×

‘เจอ แจก จบ’ รักษาโควิดแบบ ‘ผู้ป่วยนอก’ (OPD) คืออะไร มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

01.03.2022
  • LOADING...

ตั้งแต่วันนี้ (1 มีนาคม) ผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient Department: OPD) ได้ ตามนโยบาย OPD-HI First ของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหลายคนอาจได้ยินในชื่อนโยบาย ‘เจอ แจก จบ’ ในขณะเดียวกันระบบแยกรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) ก็ยังคงอยู่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง

 

การรักษาแบบ ‘ผู้ป่วยนอก’ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง เหมาะสมหรือไม่ และผู้ติดเชื้อต้องดูแลตนเองอย่างไร

 

การรักษาแบบผู้ป่วยนอกคืออะไร

ถ้าพูดถึงการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient) อยากให้นึกถึงตอนเราป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย แล้วไปรักษาที่โรงพยาบาล พยาบาลซักประวัติ วัดอุณหภูมิ และความดันโลหิตก่อน จากนั้นเข้าไปในห้องตรวจ แพทย์ซักประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่างกาย หากอาการไม่รุนแรง แพทย์ก็จะจ่ายยากลับให้ไปรับประทานที่บ้าน เช่น ยาแก้คลื่นไส้ ยาแก้ปวดท้อง ผงเกลือแร่ พร้อมกับคำแนะนำว่าอาการจะดีขึ้นใน 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้กลับมาตรวจซ้ำ

 

แต่หากความดันต่ำ ชีพจรเร็ว แสดงว่ามีภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กมีอาการซึม อ่อนเพลีย แพทย์ก็จะพิจารณา ‘แอดมิต’ รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเป็น ‘ผู้ป่วยใน’ (Inpatient) เพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และอาจฉีดยารักษาตามอาการ (เพราะรับประทานอะไรก็อาเจียนออกหมด) จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษไม่จำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยในทุกราย เพราะแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของโรค หรือความเสี่ยงที่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 

 

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจก็เช่นกัน ตอนเราป่วยเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ แพทย์ก็มักจะให้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน พร้อมกับยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก แต่สำหรับ ‘โควิด’ ในช่วงแรก ซึ่งเป็นเป็นโรคติดต่ออันตราย ทั้งในทางการแพทย์และตามกฎหมาย (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) การดูแลผู้ติดเชื้อจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การรักษา เป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก ในบางกรณีแพทย์จะพิจาณาจ่ายยาต้านไวรัส และ 2. การแยกกักตัว (Isolation) จนพ้นระยะแพร่เชื้อ เพื่อควบคุมการระบาด

 

แรกสุดผู้ติดเชื้อทุกรายจึงได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จากห้องเดี่ยวเป็นห้องรวม (Cohort Ward) ต่อมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก จึงให้แยกไปรักษาที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ซึ่งดัดแปลงโรงแรม (Hotel) มาเป็นโรงพยาบาล (Hospital) เมื่อห้องไม่พอก็สร้างโรงพยาบาลสนามรองรับ จนกระทั่งระลอกเดลตาที่ผู้ติดเชื้อล้นโรงพยาบาลจนต้องใช้ระบบแยกรักษาตัวที่บ้าน (HI) ในที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถแยกตัวที่บ้านได้ บางชุมชนก็จัดศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) ไว้รองรับอีกที

 

แต่ทั้งหมดยังต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามอาการ ในขณะที่การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายเท่าอย่างรวดเร็ว บุคลากรจึงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อในระลอกนี้อาการไม่รุนแรง สาเหตุเป็นเพราะไวรัสมีความรุนแรงลดลง และประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ข้อมูลจากกรุงเทพฯ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พบว่ามีผู้ป่วยสีเขียวมากกว่า 90% กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับรูปแบบการรักษาโควิดเป็นแบบผู้ป่วยนอก (OPD) 

 

การรักษาแบบผู้ป่วยนอกเหมาะสมหรือไม่

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนการบริหารจัดการให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหมายถึงการที่โรคลดความรุนแรงลง การรักษามีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอ โดยจัดระบบบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์คือ เพิ่มการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือ ‘เจอ แจก จบ’ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มีนาคมนี้

 

  • ‘เจอ’ หมายถึง การตรวจ ATK พบผลบวก
  • ‘แจก’ หมายถึง แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร ได้แก่ 1. ยาฟาวิพิราเวียร์ 2. ยาฟ้าทะลายโจร 3. ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก
  • ‘จบ’ หมายถึง การที่ผู้ติดเชื้อดูแลตนเองที่บ้าน 

 

ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.เกียรติภูมิ นำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ชี้แจงสถานการณ์การระบาดของโควิด และแนวทางการรักษาผู้ป่วยแบบ OPD โดยไม่ได้กล่าวถึงชื่อ ‘เจอ แจก จบ’ อีก คาดว่าเป็นเพราะแนวทางที่ออกมาในภายหลังยังคงมีการติดตามอาการ และผู้ติดเชื้อยังต้องแยกกักตัวอยู่

 

OPD

 

การรักษาผู้ป่วยแบบ OPD เริ่มจาก ‘ผู้สงสัยติดเชื้อ’ (Suspected Cases) ตรวจ ATK ด้วยตนเอง เมื่อผลตรวจเป็นบวกจะถือว่าเป็น ‘ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย’ (Probable Case) จากนั้นโทรติดต่อสายด่วน 1330 หรือเข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่โรงพยาบาล เพื่อประเมินอาการและปัจจัยเสี่ยง* หากอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (Outpatient with Self Isolation) ได้ แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงจะเข้าระบบ HI/CI หรือ Hospitel

 

ผู้ติดเชื้อในระบบ OPD จะได้รับยารักษาตามอาการ และยาต้านไวรัสตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กล่าวคือ

  • ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือสบายดี จะไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะส่วนมากหายได้เอง แพทย์อาจจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้ตามดุลยพินิจ
  • ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มยาเร็วที่สุด หากตรวจพบเชื้อเมื่อมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน อาจไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์
  • ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง จะได้รับยาต้านไวรัส 1 ชนิด เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ 

 

เมื่อกลับไปที่บ้านยังต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ (เท่ากับระยะแพร่เชื้อ) ได้รับการโทรติดตามอาการ 1 ครั้งที่ 48 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการแย่ลงจะถือว่าได้รับการรักษาครบ แต่หากมีอาการมากขึ้นสามารถติดต่อหน่วยบริการเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลได้ ทั้งนี้การบริการที่แตกต่างจากระบบ HI คือ จะไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมินอาการ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และไม่ได้รับอาหาร 3 มื้อ (นึกถึงการรักษาโรคอาหารเป็นพิษแบบผู้ป่วยนอกข้างต้น)

 

หมายเหตุ: *ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี, โรคปอดเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.), ตับแข็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

 

ข้อดีของการรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอกคือ 

 

  1. ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตที่บ้านได้ตามปกติ คล้ายกับระบบ HI ซึ่งในทางปฏิบัติอาจออกจากบ้านได้ แต่ต้องไม่เข้าไปในชุมชน 

 

  1. เป็นการรักษาที่สอดคล้องกับแนวคิด ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่จำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการทุกวัน 

 

  1. ลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการรุนแรงในโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ รวมถึงผู้ป่วยโรคอื่นที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย

 

ส่วนข้อเสียที่ต้องวางแผนเพื่อลดผลกระทบคือ 

 

  1. ผู้ป่วยอาจไม่มั่นใจการประเมินอาการของตนเอง และบางรายอาจมีอาการแย่ลงในภายหลัง ซึ่งต้องมีระบบส่งต่อที่ดี 

 

  1. บ้านของผู้ป่วยอาจไม่มีความพร้อมในการแยกกักตัวจากสมาชิกคนอื่น และผู้ป่วยบางรายอาจเข้าไปในชุมชนจนเกิดการแพร่เชื้อต่อ 

 

  1. หากเกิดการแพร่เชื้อต่อ ถึงแม้ ‘สัดส่วน’ ผู้ป่วยอาการรุนแรงจะน้อย แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ‘จำนวน’ ผู้ป่วยหนักอาจเพิ่มขึ้นจนเกินศักยภาพได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดเข็มกระตุ้นต่ำ

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องงบประมาณที่ชมรมแพทย์ชนบทอธิบายว่า เดิมสามารถขอรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยจากงบกลางได้ แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการรักษา โรงพยาบาลจะต้องเบิกจ่ายจากงบจัดสรรรายหัวตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่กลับมีค่าชุด PPE และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาจากปกติ 

 

ผู้ติดเชื้อต้องดูแลตนเองอย่างไร

เราแทบไม่เคยเห็นเพื่อนหรือแม้แต่ตัวเราเองที่ป่วยเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ แล้วต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ยกเว้นมีประกันสุขภาพแล้วไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาลเอกชน) โควิดในปัจจุบันก็กำลังจะเป็นเช่นนั้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง นพ.สมศักดิ์ อ้างอิงข้อมูลผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พบว่ามีผู้ป่วยในระบบ HI 29,519 ราย (56.4%) CI 2,022 ราย (3.9%) และเตียงระดับ 1 ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยใน Hospitel และผู้ป่วยในบางโรงพยาบาล 18,910 ราย (36.1%)

 

ในขณะที่มีผู้ป่วยเตียงระดับ 2.1 และ 2.2 ซึ่งจำเป็นต้องใช้ออกซิเจน 1,093 และ 758 ราย (2.1% และ 1.5%) และเตียงระดับ 3 ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 77 ราย (0.15%) อย่างที่กล่าวไปว่าผู้ป่วยมากกว่า 90% เป็นผู้ป่วยสีเขียว แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของจำนวนแล้ว ผู้ป่วยเกือบ 2 พันรายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง-แดง ดังนั้นถึงแม้จะรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่บ้าน ควรแยกตัวจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หากจำเป็นต้องสวมหน้ากาอนามัย และงดเข้าไปในชุมชน

 

ผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนมักมีอาการเจ็บคอ ไข้ ไอ ซึ่งรักษาตามอาการ โดยรับประทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ ดื่มน้ำอุ่น และพักผ่อนให้เพียงพอ สังเกตอาการตนเอง โดย ‘อาการแย่ลง’ หมายถึง 

  • ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส 
  • หายใจหอบเหนื่อย 
  • วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% (อาจซื้อเทอร์โมมิเตอร์และเครื่องวัดออกซิเจนใช้เอง) หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ 
  • สำหรับผู้ป่วยเด็กคือ หายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลงให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ หากมีอาการฉุกเฉิน เช่น หมดสติ ให้โทร. 1669

 

เมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ควรใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะ ให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง และเปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

 

ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมักมีอาการดีขึ้นภายใน 5-7 วัน แต่ควรแยกตัวจนครบ 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ เมื่อครบแล้วถือว่า ‘หายป่วย’ สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นวิธี ATK หรือ RT-PCR เพราะอาจตรวจพบซากเชื้อได้ภายใน 3 เดือน

 

โดยสรุปผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าระบบ HI เพราะผู้ป่วยสีเขียวรักษาตามอาการเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่หายได้เอง ส่วนยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ แพทย์จะพิจารณาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงก่อน และจนถึงปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอ (รัฐบาลควรรีบนำเข้ายาแพ็กซ์โลวิด) ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการและแยกกักตนเองจนครบ 10 วัน หากมีอาการแย่ลงให้ติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่

 

สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA (ทั้ง Pfizer และ Moderna) ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่าสามารถลด ‘อาการรุนแรง’ ได้มากกว่า 90% ในช่วง 10 สัปดาห์แรกหลังฉีดวัคซีน ส่วนข้อมูลในไทย ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีอัตรา ‘การเสียชีวิต’ น้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดถึง 40 เท่า ดังนั้นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มนาน 3-6 เดือน ควรรีบไปฉีดวัคซีน โดยติดต่อโรงพยาบาลหรือศูนย์ฉีดวัคซีนใกล้บ้าน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising