×

“ทุกปีมีแต่ข่าวตั๋วช้าง คนอยากเลิกเป็นตำรวจ เพราะเต็มไปด้วยเด็กฝาก” ชำแหละปัญหาสู่การปฏิรูปองค์กรสีกากี กับ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

29.12.2023
  • LOADING...

องค์กรตำรวจไทยถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ประชาชนให้การจับตาและสนใจอย่างมาก เนื่องจากตลอดปี 2023 มีเหตุการณ์อื้อฉาวมากมายซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่สายตาชาวไทยและต่างชาติ เช่น รีดไถเงินดาราสาวไต้หวัน, ส่วยสติกเกอร์ทางหลวง, มาเฟียต่างจังหวัด รวมทั้งการเมืองสีกากี นำมาสู่การคอร์รัปชันกันเองในวงการตำรวจ 

 

รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ในรูปแบบพิเศษ NOW AND NEXT 2024 ได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาชำแหละปัญหาองค์กรตำรวจ สู่หนทางการปฏิรูปเพื่อความยั่งยืน

 

การบริหารคนในองค์กรตำรวจมีปัญหา

 

“ตำรวจที่ไม่ดีทั้งหลายเกิดจากระบบการบริหารบุคคลล้มเหลว ทำให้ไม่ได้ตำรวจที่ดีมาเป็นผู้บังคับบัญชา” พล.ต.อ. เอกกล่าวเริ่มต้น

 

ในสมัยก่อนที่เป็นยุคของ ผบ.ตร. เช่น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หรือ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว แม้จะมีปัญหาการบริหารหรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถ้าเทียบกับตอนนี้คงไม่หนักเท่า 

 

หากองค์กรตำรวจมีระบบการบริหารคนที่ดี มีระบบคุณธรรมที่ดี ก็จะได้บุคลากรที่รับมือกับตำรวจกว่า 2 แสนนาย เสมือนกับคำว่า

 

“ถ้าหัวหน้าดี ที่เหลือก็จะดีตามมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ที่แก้ไม่รู้จบ”

 

การเติบโตของตำรวจในช่วง 8-9 ปี เต็มไปด้วยเด็กฝากและระบบอุปถัมภ์

 

“การเติบโตของตำรวจในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเด็กฝากและระบบอุปถัมภ์ ตำรวจที่ดีเขาให้กำลังใจ เพราะสังคมตำรวจในวันนี้เต็มไปด้วยเด็กฝาก ระบบอุปถัมภ์ แม้สมัยก่อนก็มีเด็กฝาก แต่สมัยก่อนกับสมัยนี้ฝากมันไม่เหมือนกัน” วิโรจน์กล่าวเสริม

 

เมื่อมีเด็กฝากมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ ตำรวจในโรงพักไร้ศักยภาพในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรตำรวจไทยไม่ได้สนับสนุนการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแม้แต่น้อย ทำให้ทรัพยากรดังกล่าวขาดแคลน ไม่เพียงพอกับการรับมืออาชญากรรมทางไซเบอร์ 

 

ดังนั้น พนักงานสอบสวนที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับการเหลียวแลงบประมาณ และการสนับสนุนมานานไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว

 

ตำรวจไม่ดีที่ถูกแฉ ไม่ใช่ว่าเพิ่งนิสัยไม่ดี แต่ก่อตัวมีอำนาจมาก่อนแล้ว

 

“คุณรู้หรือไม่ ตำรวจไม่ดีที่ถูกแฉ ถูกเป็นข่าว ไม่ใช่ว่าเพิ่งนิสัยไม่ดี แต่ก่อตัว สะสม และมีอำนาจต่อทอดกันมาก่อนแล้ว” วิโรจน์กล่าวต่อ

 

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นคงหนีไม่พ้นโรงเรียน ในอดีตอาจมีเด็กฝากแค่ห้องเดียว ที่เหลือสอบเข้ามาได้หมด แต่ตอนนี้กลายเป็นเด็กฝากหมด ไม่มีสอบเข้ามาได้ ฉะนั้นลองจินตนาการดูว่า สภาพของโรงเรียนในยุคที่ฝากหมดไม่มีสอบเข้า ผลการเรียนของเด็กจะเป็นอย่างไร เด็กจะตั้งใจเรียนหรือไม่

 

หรือกล่าวอีกนัยว่า สังคมตำรวจในทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำงานจะเกิดอาการท้อแท้ ทำงานแทบตายสุดท้ายก็ไม่เติบโตในตำแหน่ง ถ้าอยากโตก็ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรม มุมมองตนเองว่า คงต้องไปเป็นเหมือนคนที่ไม่ดี ซื้อตำแหน่ง 

 

“สุดท้ายคนดีที่ใจไม่แข็งก็ถูกดึงให้กลายเป็นคนไม่ดี แล้วองค์กรจะอยู่อย่างไร ขอถามหน่อยว่าตำรวจที่ไม่ดี ที่ฝากกันเข้ามา คุณภูมิใจเหรอที่ได้ตำแหน่ง ประชาชนแทนที่จะหนีร้อนมาพึ่งเย็น กลายเป็นคนพวกนี้ละทิ้งหน้าที่ไปดื้อๆ” วิโรจน์กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดัน

 

การซื้อขายตำแหน่ง ตั๋วช้าง-ส่วยสติกเกอร์มีข่าวทุกปี

 

 

“ตำรวจไม่ดีมีทุกยุคทุกสมัย มันอยู่ที่การจัดการตำรวจที่ไม่ดีว่าจริงจังขนาดไหนโดยผู้บังคับบัญชา” วิโรจน์ระบุ

 

ในปี 2023 ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งหรือตั๋วช้าง (คือตั๋วตำรวจที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งใช้ในการซื้อ-ขายตำแหน่ง ถ้ามีตั๋วนี้ราคาตำแหน่งจะถูกลง 50% มีอำนาจมากที่สุด ขอแล้วได้ทันที) รวมทั้งส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกเกิดขึ้นมากมายแทบทุกเดือน 

 

ทั้งนี้ หากการจัดการกับการประพฤติมิชอบในหน้าที่ไม่ได้ตรวจสอบไปถึงตัวการ หรืออาจตรวจสอบถึงแต่แตะต้องตัวการไม่ได้ แล้วตำรวจน้ำดีจะมีกำลังใจในการทำงานได้อย่างไร ซึ่งในอดีตการไล่ล่ามีความเข้มข้นมาก ไล่ล่าจนผู้บังคับบัญชาไม่ได้มีโอกาสกลับขึ้นมาเป็นผู้กำกับใหม่และหมดอนาคตทันที

 

“แต่เราไม่เห็นการไล่ล่าแบบนี้ในยุคปัจจุบัน” วิโรจน์ขยายความ

 

หลายคนอยากเลิกเป็นตำรวจ แต่เลิกไม่ได้เพราะติดหนี้สหกรณ์

 

 

“หลายคนอยากเลิกเป็นตำรวจ แต่เลิกไม่ได้เพราะติดหนี้สหกรณ์ จริงๆ มีปัญหาเยอะ ทั้งงบน้อยและหนี้สินของพนักงานตำรวจ จนทำให้ตำรวจหลายคนต้องไปนั่งทำงานไซด์ไลน์” วิโรจน์กล่าว

 

ในสภาพแวดล้อมที่ตำรวจแทบจะไม่มีเงิน เสมือนมีแต่คำสั่ง งบประมาณไม่มา ย่อมส่งผลให้โจรที่เฝ้าติดตามหลุดรอดสายตาเจ้าหน้าที่ เนื่องจากงบประมาณขาดแคลน เมื่ออยากไล่ล่าโจรก็ต้องไปข้องเกี่ยวกับธุรกิจสีเทาเพื่อนำเงินมาใช้ลาดตระเวน สุดท้ายปัญหาก็ไม่จบสิ้น

 

การปฏิรูปตำรวจไทยจะเกิดได้จริงหรือไม่

 

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ) กำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งไว้ชัดเจนว่า ต้องคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ 

 

นอกจากนี้ ยังกำหนดระบบคุณธรรม ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ ด้วยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ ซึ่ง พล.ต.อ. เอกเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิรูปองค์กรตำรวจไทย แม้จะยังต้องใช้เวลาอีกนานก็ตาม

 

“ในระยะสั้นคงต้องใช้ระบบอาวุโส 50% และคนที่มีความรู้ความสามารถ 50% โดยต้องดึงกลุ่มคนอาวุโสขึ้นมาพิจารณาในตำแหน่งสำคัญๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ลดน้ำหนักของผู้อาวุโส และใช้น้ำหนักการพิจารณาจากความสามารถมาแข่งขัน” พล.ต.อ. เอกขยายความ

 

อย่าให้การเมืองแทรกแซง ก.ตร.

 

 

พล.ต.อ. เอกระบุอีกว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. จำเป็นต้องเปลี่ยนสัดส่วนให้คณะกรรมการฯ มาจากการเลือกตั้งแทนที่การแต่งตั้งตำแหน่ง ซึ่ง ก.ตร. ควรต้องขยายไปต่างจังหวัด ไปทุกภูมิภาค ไม่ใช่มีแค่เฉพาะส่วนกลาง เพราะไม่มีใครจะรู้จักคนในพื้นที่เท่ากับประชาชนในพื้นที่

 

“ตอนนี้ ก.ตร. ดูแค่เฉพาะนายพล ระดับล่างปล่อยให้ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจพิจารณา ถ้าจะสร้างกลไกที่ทำให้เข้มแข็งต้องให้ ก.ตร. ลงไปทุกภาค และประธาน ก.ตร. ต้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เพราะถ้าตั้งนายกฯ มา การเมืองก็แทรกแซงตลอด อย่าให้การเมืองแทรกแซง ก.ตร. 

 

“นอกจากนี้ต้องให้ระบบคุณธรรมหนุนนำด้วย สังคมโปรดจับตาดูอย่างใกล้ชิดกับการปฏิรูปองค์กรตำรวจ” พล.ต.อ. เอกทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising