×

สรุป 10 ข้อเท็จจริง ‘โครงการผันน้ำยวม’ ทำไมถึงควรสร้าง [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
27.03.2023
  • LOADING...
โครงการผันน้ำยวม

‘โครงการผันน้ำยวม’ จะเดินหน้าอย่างไรในวันที่ข้อมูลบางส่วนถูกปิดบัง ยังมีข้อกังขาที่ไม่ได้รับคำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง ด้วยเม็ดเงินลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นชัดเจนกว่าผลประโยชน์ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับ จึงทำให้โครงการนี้เป็นที่จับตามองอย่างมาก

 

THE STANDARD มีโอกาสซักถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมชลประทาน ทั้งประเด็นเรื่องงบประมาณและแนวทางการเยียวยา 

 

นี่คือข้อมูลที่เคยเปิดเผยไปแล้ว และบางส่วนเพิ่งเปิดเผยที่นี่เป็นที่แรก

 

โครงการผันน้ำยวม


ทำไมต้องมีโครงการผันน้ำยวม

แม่น้ำยวมเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไหลลงสู่แม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน ที่ผ่านมาปริมาณน้ำในฤดูฝนที่ไหลลงแม่น้ำสาละวินจำนวนมหาศาลไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลหรือโครงการผันแม่น้ำยวม จึงเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล สร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปิงและลุ่มเจ้าพระยา และช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำปิง (ท้ายเขื่อนภูมิพล) และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561-2580) 

 

โครงการผันน้ำยวม

โครงการผันน้ำยวม

 

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม ประกอบด้วย 

  1. เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยวม ตั้งอยู่บนแม่น้ำยวม ในตำบลแม่วะหลวง อำเภอ ท่าสองยาง จังหวัดตาก และตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่หัวงานห่างจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 223 กิโลเมตร เป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีต ปริมาตรเก็บกักปกติ 68.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรเก็บกักใช้งาน 13.95 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าอมก๋อย และป่าท่าสองยาง
  2. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 6 เครื่อง
  3. ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ (โครงสร้างใต้ดิน) ระยะทางประมาณ 61.52 กิโลเมตร เริ่มต้นที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ และอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งเป็นอุโมงค์ดาดคอนกรีต คาดว่าจะสามารถผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพลเฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร
  4. พื้นที่ จัดการวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ (DA) จำนวน 6 พื้นที่
  5. ถนน ปรับปรุงถนนเดิมและเป็นการก่อสร้างถนนใหม่ เพื่อเข้าสู่เขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ อุโมงค์เข้า-ออก พื้นที่กองเก็บวัสดุตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ฯลฯ ทั้งหมด 8 เส้นทาง
  6. ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำ น้ำผันจากอุโมงค์ส่งน้ำจะไหลลงห้วยแม่งูด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล


งบประมาณที่แท้จริงหรือเกินจริง? 

กรมชลประทานได้แจกแจงค่าก่อสร้างโครงการ (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2566) รวมประมาณ 88,745 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าค่าใช้จ่าย ดังนี้

 

  • ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมและชดเชยทรัพย์สิน 515 ล้านบาท (0.6%)
  • ค่าก่อสร้างเขื่อนน้ำยวมและอาคารประกอบ 2,128 ล้านบาท (2%)
  • ค่าก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา 2,934 ล้านบาท (3%)
  • ค่าก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำและถังพักน้ำ 69,679 ล้านบาท (78%)
  • ค่างานปรับปรุงลำน้ำยวมและห้วยแม่งูด 238 ล้านบาท (0.3%)
  • ค่างานถนนและสะพาน 471 ล้านบาท (0.5%)
  • ค่างานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้า-เครื่องกล 12,250 ล้านบาท (15%)
  • ค่างานระบบควบคุม 530 ล้านบาท (0.6%) 

 

โครงการผันน้ำยวม

 

สามารถใช้แนวทางการแก้ปัญหาอื่นแทนโครงการผันแม่น้ำยวมได้หรือไม่ 

จากการคาดการณ์ปริมาณความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต การขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการกำหนดแผนการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง

 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ และการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก สามารถลดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น 

 

ส่วนมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างอื่น เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเพิ่มเติม ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการหาแนวทางอื่นที่มีผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อย มีความเหมาะสมในการพัฒนา ได้แก่ การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยนำน้ำจากภายนอกลุ่มน้ำมาใช้ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพัฒนาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีค่าลงทุนสูง เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ จึงมีแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ 

 

ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลที่ไม่เพียงพอในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างไร 

ตลอด 25 ปีที่กรมชลประทานเก็บข้อมูลระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2534-2558 พบว่า มีระดับน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำเพียง 3 ปีเท่านั้น คือ ปี 2545, 2549 และ 2554 ส่วนปีอื่นๆ มีปริมาณน้ำไม่เต็มอ่าง

 

ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีความจุใช้งาน 9,662 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กลับมีปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 5,626 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

 

นอกจากนี้การเติบโตของเมืองในพื้นที่ต้นน้ำของอ่าง ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำด้านเหนือน้ำของอ่างเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างลดลง 

 

ขณะเดียวกันบริเวณท้ายเขื่อนภูมิพลในลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มน้ำเจ้าพระยากลับมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในระยะยาว 

 

โครงการผันน้ำยวม

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

โครงการนี้สามารถสร้างประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกมากมาย ได้แก่ 

  1. การเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูแล้งจำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ แบ่งเป็น กำแพงเพชร 286,782 ไร่ และเจ้าพระยาใหญ่ 1,323,244 ไร่ 
  2. การผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง ลดค่าใช้จ่ายการแก้ปัญหาในน้ำเค็ม 
  3. เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี และผลิตพลังงานไฟฟ้าท้ายเขื่อนน้ำยวมได้เพิ่มขึ้น 46.02 ล้านหน่วยต่อปี
  4. สร้างอาชีพการทําประมงในอ่างเก็บน้ำ มีการเพาะพันธุ์ปลาและปล่อยปลาให้ประชาชนในพื้นที่จับปลาไปบริโภคและสร้างรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยมีพื้นที่ประมาณ 2,075 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดปี 
  5. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขยายระยะเวลาการท่องเที่ยวในพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่า ซึ่งปัจจุบันสามารถประกอบกิจการแพท่องเที่ยวเฉพาะในเดือนที่มีน้ำเท่านั้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-มกราคม แต่เมื่อมีการผันน้ำจะส่งผลให้สามารถประกอบกิจการได้ตลอดทั้งปี

 

ขณะที่บริเวณเขื่อนน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจทั้งในส่วนของชุมชนและนักท่องเที่ยว

 

ศึกษาผลกระทบก่อนดำเนินโครงการอย่างไร  

ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 – ตุลาคม 2561 กรมชลประทานลงพื้นที่เพื่อการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล พบว่า การผันน้ำด้วยอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำยวม ซึ่งเป็นสายน้ำในประเทศที่ไหลลงแม่น้ำเมย ก่อนไหลออกสู่แม่น้ำสาละวินที่ประเทศเมียนมา โดยที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร และสามารถนำกลับมาเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้ถึงปีละ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร นั้นเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำท้ายน้ำ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในการรักษาระบบนิเวศ จึงได้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา

 

รายงานดังกล่าวได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ, ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ, คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ไร้สัญชาติ และกลุ่มประชาชนในพื้นที่ โดยสอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และแนวทางต่างๆ ที่กำหนด

 

ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขรายงาน EIA ตามข้อพิจารณาและชี้แจงเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA จำนวน 4 ครั้ง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 และได้ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ซึ่งมีรายละเอียดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชน ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ได้กำหนดให้มีมาตรการป้องกันลดผลกระทบฯ ด้านต่างๆ ตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชน รวมถึงการพัฒนาด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำและอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง 

 

ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น กรณีค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเขตโครงการ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินอย่างเป็นธรรมต่อไป

 

แนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบรัฐบาลได้มีมาตรการชดเชยอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะดำเนินการทันทีเมื่อเริ่มเปิดโครงการ ทั้งเรื่องเงินเยียวยาและการส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายคนในชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม ให้ได้รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติตามแนวทางสันติวิธีหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์  

 

โครงการผันน้ำยวม


แนวทางการรับมือเรื่องผลกระทบด้านป่าไม้และระบบนิเวศ

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่สูญเสียไปอย่างน้อย 2 เท่า และกำหนดให้จัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปลา เพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ลำน้ำยวม ทั้งในบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน และมีการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ปลาเข้าใกล้สถานีสูบน้ำ เพื่อไม่ให้ปลาหลุดเข้าไปในอุโมงค์ส่งน้ำ

 

ส่วนผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง ได้มีการกำหนดพื้นที่ทิ้งวัสดุขุดให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่จัดการวัสดุต้องไม่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพชั้น 1A และ 1B ห่างจากลำน้ำสายหลักและห่างจากชุมชน

 

ความคืบหน้าของโครงการขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติเปิดโครงการ เชื่อว่าจะใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะได้ข้อตกลงที่ลงตัวกับทุกฝ่าย เพราะนี่คือเมกะโปรเจกต์ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลและเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนคนไทยที่อยู่ในพื้นที่การก่อสร้าง รวมถึงประชาชนที่จะได้ประโยชน์จากน้ำที่ผันมาทั้งด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภคในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด



หลังจากข้อตกลงเสร็จสิ้น นับจากวันที่เครื่องจักรเริ่มเดินเครื่องไปอีก 6 ปี การก่อสร้างโครงการผันน้ำยวมจึงจะแล้วเสร็จ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising