ความชื่นชอบของผู้คนต่อรสชาติของไวน์นั้นมีหลากหลายไปตามรสนิยมและจริตลิ้นของผู้ดื่ม ซึ่งไวน์แต่ละชนิดนั้นเกิดจากการเลือกใช้พันธุ์ขององุ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งเราได้ทำการแนะนำพันธุ์องุ่นเบื้องต้นไปแล้วจากครั้งก่อนที่บทความนี้ และครั้งนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ‘ไวน์โลกเก่า’ และ ‘ไวน์โลกใหม่’ อีกสองรูปแบบการจำแนกรสชาติของไวน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้ถึงความแตกต่างและความหมาย เพราะแม้แต่สถานที่ผลิตไวน์และสถานที่ปลูกองุ่นก็ต่างให้ความละเมียดของรสชาติที่แตกต่างกัน!
ถ้าเราพูดถึงคำว่า ‘ไวน์โลกเก่า’ กับ ‘ไวน์โลกใหม่’ หลายๆ คนคงไม่คุ้นเคยกับคำนี้นักหากไม่ใช่นักดื่มไวน์ตัวยง ซึ่งการแยกความหมายระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปีที่ผลิตหรือความยาวนานของการบ่มแต่อย่างใด แต่โลกเก่าโลกใหม่ที่ว่า หมายถึงแหล่งที่องุ่นและไวน์ขวดนั้นๆ ผลิตขึ้น
เก่าแค่ไหนคือ ‘โลกเก่า’
คำว่า ‘ไวน์โลกเก่า’ หรือ Old World Wine นั้นถูกจำแนกความเก่าจากกระบวนการผลิตที่คงมาตรฐานมาร่วม 5 ทศวรรษจากเหล่าประเทศที่มีวิทยาการก้าวหน้าในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 อันถูกระบุอยู่ในแผนที่โลกโบราณ ซึ่งหมายความถึงแผ่นดินโลกเก่าในแถบยุโรปและตะวันออกกลาง หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของไวน์นั่นเอง เช่น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส กรีซ และเยอรมัน ที่มีประวัติศาสตร์การทำไวน์มาอย่างยาวนานนับพันปี ซึ่งรวมไปถึงประเทศในแถบตะวันออกกลางอย่าง เลบานอน หรืออิสราเอลด้วย
ใหม่แค่ไหนคือ ‘โลกใหม่’
ส่วนคำว่า ‘ไวน์โลกใหม่’ หรือ New World Wine คือไวน์ที่ถูกผลิตขึ้นจากแหล่งที่ไม่ใช่แหล่งดั้งเดิมของการทำไวน์ อาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่การทำไวน์แบบออริจินัลก็ได้ แต่เป็นการรับเอากรรมวิธีการทำไวน์จากแหล่งผลิตในโลกเก่าไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนากรรมวิธีต่างๆ ให้เป็นไปในรูปแบบของตัวเองโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเหลือ โดยมีเหตุผลหลักเหตุผลหนึ่งนั้นคือการสำรวจแผ่นดินใหม่ในยุคล่าอาณานิคม ที่นำเอากระบวนการผลิตไวน์ไปเผยแพร่ ซึ่งไวน์โลกใหม่ก็จะเกิดขึ้นในโลกแผ่นดินใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบอย่าง ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้
รสชาติและความรู้สึกที่แตกต่าง
นักดื่มไวน์หลายๆ คนมักหลงใหลกับการสั่งไวน์โลกเก่ามาจิบดื่ม เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในกรรมวิธีการผลิตที่คงมาตรฐานมาอย่างยาวนาน ให้ความรู้สึกคลาสสิก และเป็นเสมือนกับมรดกทางรสชาติชิ้นหนึ่งที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น เนื่องด้วยกระบวนการผลิตที่มีขั้นตอนอย่างเป็นแบบแผน และผู้ผลิตจะต้องทำตามสูตรเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้รสชาติที่คงมาตรฐานดั้งเดิม
รสชาติของไวน์โลกเก่ามีความเข้มข้นของมวลไวน์น้อยกว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า และไม่ออกรสชาติความหวานขององุ่นมากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการปลูกองุ่นในภูมิประเทศที่มีอากาศเย็น อย่างเช่น ปิโนต์ นัวร์ (Pinot Noir), คาเบอร์เน็ต ซาวิญง (Cabernet Sauvignon) หรือชีราห์ (Syrah)
ในขณะเดียวกันแฟนๆ ของไวน์โลกใหม่ก็ชอบที่จะได้ลิ้มลองรสชาติที่แตกต่างจากการผลิตที่เกิดขึ้นในเขตอบอุ่นที่มีอากาศร้อนกว่า ซึ่งส่งผลให้รสชาติขององุ่นนั้นเปลี่ยนไปด้วย
โดยรสชาติของไวน์โลกใหม่นั้นมักจะมีความชุ่มฉ่ำกว่า ความเข้มข้นของมวลไวน์ที่มากกว่า มีความเปรี้ยวที่น้อยกว่า แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงกว่าและให้รสชาติหอมหวาน อย่างเช่นชาร์ดอนเนย์ (Chardonnay) ที่ผลิตในออสเตรเลียจะให้กลิ่นคล้ายๆ ลูกพีช และมีความเปรี้ยวกว่าชาร์ดอนเนย์ที่ผลิตในประเทศโลกเก่า หรืออย่างรีสลิง (Riesling) ที่ผลิตในออสเตรเลียจะให้ความรู้สึกของรสชาติคล้ายรังผึ้งและมะนาว ต่างกับรีสลิงในโลกเก่าที่จะคล้ายกลิ่นของแอปเปิ้ล
การดื่มไวน์โลกเก่าหรือไวน์โลกใหม่ก็ต่างบ่งบอกรสนิยมและความชอบของแต่ละบุคคล แต่ก็ใช่ว่าประเภทไหนจะดีกว่าอีกประเภทไปเสียหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับรสชาติและกลิ่นที่ถูกจริตของคุณ ลองหยิบหาไวน์จากทั้งสองโลกมาชิมเปรียบเทียบดู แล้วจะได้รู้ว่าพวกเขาช่างมีเอกลักษณ์และรสชาติในแบบฉบับของตัวเองจริงๆ
อ้างอิง: