีต

 

 

17. กำแพงป้องกันฝีมือชาวเวนิช (Venetian Works of Defence) ในโครเอเชีย (Croatia) อิตาลี (Italy) และมอนเตเนโกร (Montenegro)

     กำแพงขนาด 15 ชั้น ผลงานการก่อสร้างของชาวเวนิช ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ปกป้องการรุกรานจากชาติตะวันตก กำแพงกว่า 1,000 กิโลเมตร พาดผ่านตั้งแต่ภูมิภาคลอมบาร์ด (Lombard) ของอิตาลี ไปจรดยังชายฝั่งทะเลอเดรียติกตะวันออก ครอบคลุม 3 ประเทศ ได้แก่ โครเอเชีย อิตาลี และมอนเตเนโกร เป็นป้องปราการและสถาปัตยกรรมทางการทหารที่มีเอกลักษณ์ และกลายเป็นแม่แบบของป้อมอีกหลายแห่งในยุโรป

 

 

18. ǂKhomani Cultural Landscape แอฟริกาใต้

     ǂKhomani Cultural Landscape เป็นพื้นที่ที่ผสมผสานระหว่างทะเลทรายที่กว้างใหญ่ กับวัฒนธรรมชนเผ่า ǂKhomani San นับตั้งแต่ช่วงยุคหินเป็นต้นมา ตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายคาลาฮารี ในอุทยานแห่งชาติคาลาฮารี (Kalahari Gemsbok) ในแอฟริกาใต้

 

 

19. พื้นที่ดายูเรีย (Landscapes of Dauria) ในมองโกเลีย และรัสเซีย (Mongolia, Russian Federation)

     ตั้งอยู่ในอาณาเขตของมองโกเลียและรัสเซีย เป็นพื้นที่แบบทุ่งหญ้าสเตปป์ (Steppe) ที่ได้รับอิทธิพลสภาพภูมิอากาศสองทิศทาง คือทางตะวันออกของมองโกเลียและรัสเซีย และทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ก่อให้เกิดสภาพอากาศที่มีลักษณะเฉพาะ นำไปสู่ความหลากหลายของระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์ และสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เช่น นกกระเรียนขาว นกอินทรี นกอีแร้งพันธุ์หายาก รวมถึงยังเป็นเส้นทางสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ชาวมองโกเลียใช้อพยพด้วย

 

 

20. ลอส อแลร์เซส (Los Alerces National Park) อุทยานแห่งชาติของอาร์เจนตินา

     ทิวทัศน์สวยงามของเเนวเทือกเขาแอนดีส (Andes) ทอดยาวขนาบทางด้านทิศตะวันตกของประเทศ อุทยานแห่งนี้มีระบบการจัดการและอนุรักษ์พืชไม้นานาพันธุ์ ให้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะต้นไซปรัส สายพันธุ์ปาตาโกเนีย (Patagonia) ซึ่งถือว่าเป็นต้นไม้ที่อายุยืนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก

 

 

21. Qinghai Hoh Xil ที่ราบสูงที่อยู่สูงที่สุดในโลกในประเทศจีน

     ตลอดทั้งปีมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ ด้วยอุณภูมิอันหนาวเย็น จึงทำให้มีระบบนิเวศที่โดดเด่น ซึ่งพืชและสัตว์บางสายพันธุ์เท่านั้นที่จะดำรงอยู่ได้ ทั้งยังเป็นเส้นทางอพยพของละมั่งทิเบตบางสายพันธุ์ด้วย

 

 

22. อาคารเบาเฮาส์ (Bauhaus) ในเมืองไวมาร์ (Weimar) ประเทศเยอรมนี

     โรงเรียนที่สอนเรื่องศิลปะและวิจิตรศิลป์ Bauhaus Movement ที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1930-1933 ถือเป็นแนวทางที่โด่งดังในเรื่องการออกแบบ มีอิทธิพลต่อการออกแบบและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาจนถึงทุกวันนี้

 

 

23. อาราม จีลาติ (Gelati Monastery) ประเทศจอร์เจีย

     แลนด์มาร์กทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1106  อารามนี้มีชื่อเสียงทางด้านโมเสกและภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12-19

 

 

24. จากเกาะกลาง ถึงเมืองใหม่ของ สทราซบูร์ (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส

     จริงๆ แล้วกร็องดีล (Grande-île) ซึ่งเป็นเกาะกลาง ศูนย์กลางของเมืองสทราซบูร์ นั้นได้รับการจัดอยู่ในลิสต์มรดกโลกของยูเนสโกมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1988 โดยมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแบบอย่างของย่านเมืองเก่าสมัยยุคกลาง แต่ส่วนของเมืองใหม่ซึ่งสร้างขึ้นรอบๆ ภายหลัง หรือNeustadt’  ที่โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเยอรมันนั้นเพิ่งได้รับบรรจุเข้าไปในลิสต์ก็ปีนี้เอง

 

 

25. Primeval Beech Forests / Regions of Europe

     ป่าบีชโบราณ ซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง ในบริเวณเทือกเขาคาร์เพเทียน (Carpathian) กินพื้นที่ของหลายประเทศในยุโรปมากกว่า 12 แห่ง ได้แก่ แอลเบเนีย ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย โครเอเชีย เยอรมนี อิตาลี โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และยูเครน

 

 

26. W-Arly-Pendjari Complex

     ส่วนต่อขยายเพิ่มเติมจากเบนิน บูร์กินา ฟาโซ (Benin, Burkina Faso) ไปยังอุทยานแห่งชาติดับเบิลยู (W National Park of Niger) ของประเทศไนเจอร์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 1996 ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของทุ่งหญ้าพุ่มไม้ ทุ่งหญ้าสะวันนา รวมไปถึงระบบนิเวศกึ่งน้ำจืดและน้ำบนพื้นดินในแถบแอฟริกาตะวันตก ที่สำคัญเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายาก อาทิ ช้างแอฟริกา เสือชีตาห์ เสือดาว และสิงโตจำนวนมากแห่งเดียวในภูมิภาค

 

Photo:  Courtesy of UNESCO, Shutter Stock 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X