×

KKP ชู ‘ตราสารหนี้ทั่วโลก’ น่าลงทุนที่สุดปีนี้ อานิสงส์แนวโน้มเงินเฟ้อลด ดอกเบี้ยขาลง

23.01.2024
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้จัดงาน KKP Year Ahead 2024 งานสัมมนาภายใต้ธีม ‘A Pathway to Prosperity’ เพื่อฉายภาพทิศทางเศรษฐกิจ กลยุทธ์การลงทุน ตลอดจนวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำคัญที่น่าจับตาในปี 2024 

 

THE STANDARD WEALTH จึงขอหยิบเนื้อหาเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนจากมุมมองผู้เชี่ยวชาญของ KKP มาฝากกัน

 

สำหรับปีนี้ ทวีศักดิ์ เผาพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2024 ประเภทสินทรัพย์ที่ KKP มองว่าน่าลงทุนมากที่สุดคือ ตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Bond) เนื่องจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงและแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งแนะนำให้ผสมหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่จำกัด โดยปัจจุบันผลตอบแทนตราสารหนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงในรอบ 15 ปี

 

นอกจากนี้ กลุ่ม Real Asset เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) รวมไปถึงสินทรัพย์ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global REITs) และโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก (Global Infrastructure) ก็เป็นกลุ่มที่ควรลงทุน เพื่อรับมือความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและความผันผวนในภูมิรัฐศาสตร์โลก 

 

อีกหนึ่งประเภทสินทรัพย์ที่น่าจับตามองคือหุ้น โดยเฉพาะฝั่งตลาดประเทศกำลังพัฒนาที่ KKP มองว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่มีอนาคตในปีมังกรนี้ เนื่องจากความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ที่มีตรงข้ามกับทิศทางค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD) หากมองจากอดีตใน 23 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ 12 ครั้งที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงกว่าดัชนีสกุลเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ 11.7%

 

การอ่อนตัวดังกล่าวส่งผลให้ดัชนี MSCI EM พุ่งขึ้นโดยเฉลี่ย 42% ซึ่งทำผลตอบแทนได้ดีกว่า MSCI World ถึง 16% และ MSCI US เกือบ 20% ทำให้ Philip Finch, Head of Equity Solutions ของ KKP มองว่า หุ้นตลาดประเทศกำลังพัฒนาเป็นกลยุทธ์การจัดพอร์ตที่เหมาะสมในสภาวะที่เงินดอลลาร์อ่อนตัว พร้อมให้เหตุผลสนับสนุน 4 ข้อดังนี้

 

  1. ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงในสหรัฐฯ จะทำให้นักลงทุนมองหาแหล่งทำเงินใหม่
  2. ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทที่ใช้ USD เป็นมาตรฐานราคา จะได้รับอานิสงส์ของความต้องการและราคาที่เพิ่มขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์จากเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง
  3. ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวทำให้หนี้ที่อยู่ในสกุล USD ของบริษัทในประเทศกำลังพัฒนามีมูลค่าลดลง
  4. การมองหาความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเงิน USD ที่อ่อนลง

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เป็นเพราะดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง การคาดการณ์ GDP ที่ไม่สูง และระดับหนี้ในประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หากจะถอยออกมามองภาพกว้างในหุ้นทั่วโลก KKP คิดว่าการปรับขึ้นของหุ้นน่าจะกระจายออกจากกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งปรับขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา และคำแนะนำตามรายอุตสาหกรรม KKP มีมุมมองบวกต่อ Semiconductor, Energy, Communication Service และ Consumer Staples  

 

ในส่วนของหุ้นไทย KKP ให้มุมมองเชิงบวกในระยะสั้นประมาณ 1 ปี และสามารถลงทุนได้ แต่กลยุทธ์การลงทุนหุ้นของบริษัทกว่า 80% ถูกเทไปให้กับหุ้นต่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising