×

ถอด 6 มุมมองต่อ ‘Sex Worker’ เมื่อเป็นอาชีพหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาศีลธรรมและกฎหมาย แต่สังคมมองชั่วร้าย กดทับ ตีตรา

25.12.2021
  • LOADING...
Sex Worker

วานนี้ (24 ธันวาคม) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการจัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ ‘หยุดทำร้าย ตีตรา พนักงานบริการ’ เนื่องในวันสากลยุติความรุนแรงต่อพนักงานบริการ 17 ธันวาคม (International Day to End Violence Against Sex Workers) โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ Swing Thailand

 

ผู้เข้าร่วมการเสวนาออนไลน์ประกอบด้วย

 

– ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสตรีนิยม เพศวิถี เพศสภาพ และความรุนแรง

 

– สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ผู้เชี่ยวชาญการทำงานกับพนักงานบริการและชุมชน

 

– สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติ

 

– ศาสตรา ศรีปาน โฆษก กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

 

– ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ โฆษก กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ุ และผู้มีความหลากหลากทางเพศ

 

– ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว THE STANDARD

 

– ดำเนินรายการโดย เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักขับเคลื่อนในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ กลุ่มเปราะบาง

 

  • Sex Worker ถูกใช้ความรุนแรงรวมถึงบังคับร่วมเพศ

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสตรีนิยม เพศวิถี เพศสภาพ และความรุนแรง กล่าวหัวข้อ: เบื้องหลังในเชิงความคิด โครงสร้างทางสังคมที่มีผลต่อการกระทำความรุนแรงต่อพนักงานบริการ

 

ชลิดาภรณ์กล่าวว่า ความรุนแรงต่อพนักงานบริการมีทั้งเรื่องใช้กำลัง รวมถึงการใช้อำนาจเหนือ พนักงานบริการทางเพศเจอความรุนแรงทางตรงเรื่องถูกทำร้ายร่างกาย รวมถึงการบังคับร่วมเพศ ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนสงสัยว่าเป็นพนักงานบริการทางเพศแล้วจะถูกบังคับร่วมเพศได้อย่างไร ต้องทำความเข้าใจว่าเขาขายบริการ ไม่ได้แปลว่าใครจะมาทำอะไรเมื่อไรอย่างไรก็ได้ การขายบริการไม่ได้ขายตัวและขายร่างกายให้ใครทำอะไรก็ได้

 

เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดยิ่งทำให้เห็นปัญหาความรุนแรงที่หนักหน่วงมาก โดยเฉพาะเรื่องการเข้าไม่ถึงบริการและไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของรัฐ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนหนักมากขึ้นไปอีก

 

สิ่งที่เป็นรากในการกระทำความรุนแรง เพราะความเชื่อเรื่องเพศและศีลธรรม เนื่องจากสังคมไทยลอกการบ้านฝรั่งที่บอกว่าเรื่องเพศที่ถูกต้องต้องเกิดในสถาบันการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเพื่อการเจริญพันธุ์เท่านั้น นี่คือรูปแบบเรื่องเพศที่ถูกต้อง

 

ดังนั้นการซื้อและขายบริการทางเพศจึงถูกมองว่าผิดหลายประการ เพราะเกิดขึ้นนอกการแต่งงาน ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเจริญพันธุ์ นำไปสู่การประณามผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายว่าผิดศีลธรรมด้วย กฎหมายไทยรับรองความเชื่อเชิงศีลธรรมโดยไม่ตรวจสอบความไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ การรับรองความเชื่อแบบนี้ผู้ซื้อขายบริการทางเพศจึงผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม

  • ขายบริการทางเพศ ชั่วร้ายแต่จำเป็น 

ชลิดาภรณ์กล่าวด้วยว่า มีคนมองว่าการซื้อขายบริการทางเพศเป็นสิ่งสะท้อนเรื่องการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบคนเพศสภาพหญิง เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่าโสเภณีที่มีนัยยะทางลบเหมือนเป็นสถาบันระบบชายเป็นใหญ่ สังคมนิยมชาย อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเพศสภาพชายได้เสนอต่อไปด้วยว่า การซื้อขายบริการทางเพศไม่มีไม่ได้ ถึงมันจะเลวแต่ไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นช่องทางให้คนเพศสภาพชายจำนวนมากที่มีความต้องการทางเพศ ไม่สามารถควบคุมได้จึงต้องให้มีการซื้อขายบริการทางเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 สะท้อนความชั่วร้ายแต่จำเป็น

 

นอกจากนั้น มีการอธิบายเชิงสุขภาวะว่า การบริการทางเพศ นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงกับโรคที่มาพร้อมกับการร่วมเพศ เป็นต้น 

 

สิ่งที่รัฐทำคือมีกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปัญหา เพราะการใช้กฎหมายเฉพาะ เป็นการบอกว่าคนกลุ่มนี้ไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไปจึงต้องใช้กฎหมายเฉพาะซึ่งเป็นการหล่อเลี้ยง การตีตราประณาม บวกกับกฎหมายของรัฐ นำไปสู่ปัญหา จะต้อง Decriminalization เพื่อทำให้การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถจะเลือกได้ในบางเวลาเหมือนกับอาชีพอื่นๆ

 

  • ผลักดันแก้ พ.ร.บ.สถานบริการ ให้สถานะพนักงานบริการอยู่ใต้กฎหมายแรงงาน

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ผู้เชี่ยวชาญการทำงานกับพนักงานบริการและชุมชน กล่าวหัวข้อ: ทิศทางการทำงานของภาคประชาสังคมเพื่อคุ้มครองสิทธิพนักงานบริการ

 

สุรางค์กล่าวว่า เห็นด้วยกับการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ.สถานบริการ เพื่อให้ระบุสถานะของคนที่ทำงานในสถานบริการเป็นลูกจ้าง ส่วนเจ้าของสถานบริการมีสถานะเป็นนายจ้าง เพื่อเข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้รับการดูแลช่วยเหลือเช่นเดียวกับทุกอาชีพ โดยไม่ต้องเขียนกฎหมายใหม่

 

เรามีการบ้านต้องไปทำความเข้าใจกับเจ้าของสถานบริการให้เห็นว่าการที่เขาเปิดธุรกิจแล้วมีพี่น้องพนักงานบริการเข้าไปทำงานอยู่ในธุรกิจของเขา แต่ว่าพี่น้องอยู่ภายใต้กฎหมายปรามการค้าประเวณีที่มีการเอาผิด มันก็ส่งผลอะไรหลายอย่างที่เจ้าของสถานบริการจะต้องเสียประโยชน์ จะต้องจ่ายภาษีใต้ดินหรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันมีมูลค่ามากในแต่ละเดือนแต่ละปี ถ้าเราเอามาอยู่บนดินแล้วคนที่ทำงานในธุรกิจของเขาก็มาอยู่บนดิน ค่าใช้จ่ายก็จะเป็นไปตามระบบคือเป็นเรื่องภาษีที่เหมือนธุรกิจอื่นๆ อาจจะทำให้เขาจ่ายใต้ดินน้อยลงหรือไม่ ซึ่งเราจะตั้งวงคุยกับบรรดาเจ้าของสถานบริการ

 

  • ช่องทางรีดไถเรียกรับผลประโยชน์

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติ กล่าวหัวข้อ: บทบาทของกฎหมายและผู้ใช้กฎหมายในการกระทำความรุนแรงต่อพนักงานบริการ

 

สุภัทรากล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ถึงเวลาจะต้องทบทวนแล้ว เพราะว่าเคสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนเจ้าหน้าที่ที่นำกฎหมายนี้มาใช้ เราก็จะพบว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น อ้างว่าผิดค้าประเวณีในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งไม่มีอยู่แล้ว แต่หลายครั้งจะถูกตั้งข้อหาจากผู้ใช้กฎหมายที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องกฎหมายแล้วก็ใช้อคติส่วนบุคคล หลายเคสที่เข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องมาบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่เป็นช่องทางของการรีดไถหรือการคอร์รัปชัน ไม่ได้คิดจะบังคับใช้กฎหมายจริงๆ ก็คือมีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ที่ถูกตั้งข้อหาเหล่านี้ จะเป็นรายเดือน รายครั้ง หรืออะไรก็แล้วแต่

 

25 ปีของการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ถึงเวลาที่จะต้องทบทวน โดยส่วนตัวเท่าที่ติดตามเรื่องนี้มาก็สนับสนุนให้ยกเลิก เพราะมองว่ากฎหมายฉบับนี้ทำขึ้นมาบนฐานอคติ ไม่ได้คิดเรื่องคุ้มครองดูแลคน แต่ทำขึ้นมาเพื่อควบคุมจัดการคนที่ถูกมองว่าชั่วร้ายแต่เป็นสิ่งจำเป็น นำไปสู่การบังคับใช้ที่ไม่ได้เคารพในคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการ

  • การขึ้นทะเบียนพนักงานบริการ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

สุภัทรากล่าวว่า หลายคนพูดว่าจะแก้ไขปรับเปลี่ยนให้ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติไปในตัว และจริงๆ แล้วการตัดสินใจประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการบางทีก็ไม่ได้เป็นอาชีพถาวร บางคนก็ทำเป็นการชั่วคราว บางช่วง บางขณะ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน รัฐก็ควรที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายในลักษณะคุ้มครองส่งเสริมคุณภาพชีวิตพนักงานบริการมากกว่าที่จะมากำหนดเป็นความผิดทางอาญา กฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันน่าจะไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคน ซึ่งเขาน่าจะต้องได้รับการยอมรับว่างานบริการเป็นอาชีพหนึ่ง ซึ่งสถานการณ์โควิดก็มีความชัดเจน เขาไม่ถูกนับเป็นอาชีพที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาทั้งที่จริงๆ แล้วเขาก็เป็นอาชีพที่สร้างเม็ดเงินให้ประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ GDP เราเติบโต เพราะงานบริการเป็นงานที่นำพาเอานักท่องเที่ยวและเม็ดเงินเข้ามาในประเทศจำนวนมาก แต่เรากลับเพิกเฉยไม่ดูแลเขา ควรมีมาตรการที่จะส่งเสริมคุ้มครองมากกว่ามากำหนดเป็นความผิด ถ้านับแต่มีกฎหมายปี พ.ศ. 2503 ก็พิสูจน์แล้ว 60 กว่าปี กฎหมายไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร กลับสร้างปัญหาใหม่ในสังคม และเป็นเครื่องมือให้คนไม่สุจริตไปแสวงหาผลประโยชน์ ถึงเวลาทำให้งานบริการอยู่ใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้รับสวัสดิการตามกฎหมายประกันสังคม 

 

สุภัทรากล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังเสนอให้ออก พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ได้ยื่นรายชื่อ 12,116 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา วันที่ 24 พฤศจิกายน ไม่ได้เป็นกฎหมายเฉพาะกลุ่มใด แต่เป็นกฎหมายกลางซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนองานวิจัยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทยควรตรากฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็นกฎหมายกลาง ถ้ามีการบังคับใช้ก็จะเป็นอีกส่วนในการคุ้มครองสิทธิของทุกคน

 

สุภัทรากล่าวด้วยว่า ความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ เช่น มองว่าคนพวกนี้รักสบาย อยากได้เงินเยอะๆ แต่ไม่ชอบทำงานหนัก การสร้างความเข้าใจใหม่ว่าพนักงานบริการเป็นการทำงานอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

 

  • เผยคุยรัฐมนตรีแรงงานแล้ว สนใจปัญหาที่เกิดกับ Sex Worker

ศาสตรา ศรีปาน โฆษก กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวหัวข้อ: บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิพนักงานบริการ

 

ศาสตรากล่าวว่าถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ว่า กฎหมายตัวนี้ไม่ได้ทำให้ Sex Worker หรือการค้าประเวณีหมดไป เพราะปัญหามาจากเรื่องเศรษฐกิจที่คนจะเลือกทำอาชีพนี้เพราะต้องการรายได้ มีผลตอบแทนค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะทำหรือไม่ ปัญหาคือเขาเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ แม้รัฐบาลพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำ

 

“ผมในฐานะมีบทบาทเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นโฆษกกรรมาธิการ ก็มีจุดยืนว่าที่ผ่านมากฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับพนักงานบริการ การบังคับใช้กฎหมาย เป็นการกระทำที่ไม่ได้ทำให้อาชีพเหล่านี้ลดน้อยลง ประเทศไทยต้องยอมรับได้แล้ว เรื่องนี้ต้องยอมรับ ซ้ำยังเป็นการเพิ่มความรุนแรงให้พนักงานบริการ ผลักพนักงานบริการออกจากการเข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ที่จัดสรรโดยรัฐ ล่าสุด เช่น โครงการ ‘เราชนะ’ ช่วงโควิด ซึ่งตรงนี้ผมว่าเราต้องเอาขึ้นมาคุยกันได้แล้ว ทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาร่วมกัน กระทรวงแรงงานและทุกกระทรวงต้องส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมองว่าอาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่ง เขาจะได้เห็นว่าคนทำอาชีพนี้มีความเป็นมนุษย์ 

 

“ในห้องของกรรมาธิการมีการถกกันมากว่า Sex Worker ถูกผู้บังคับใช้กฎหมายเอารัดเอาเปรียบจากการเรียกรับประโยชน์หรือส่วย ไปจนถึงการล่อซื้อเลย การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้ว ล่าสุดจะต้องเชิญท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งอยู่พรรคพลังประชารัฐพรรคเดียวกับผม ผมได้คุยกับรัฐมนตรีแล้ว ท่านก็มีความสนใจเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ และท้ายสุด กรรมาธิการของเราต้องลงพื้นที่เชิญ Sex Worker คนที่ทำอาชีพนี้จริงๆ เข้ามาในคณะทำงาน พูดคุยความต้องการร่วมกันกับทางภาครัฐ เพื่อจะหาทางออกต่อไปนะครับ 

    

“บทบาทผมในฐานะ ส.ส. ก็มีเรื่องการผลักดันให้ Sex Worker ต้องไม่ผิดกฎหมาย และให้คุณค่าเป็นอาชีพหนึ่ง ส่วนความเห็นว่าคนทำงาน Sex Worker เขาไม่อยากลงทะเบียน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ผมได้พูดคุยกับพี่น้อง Sex Worker จริงๆ แล้วเขาค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องนี้ ถ้าเอาเขาไปลงทะเบียน หลายๆ คนบอกว่าเขาไม่ต้องการอย่างนั้น เขาแค่ต้องการเข้าถึงสวัสดิการเท่านั้นเอง แล้วก็เป็นอาชีพที่เท่าเทียมกัน เพราะเขาก็ห่วงเรื่องการแต่งงาน เนื่องจากสังคมต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ”      

 

ศาสตรากล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้ตั้งคณะทำงานมาเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด ทั้งจากนักวิชาการ ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ทำอาชีพ Sex Worker ด้วย เพื่อจะได้พูดคุยกัน เราต้องเปิดรับฟังทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกฎหมายสำหรับทุกคนให้ได้ เชื่อว่าจะมีความคืบหน้าที่จะสามารถอัปเดตในอนาคต

 

  • ยังไม่สรุปขึ้นทะเบียน Sex Worker หรือไม่

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ โฆษก กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ุ และผู้มีความหลากหลากทางเพศ กล่าวหัวข้อ: บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรในการคุ้มครองพนักงานบริการ

 

ธัญวัจน์กล่าวถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ว่า ไม่ได้เป็นการป้องกันและปราบปราม แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีอำนาจกอบโกยผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ให้บริการ ถูกขูดรีด ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

ธัญวัจน์กล่าวว่า การจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ ยังไม่มีการสรุป แต่จะทำให้ทุกอย่างปลอดภัยและขับเคลื่อนไปได้ เราพยายามจะมีทางเลือกให้คนที่ไม่ต้องการขึ้นทะเบียนหรือคนที่ต้องขึ้นทะเบียนต้องเป็นแบบไหน เข้าใจทุกฝ่ายมีความกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเป็นเรื่องเปราะบางมาก ซึ่งเราเห็นทุกมุมจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เราจะทำอย่างไรถ้าหากทุกคนไม่เห็นพ้อง กฎหมายไม่ผ่าน ก็จะทำให้คนที่ขูดรีดจะขูดรีดต่อไป ดังนั้นทุกคนอาจจะไม่ได้ตามความต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อเดินหน้าไปก่อน

 

  • พลวัตสื่อมวลชน สังคมเปลี่ยน สื่อก็เปลี่ยน 

ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว THE STANDARD กล่าวหัวข้อ: บทบาทสื่อในการนำเสนอประเด็นพนักงานบริการ

 

ธนกรกล่าวว่า ที่ผ่านมาเวลาเราเห็นการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอาชีพ Sex Worker หรือพนักงานบริการ มักจะเป็นประเด็นด้านลบ เพราะความเชื่อวิธีคิดของสื่อมวลชน มักมีการเบี่ยงเบนประเด็นไปกดทับหรือเกิดความอ่อนไหว ไม่ระมัดระวังการนำเสนอข่าวเหล่านี้ ซึ่งต้องขอบคุณมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ที่ช่วยให้ข้อมูลและนำเสนอการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพนักงานบริการ 

 

ส่วนมุมด้านบวกจากสื่อมวลชน ก็มีความเข้าใจและมีความพยายามของหลายสำนักข่าวที่ทำมากขึ้นในประเด็นปัญหาหรือการส่งเสริมสิทธิหรือสิ่งที่ควรจะเอามาวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม รวมถึงการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่เราพูดกันก็มีมากขึ้น

 

สำหรับกรอบหรือวิธีคิดของสื่อมวลชนเกี่ยวกับ Sex Worker จะมีหลักเช่นเดียวกับการนำเสนอข่าวอื่นๆ คือ การไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นข่าว อย่างน้อยจะมีกรอบเหล่านี้ให้เราตระหนัก เรามีสิ่งที่เรียกว่า แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว เช่น มีหมวดที่บอกว่า ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาและจำเลย พึงระมัดระวังการตั้งคำถามและการกระทำใดๆ ในลักษณะชี้นำ กดดัน ซ้ำเติม หรือดูถูกเหยียดหยามผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาและจำเลย สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำและสรรพนามเชิงเหยียดหยามหรือไม่เหมาะสมกับเพศ วัย สถานภาพ และชาติพันธุ์ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายหรือบุคคลทั่วไปที่ตกเป็นข่าว สิ่งเหล่านี้เป็นกรอบที่ให้เรายึดในการทำงานกับบุคคลทุกกลุ่ม

   

ธนกรกล่าวว่า หลายอย่างที่เราเห็นสะท้อนพลวัตบางอย่างที่เคลื่อนไปกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน โดยเฉพาะเมื่อเกิดโลกที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการสื่อสารลักษณะ Two Way Communication ทำให้ทั้งสำนักข่าวและผู้อ่านเห็นฟีดแบ็กกันและกัน

 

ทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนก็เปลี่ยนไป อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีฟีดแบ็กจากประชาชน เมื่อเราพูดถึงประเด็น Sex Worker หรือประเด็นความหลากหลายทางเพศ LGBTQ เป็นประเด็นที่สังคมไทยยังมีข้อถกเถียงกันมากอยู่ หรือบางส่วนไม่เปิดใจยอมรับสิ่งเหล่านี้ แม้แต่ในพื้นที่สื่อเองก็จะถูกผู้อ่านฟีดแบ็กหลายอย่าง โดยเฉพาะ Influencer คนสำคัญหลายคนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ ทำให้เราต้องมีความระมัดระวังแม้แต่การใช้ถ้อยคำหรือต้องเข้าใจสิ่งที่เรารายงานให้มากขึ้น สื่อมวลชนต้องทำการบ้านมากขึ้นและตระหนักมากขึ้นกว่าเดิม ที่เราเคยเห็นพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์สมัยโบราณ สมัยก่อนที่เราเห็นวิธีการใช้คำ ใช้วิธีการที่ไม่พึงระวังในแง่การบูลลี่ ผลิตซ้ำ การเหยียด การทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ การตัดสินพนักงานบริการที่ทำให้เขาถูกมองเป็นอื่น หรือเป็นอาชีพที่ตกเป็นเหยื่อสังคมมากกว่าที่จะพูดถึงคุณภาพชีวิตและปัญหาอย่างอื่น 

 

ภาคประชาสังคมก็ทำให้สื่อนำเสนอแง่มุมอย่างระมัดระวังมากขึ้น ทำให้บริบทสื่อมีความเปลี่ยนแปลงไป เมื่อสังคมเปลี่ยนสื่อก็เปลี่ยน ช่วยขับเคลื่อนสังคมไปต่อ มีความเข้าใจในการนำเสนอข่าวข้อมูลฐานวิธีคิด การเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ เช่น อาชีพพนักงานบริการนำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล มีประเด็นเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการ เพื่อไม่ต้องเป็นธุรกิจสีเทาในมุมมืดตามกรอบเดิมที่มีแต่ข่าวการทลายจับกุม หรือมองว่าเป็นความผิดบาป นอกจากนั้น ข้อมูลในวงเสวนาก็ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น ขณะที่ในปีนี้ประเด็นกฎหมายคุ้มครอง Sex Worker ได้รับการพูดถึงในระดับพรรคการเมืองแล้ว มีผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และสื่อมวลชนจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน

 

ธนกรกล่าวด้วยว่า จากการสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลาย เชื่อว่ามีแนวโน้มสูงที่จะมีการยกเลิกกฎหมายเดิม เพราะผู้คนมีแนวคิดทิศทางเป้าหมายเดียวกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising