×

คนเหนือเขื่อน กับชีวิตที่ถูกลืม

22.08.2019
  • LOADING...
ชุมชนกะเหรี่ยง

HIGHLIGHTS

  • บทความนี้เขียนขึ้นจากการลงพื้นที่จริงที่ผู้เขียนได้ร่วมทำวิจัยพลวัตชุมชนกะเหรี่ยง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  • บทความของผู้เขียนฉบับนี้มีเจตนาเพียงอยากช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน เพื่อหวังจะให้ใครสักคนได้ยินและกลับไปเหลียวแลและให้ความสำคัญกับเขาเหล่านั้น 
  • จนถึงทุกวันนี้พวกเขายังไม่ได้รับการเหลียวแล แม้เขื่อนที่สร้างเพื่อให้ผู้คนมีไฟฟ้าใช้ แต่ทว่าพวกเขาอยู่แค่เหนือเขื่อนกลับไม่มีไฟฟ้าจะใช้เสียเอง

เมื่อประมาณช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้ช่วยวิจัยพลวัตชุมชนกะเหรี่ยง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้ไปลงพื้นที่ทำวิจัยที่ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของโครงการ

 

การเดินทางไปในพื้นที่มีความลำบากพอสมควร เนื่องด้วยไม่สามารถเดินทางโดยใช้ถนนในช่วงฤดูฝน และโดยปกติชาวบ้านก็ไม่นิยมเดินทางด้วยวิธีนั้น เนื่องจากถนนที่เข้าถึงชุมชนยังคงเป็นถนนลูกรังและคดเคี้ยวไปตามแนวเขาสูงที่กั้นระหว่างเขต อำเภอสามเงา กับอำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง ดังนั้นการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้กันเป็นประจำคือ จะต้องเดินทางโดยเรือข้ามเขื่อนภูมิพลไป โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที (ในช่วงน้ำแล้ง) ไปถึงพื้นที่บ้านสันป่าป๋วย ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา และต้องนั่งรถในพื้นที่ต่อเข้าไปอีกกว่า 3 ชั่วโมงเพื่อจะเข้าไปถึงพื้นที่ชุมชน ทั้งที่เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงและชุมชนคนเมือง (คนเหนือ)

 

ชุมชนกะเหรี่ยง

 

นอกเหนือไปจากโครงการวิจัยที่เรารับผิดชอบแล้ว จุดที่น่าสนใจของที่นี่คือ พื้นที่เขต ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่มีชุมชนคนเมืองจำนวนหนึ่งที่ต้องอพยพหนีน้ำท่วม อันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนยันฮี หรือชื่อที่รู้จักกันดีในทุกวันนี้คือเขื่อนภูมิพล ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2500 อันเป็นช่วงเวลาที่พอดีกับที่ทีมของเราได้เดินทางไปในพื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงเดือนครบรอบ 62 ปีของการเริ่มสร้างเขื่อนและพระราชทานชื่อเขื่อน

 

เขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนยันฮี เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ 1 โดยได้มีการดำเนินการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 

 

ชีวิต น้ำตา ครอบครัวคนเหนือเขื่อน

เขื่อนยันฮีมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งอเนกประสงค์เพียงแห่งเดียวของประเทศไทยและอุษาคเนย์ และเป็นลำดับ 8 ของโลก โดยสร้างปิดกั้นลำน้ำแม่ปิง บริเวณช่องเขายันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก 

 

วัตถุประสงค์หลักๆ ของโครงการสร้างเขื่อนคือ 1. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า โดยเขื่อนแห่งนี้ได้ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 420,000 กิโลวัตต์ จ่ายผลิตงานไฟฟ้าไปกว่า 36 จังหวัด และ 2. เพื่อการจัดการชลประทานแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยได้กล่าวถึงความสำเร็จด้านชลประทานในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 2 ว่าสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้มากถึง 1.9 ล้านไร่ในปี 2504 และ 11.7 ล้านไร่ในปี 2509

 

แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ต่างๆ ของการสร้างเขื่อนนี้คงเป็นเพียงวาทกรรมการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาและเพื่อสนองความสุขของคนกรุงและคนใต้เขื่อนเสียมากกว่า แต่อีกด้านต้องแลกกับชีวิต น้ำตา ครอบครัว และความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากที่อยู่เหนือเขื่อน

 

ชุมชนกะเหรี่ยง

 

นอกจากกลุ่มชาวบ้านที่หนีแยกย้ายแตกกันออกไปคนละพื้นที่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังคงเหลือชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เดิม หมู่บ้านที่ผู้เขียนได้ไปพักและได้ไปพูดคุยกับชาวบ้านคือ บ้านอูมวาบ ม.1 ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก (ผู้เขียนได้ไปค้างที่สถานีอนามัยชุมชนที่นั่น 1 คืน) หมู่บ้านนี้เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่ยอมหนีออกไปนอกพื้นที่ และได้ย้ายมาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่เชิงเขาเหนือน้ำเขื่อน แต่ยังใช้ชื่อของหมู่บ้านเดิมในการตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ คือบ้านอูมวาบ ชื่อนี้มาจากปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านมักเล่ากันว่า แถบเขาบริเวณใกล้หมู่บ้านมักจะปรากฏดวงไว้สีขาวสุกใสมีแสงวูบวาบๆ ลอยออกมาประจำในวันพระวันศีล จึงได้นำเอาปรากฏการณ์ตามความเชื่อมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านคือ ‘อูมวาบ’ อันเป็นการเลียนลักษณะของดวงแสงที่ปรากฏ

 

ผ่านมาแล้ว 62 ปี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้เขียนพบเห็นคือ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ไม่ได้รับการพัฒนาใดๆ เลย แม้แต่ไฟฟ้ายังไม่มีใช้ แถมยังโดนตัดขาดจากโลกภายนอกอีก เพราะมีน้ำเขื่อนมากั้นไว้ 

 

คุณตาท่านหนึ่งอายุ 75 ปี หนีน้ำท่วมมาตอนอายุประมาณ 15-16 ปี เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นที่หมู่บ้านจะให้ไปอยู่ที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง แต่ก็ไม่มีใครไป เพราะพ่อแม่ปู่ยาตายายก็ห่วงที่ไร่ที่นา ไม่อยากจากพื้นที่ไปไหน เราเป็นเด็กอยู่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ ตอนแรกๆ หมู่บ้านที่มาตั้งมีคนเยอะ 300 กว่าหลังคาเรือน แต่ทุกวันนี้เหลือไม่ถึง 20 หลังคาเรือน เพราะลำบาก ทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้ ลูกหลานก็ออกไปทำงานต่างจังหวัด ไปอยู่เชียงใหม่ ไปอยู่กรุงเทพฯ กันบ้าง ทุกวันนี้ไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้ จะเข้าไปในเมืองก็ลำบาก เวลาป่วยหรือไม่สบายเพราะต้องนั่งเรือข้ามเขื่อนออกไป สัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่มี บางครั้งมีญาติพี่น้องบางคนเสีย กว่าลูกหลานที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดจะรู้บางทีเผาไปแล้วเป็นปีก็มี

 

ชุมชนกะเหรี่ยง

 

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เขียนได้กับคุยยายคนหนึ่งอายุ 85 ปี แกหนีน้ำท่วมมาตอนอายุประมาณ 33 ปี (นับจากอายุลูกสาวคนเล็ก เพราะปีน้ำท่วมแกคลอดลูกสาวคนนี้พอดี) คุณยายสนทนากับผู้เขียนด้วยน้ำเสียงติดตลกแต่สะท้อนความน้อยเนื้อต่ำใจ สรุปความได้ประมาณว่า เขาว่าสร้างเขื่อนจะทำไฟฟ้า แต่จนทุกวันนี้บ้านนี้ก็ยังไม่เห็นมีไฟฟ้าใช้กับเขาสักที 

 

“…เอาไร่เอานาของเราไปทำเขื่อนแท้ๆ…” 

 

“…เราก็อยากหุงข้าวด้วยหม้อหุงไฟฟ้าบ้าง…” 

 

พอคุณยายบอกกับผู้เขียนเช่นนี้ ผู้เขียนจึงถามต่อไปว่า ถ้ามันลำบากขนาดนี้ ทำไมตอนนั้นถึงไม่ย้ายออกไปข้างนอกที่รัฐเขาจัดสรรที่ไว้ให้ คุณยายตอบด้วยเหตุผลหลักๆ ก็คือ ห่วงไร่ห่วงนา ไปแล้วจะไปทำมาหากินอะไร เพราะเขาให้ครอบครัวละ 1 ไร่ ถ้าย้ายก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ไร่นาก็อยู่ที่นี่หมด ไม่พอให้ไปอยู่ใต้เขื่อนเราก็กลัวเขื่อนมันจะแตก เราก็จำเป็นต้องอยู่ที่นี่ ทำมาหากินตามเท่าที่มี เมื่อก่อนจากที่เคยทำนาข้าว ก็ต้องมาทำข้าวไร่ บางครอบครัวก็ทำแพปลา ไม่ได้อยู่บ้านอยู่เรือน ทุกวันนี้ข้าวของตัวเองยังไม่มีกิน ต้องซื้อข้าวกินเอาด้วยซ้ำ

ชุมชนกะเหรี่ยง

 

ไม่เพียงเท่านั้นในแง่ของสาธารณสุข เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยในพื้นที่ก็มีเพียงสถานีอนามัยชุมชนเพียงแห่งเดียว พี่เจ้าหน้าที่อนามัยที่ดูแลเราตอนไปขอพักที่นั่น เล่าให้ฟังว่า ยากลำบากเหมือนกันเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน มีครั้งหนึ่งเกิดอุบัติเหตุชาวบ้านในชุมชนโดนใบมีดเครื่องตัดหญ้าตัดเข้าตรงท้อง จนไส้ทะลักออกมา ชาวบ้านก็ทำอะไรกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเขาก็ไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ ขนาดจะฉีดยารักษาโรคเบื้องต้นทั่วไปเขายังไม่สามารถทำได้ ต้องส่งเรื่องไปให้หมอในโรงพยาบาลอำเภออนุมัติด้วย หากเกิดทำอะไรขึ้นมา ชาวบ้านตายเขาก็จะโดนลงโทษอีก ในกรณีอุบัติเหตุเช่นที่เล่านี้ เขาก็ทำได้มากที่สุดก็แค่ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และถือโทรศัพท์วิ่งไปถ่ายรูปแผล แล้วก็วิ่งกลับมาต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่สถานีอนามัย (เพราะมีเสาสัญญาณอยู่ที่เดียว) แล้วส่งรูปไปให้หมอที่โรงพยาบาลประจำอำเภอเพื่อพิจารณาว่าเป็นเหตุฉุกเฉินที่สมควรและคุ้มค่ากับการส่งเฮลิคอปเตอร์มารับผู้ป่วยเข้าไปรักษาในเมืองหรือไม่ 

 

ไม่เพียงเท่านั้น การพิจารณากว่าจะส่งเรื่องอะไรต่อมิอะไรก็มีความล่าช้า ในกรณีที่เกิดขึ้นชาวบ้านจึงพยายามพากันนำผู้ประสบอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาลเอง แต่สุดท้ายก็ไปเสียชีวิตระหว่างทางตอนอยู่บนเรือ

 

ชุมชนกะเหรี่ยง

 

บทเรียนชีวิตคนเหนือเขื่อนที่เห็นกับตา

จากเรื่องราวที่ผู้เขียนได้สัมผัส จากการได้ลงพื้นที่ไปเจอชาวบ้านที่หมู่บ้านเหนือเขื่อน ทำให้เห็นว่า แม้ทุกวันนี้โลกของเราจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน รัฐบาลจะมีโครงการพัฒนามากมาย โลกโซเซียล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ จะไปไกลแค่ไหน แต่ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นกลับยังคงอยู่ที่เดิมและไม่ได้รับการเหลียวแล หนำซ้ำหากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ชีวิตเขากลับถูกประเมินคุณค่าชีวิตด้วยคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าอีกด้วยซ้ำไป 

 

บทความของผู้เขียนฉบับนี้จึงมีเจตนาเพียงอยากช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน เพื่อหวังจะให้ใครสักคนได้ยินและกลับไปเหลียวแล และให้ความสำคัญกับเขาเหล่านั้น ผู้เสียสละน้ำตา ครอบครัว ชีวิต เพื่อความสุขสบายของคนกว่าครึ่งค่อนประเทศ

ชุมชนกะเหรี่ยง

 

สุดท้ายผู้เขียนขอนำบทบรรยายถึงหมู่บ้านอูมวาบของ อาจารย์พิเชฐ ผู้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ที่อาจารย์ได้เขียนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของอาจารย์ไว้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นบทบรรยายที่ผมชอบมากๆ มาให้ทุกท่านได้ลองอ่านกันดู ซึ่งถือเป็นบทบรรยายที่สะท้อนปัญหาและสะท้อนอารมณ์ความรู้ของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 

‘อูมวาบ’ หมู่บ้านที่งามหมดจดราวภาพวาดในเทพนิยาย ล่องลอยอยู่ริมสายน้ำกลางหุบเขาลึกปลายสุดทะเลสาบเขื่อนภูมิพล ทว่าท่ามกลางความงามงด ชะตากรรมผู้คนกลับล่องลอยดุจเรือนแพขึ้นลงตามระดับน้ำในทะเลสาบ ชาวบ้านคือผู้ที่ถูกเคลื่อนย้ายจากลุ่มน้ำเบื้องล่างที่ถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน ซ่อนตัวกลางหุบเขาสูงอันห่างไกลแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีความสว่างจากไฟฟ้า ทั้งที่กว่า 60 ปีแล้วที่เขื่อนได้สร้างขึ้นแลกกับผืนดินทำกินของพวกเขาเพื่อผลิตกระแสไฟและน้ำชลประทานเลี้ยงคนค่อนประเทศ

 

 

ชุมชนกะเหรี่ยง

ชาวอูมวาบและคนทั้งตำบลยังมีชีวิตอับแสงบนขุนเขาหลังความรุ่งเรืองของเขื่อนยักษ์ ความงามที่เราเห็นจึงเป็นเพียงมายาภาพของการพัฒนาและความโรแมนติกฉาบฉวย ที่ใครบางคนอาจคิดว่าที่นี่เป็นดั่งหมู่บ้านในฝัน หากแต่คนจำนวนมากยังมีชีวิตท่ามกลางฝันร้ายมาชั่วนาตาปี

 

แสงวาบแห่งขุนเขาอันเป็นที่มาของชื่อบ้าน ‘อูมวาบ’ อาจเป็นเพียงแสงวาบแห่งความปรารถนาที่ชาวบ้านวาดหวังว่าสักวันหนึ่ง… ชีวิตของพวกเขาคงได้สว่างงามขึ้นมาบ้างดังวาบฝันที่พวกเขาหวังไว้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • สัมภาษณ์ พ่อสุภา น้อยเรียน อายุ 75 ปี
  • สัมภาษณ์ แม่วันดี น้อยเรียน อายุ 72 ปี
  • สัมภาษณ์ แม่จั๋นคำ น้อยเรียน อายุ 83 ปี
  • ขอขอบคุณศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนและทีมวิจัยได้เข้ามาสัมผัสและรับรู้ถึงปัญหาชีวิตของคนในพื้นที่
  • พิเชฐ สายพันธ์, บทบรรยายสภาพชีวิตและความทุกข์ยากของชาวบ้านในหมู่บ้านอูมวาบ, ที่มา www.facebook.com/phanpichet.phan
  • สุนทร คำยอด, จาก ‘ซอนํ้าทวม’ ถึง ‘เพลงผาวิ่งชู’ สู ‘ผาซิ่นนํ้าทวม’: การต่อสู้ด้วยภาษาและอุดมการณ์ล้านนานิยม, วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2558.
  • องอาจ เดชา, เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 3), ที่มา prachatai.com/journal/2012/03/39849
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising