×

ปมเจ็บปวดที่ติดค้างในใจ หรือ Trauma จะเอาชนะมันได้อย่างไร

15.11.2023
  • LOADING...

ปมแห่งความเจ็บปวดที่ติดค้างในใจ หรือ Trauma คือสภาวะด้านจิตใจที่เกิดจากการรับรู้ต่อเหตุการณ์ว่ามีความรุนแรงกระทบกับความรู้สึก ตัวตน และความปลอดภัย อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่ยิ่งใหญ่หรือรุนแรงด้วยขนาดหรือความซับซ้อนของสถานการณ์ แต่เป็น ‘การรับรู้’ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีความรุนแรง ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอาจเกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ในวัยเด็ก ทำให้ปมแห่งความเจ็บปวดในใจของแต่ละคนจะมีเนื้อหาและผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป

 

 


 

โดยธรรมชาติสมองของมนุษย์มีความสามารถในการจัดการอารมณ์ด้วยกลวิธีทางเคมีและกลวิธาน (เป็นแนวความคิดที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่เฝ้าสังเกตวิธีปฏิบัติตนของมนุษย์ซ้ำแล้วซ้ำอีก และรวบรวมกระบวนการทางจิตวิทยาต่างๆ แล้วตั้งขึ้นเป็นข้อสมมติ (Hypothetical Construct) เพื่อให้สามารถอธิบายพฤติกรรมได้นั่นเอง) ในการปรับตัว 

 

อีกทั้งมนุษย์มีทักษะในการพึ่งพิงความรู้สึกและพึ่งพาอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้สังคมรอบข้างมีส่วนในการก้าวผ่านปัญหาและปมที่ค้างคาในใจ

 

บางคนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจในระดับสูง อาจส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และการใช้ชีวิต โดยอาจเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นเป็นการแสดงถึงสัญญาณของสภาวะปมในใจที่กำลังซับซ้อนเป็นวงจร เช่น

 

 

  • ไม่สามารถหยุดคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทั้งความคิดวกวนและเนื้อหาซ้ำเดิมเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น
  • พยายามไม่พูดถึงหรือคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เราคิดถึงหรือต้องไปเผชิญเรื่องดังกล่าว
  • มีความรู้สึกเจ็บปวดมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ความกลัว ความโกรธ หรือความโศกเศร้า
  • รู้สึกผิดหรือละอายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยโทษตนเองว่ามีส่วนสำคัญและเป็นส่วนใหญ่ของเรื่องราวทุกข์ใจที่เกิดขึ้น
  • ปมในใจรบกวนกิจวัตรการนอน ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิทและรู้สึกไม่สบายใจ
  • มีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับสมาธิ เพราะอาจกำลังถูกรบกวนจากความคิดเรื่องสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น

 

หากเกิดสภาวะดังกล่าวต่อเนื่องอาจสะสมเป็นปัญหาสุขภาพกายและใจ ซึ่งอาจแก้ไขได้ยาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากวิชาชีพด้านจิตใจ ในบางรายตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์เพื่อประเมินและรับการรักษาด้วยยา อีกทั้งยังมีการบำบัดด้านจิตใจหลายชนิดที่สามารถประคับประคองและช่วยเหลือให้เราสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดที่คั่งค้างเป็นปมในใจ ซึ่งจะมีวิธีบำบัดและรับมือดังต่อไปนี้ 

 

Trauma-Focused Cognitive-Behavioral Therapy (TF-CBT)

 

เป็นรูปแบบจิตบำบัดในศาสตร์ของจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม โดยผู้บำบัดเริ่มต้นกระบวนการด้วยการรับฟัง แสดงความเข้าอกเข้าใจผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาและปมในใจ เพื่อให้ผู้นั้นไม่รู้สึกโดดเดี่ยวกับปัญหาของตนเอง จากนั้นจึงค่อยๆ ให้ความรู้ต่ออาการหรือผลกระทบจากความรุนแรง เพื่อให้ผู้รับการบำบัดรับรู้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเจตนาหรือความอ่อนแอของตน

 

ฝึกกระบวนการผ่อนคลายร่างกาย

 

เนื่องจากการประสบกับปมที่ติดค้างในใจส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานอย่างหนัก ใจที่เต้นเร็ว เหงื่อออก หรือมือสั่น อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณให้เรามักหลีกหนีเรื่องที่จะเผชิญเพื่อความปลอดภัยชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ไขในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในความคิด

 

บำบัดด้วยการตั้งคำถาม

 

ผู้ให้การบำบัดจะชวนให้ผู้รับการบำบัดมีความคิดตามความเป็นจริงจากการ ‘ตั้งคำถาม’ โดยรูปแบบคำถามจะมุ่งเน้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความคิดที่ยังส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้า กลัว และกล่าวโทษตัวเอง

 

“มีอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ จากเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นบ้าง”

“คิดอย่างไรบ้างกับความช่วยเหลือที่ผ่านมา”

“มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง”

“มีอะไรที่ยังรู้สึกติดค้างในใจอยู่ในขณะนี้”

“จริงไหมที่คุณมีส่วนผิดในเรื่องเหล่านี้”

 

จากนั้นจะมีการนำความคิดใหม่ (Imagery Rescripting) ที่ได้พูดคุยและเขียน เพื่อช่วยสะท้อนการเรียนรู้และจำได้อย่างละเอียดลออ 

 

Eye Movement Desensitization and Reprocessing (EMDR) 

 

 

เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำจิตบำบัด โดยมุ่งเน้นที่การลดการถูกกระตุ้นจากความทรงจำที่ไม่พึงปรารถนาหรือตัวกระตุ้นอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรงและส่งผลให้เกิดอาการทางจิตในรูปแบบต่างๆ เช่น เห็นภาพเหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุของความกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือมีความรู้สึกตื่นกลัวหรือตื่นเต้นเมื่อเผชิญกับสถานการณ์หรือตัวกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางจิตใจ ด้วยการช่วยให้ความทรงจำนั้นได้เข้าสู่กระบวนการย่อยและจัดเก็บอย่างที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติของสมอง

 

หลังจากการทำ EMDR ผู้รับบริการจะยังคงจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่ผลกระทบทางลบที่มีจะลดลงหรือคลี่คลายไป ถูกนำมาใช้เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์อันเลวร้ายหรือในกลุ่มอาการต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา เพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถในการควบคุมและกำกับอารมณ์ของตนเอง

 

อีกทั้งยังช่วยทำให้ความทรงจำหรือตัวกระตุ้นต่างๆ เหล่านั้นรบกวนสภาพจิตใจและการดำเนินชีวิตให้ลดน้อยลง ทำให้ผู้รับการบำบัดสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

 

การบำบัดแนว Satir Model

 

 

การบำบัดแนว Satir (ซาเทียร์) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้สึกหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เน้นการจัดการกับประสบการณ์ทางกาย ทางใจ ความคิด และความสัมพันธ์ของครอบครัว ที่เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการบำบัด ผลสำเร็จของการบำบัดคือ การเปลี่ยนแปลงภายในของผู้เข้ารับการบำบัดให้ก้าวข้ามปมความรู้สึกเจ็บปวดด้วยทักษะเหล่านี้ สามารถยอมรับตนเอง เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างอิสระ และไม่มีภาวะกดดัน 

 

รวมทั้งสามารถรับผิดชอบเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจได้โดยไม่รู้สึกหนักและเห็นว่าคนอื่นๆ มีความสามารถรับผิดชอบเรื่องราวของแต่ละคนได้ โดยผู้รับการบำบัดไม่ไปยึดติดหรือคาดหวังกับผู้อื่น สามารถผลักดันตนเองให้พบความสุขสงบทางใจ มีแนวทางในการจัดการกับประเด็นภายในของตนเอง และมีทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาพจิตใจของตน รวมทั้งรับรู้ถึงความมีคุณค่าในตนเอง

 

การบำบัดด้วยวิธี Brainspotting

 

 

เป็นจิตบำบัดที่ผู้บำบัดร่วมมือกับผู้รับการบำบัดในการทำงานกับสมองส่วนกลางและส่วนล่างที่ควบคุมระบบประสาททั้งหมดของร่างกายมนุษย์ ซึ่งตอบสนองต่อการมองเห็น การได้ยิน การนอนหลับ และการเคลื่อนไหว โดยเมื่อเกิดเรื่องร้ายแรงกระทบกระเทือนจิตใจ สมองส่วนนี้เสมือนถูกแช่แข็ง และจะส่งสารถึงร่างกายให้ตอบสนองอย่างมาก ดังนั้นจะเกิดความรู้สึกกลัวระดับสูง 

 

สมองกับร่างกายหลังการบำบัดจนจบกระบวนการในแต่ละเซสชันจะรู้สึกผ่อนคลายและมีการเรียนรู้ใหม่ในระดับระบบประสาท โดยอาศัยทักษะเฉพาะจากผู้บำบัด อีกทั้งผู้บำบัดที่มีอารมณ์สงบเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการบำบัดและการดีขึ้นของผู้รับบริการ

 

การบำบัดแบบ Internal Family Systems (IFS)

 

 

เป็นจิตบำบัดที่มีองค์ประกอบในการเยียวยาด้วยพื้นที่ปลอดภัยจากภายนอกสู่ความรู้สึกปลอดภัยที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในใจให้เกิดการตื่นรู้และปะติดปะต่อเรื่องราวที่หล่นหายให้เห็นโลกอย่างรู้เท่าทัน โดยเริ่มจากการมีคนฟังที่เปิดพื้นที่หรือโอกาสให้เขาได้บอกเล่าความไม่สบายใจต่างๆ โดยที่ไม่ต้องรีบสรุปหรือแก้ไข เพียงแต่เริ่มต้นด้วยการรับฟังด้วยความเข้าใจ มีการเชื่อมต่อเรื่องราวเหล่านั้น จนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ได้ระบายออกมา ทำให้ปมในอดีตได้รับการเยียวยาและปกป้องไม่ให้เขาย้อนกลับไปคิดหรือรู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้นอีก

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising