×

รักป่าต้องรักคน กะเหรี่ยงคือบรรพชนเก่าแก่ของสยาม หาใช่คนอื่นไกล

20.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • อคติความเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยง อพยพมาจากที่อื่น เป็นผู้ทำลายป่าไม้ เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรุนแรงขึ้นในช่วงสงครามเย็น กลายเป็นอะไรที่ฝังหัวคนกลุ่มหนึ่งไปแล้ว ทั้งๆ ที่มีงานเขียนงานวิจัยสมัยหลังมากมายว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นอคติ และเกิดจากวาทกรรมการพัฒนา 
  • การลดลงของป่าไม้ในประเทศไทยอย่างมหาศาลเกิดขึ้นในทศวรรษ 2500 อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ โดยการทำไร่ของ ‘ชาวเขา’ เป็นเพียงปัจจัยส่วนน้อยเท่านั้น แต่การลดลงของป่าไม้ในภาคเหนือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของธุรกิจการค้าไม้นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490
  • ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ ความไม่เข้าใจ และการใช้อำนาจของข้าราชการต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในไทยนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ในสังคมไทย ทั้งนี้เพราะขาดความรู้ทั้งทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และมานุษยวิทยา
  • ด้วยมายาคติและวาทกรรมมากมายที่หล่อหลอมทั้งในโรงเรียนและสังคม จึงทำให้ผู้คนในสังคมยังขาดความเข้าใจและมองไปว่า กะเหรี่ยงเป็นคนอื่นบ้าง กะเหรี่ยงเป็นชาวป่าบ้าง กะเหรี่ยงเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่าบ้าง แต่ความจริงแล้ว เขาคือพลเมืองของสยาม หรือพลเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์มาช้านาน และมีบทบาทไม่ต่างจากลูกเจ๊กลูกจีนลูกไทยมากมายในประเทศนี้

สืบเนื่องจากกรณีที่ ดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่ขัดขวางและ ‘ตะเพิด’ ชาวกะเหรี่ยงจาก อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ที่มายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือ เพราะได้รับความเดือดร้อนเรื่องสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่า ตามเนื้อข่าวจากมติชน (คลิปฟังได้ไม่ชัดแต่มีการไล่ด้วยเสียงดัง) ดำรงค์ได้พูดว่า “ประชาชนไม่มีหน้าที่เข้ามายื่นหนังสือภายในห้องนี้”

 

การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่งในฐานะที่ถูกเลือกมาเป็นตัวแทนของประชาชน ท่านอาจไม่เข้าใจว่า คนนั้นอยู่คู่กับป่ามาช้านาน โดยเฉพาะกะเหรี่ยงด้วยแล้ว แทบจะเป็นมรดกคู่กับผืนป่า ไม่เช่นนั้นแล้ว คณะกรรมการมรดกโลกคงไม่หยิบยกประเด็นดังกล่าวนี้ขึ้นมา ซึ่งทำให้ป่าแก่งกระจานนั้นไม่ได้เป็นมรดกโลก เพราะสะท้อนชัดถึงปัญหาการไม่เคารพสิทธิมนุษยชน  

 

การไม่เคารพสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมนี้ถือเป็นปัญหาสั่งสมในสังคมไทยมายาวนาน อันเป็นผลมาจากอคติความเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยง อพยพมาจากที่อื่น เป็นผู้ทำลายป่าไม้ วาทกรรมเช่นนี้เริ่มต้นมานานนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรุนแรงขึ้นในช่วงสงครามเย็น กลายเป็นอะไรที่ฝังหัวคนกลุ่มหนึ่งไปแล้ว ทั้งๆ ที่มีงานเขียนงานวิจัยสมัยหลังมากมายว่า ความเข้าใจดังกล่าวเป็นอคติ และเกิดจากวาทกรรมการพัฒนา 

 

ชาวกะเหรี่ยงยืนถ่ายภาพบนเขามอที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 5 (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

กะเหรี่ยงอยู่คู่มากับไทย เป็นบรรพชนดั้งเดิมของภูมิภาค

อีริค ไซเดนฟาเดน อดีตประธานสยามสมาคม ได้ให้ข้อมูลว่า กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชนดั้งเดิม อาศัยอยู่เรียงรายตามชายแดนสยาม ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน ลงไปจนถึงจังหวัดเพชรบุรี โดยสันนิษฐานว่า ชาวกะเหรี่ยงนั้น “อพยพมาจากทางเหนือสู่ดินแดนพม่า และทางภาคตะวันตกของประเทศไทย กำหนดเวลาที่พวกนี้อพยพมานั้นไม่ทราบแน่นอน แต่ต้องภายหลังการอพยพของชนตระกูลมอญ-เขมรแน่ และอาจจะก่อนที่ไทยจะอพยพมาจากทางเหนือ” (คารร์ และ ไซเดนฟาเดน 2515:104-105) โดยแหล่งที่เป็นต้นกำเนิดของกะเหรี่ยงอาจมาจากทางทิเบต จากนั้นจึงอพยพลงมาผ่านทางมณฑลกานซู และลงมาทางใต้จนถึงในเขตพม่าและสยาม (Seidenfaden 1958:125)

 

เวลานักวิชาการพูดถึงว่าอพยพมานั้นขอให้เข้าใจว่า การอพยพนั้นเกิดขึ้นมานานมาก กินเวลาหลายร้อยหรือหลักพันปี ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประเทศ และไม่มีพรมแดนรัฐชาติที่เลือกหรือกีดกันให้ใครเป็นพลเมือง ปัจจุบันนักวิชาการหลายคนในปัจจุบันเห็นพ้องว่ากะเหรี่ยงไม่ได้มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจเดินทางเข้ามาก่อนกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และไทเสียอีก บางแนวคิดเชื่อว่าอพยพมาจากลุ่มแม่น้ำเหลืองในจีน (Marshall 1922) ทะเลทรายโกบี หรือ ทิเบต (Lewis and Lewis 1984:70; Mason 1882:831) โรนัลด์ เรนาร์ด เสนอว่าชาวกะเหรี่ยงน่าจะเคลื่อนย้ายมุ่งสู่ทิศใต้ผ่านทางแม่น้ำโขง สาละวิน และอิรวดี ในลักษณะที่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมานานหลายศตวรรษ และเหตุผลสำคัญหนึ่งของการเคลื่อนย้ายก็อาจเพราะการอพยพเข้ามาของคนไทที่ผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงค่อยๆ ขยับร่นลงใต้ (Renard 1980:37–38) 

 

ในขณะที่ หลักฐานที่กล่าวถึงกะเหรี่ยงในเอกสารไทย เช่น ตำนาน พงศาวดารต่างๆ ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-18 นั้นไม่ปรากฏให้เห็น นักวิชาการเช่น ชาร์ลส์ คาย์ส และโรนัลด์ เรนาร์ด เองก็ให้ความเห็นว่านั่นอาจเป็นเพราะชาวกะเหรี่ยงที่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทนั้นมีอยู่น้อย และแทบไม่มีบทบาทมากนัก แต่หลักฐานที่กล่าวถึงกะเหรี่ยงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 นั้นปรากฏอยู่หลายชิ้น โดยเฉพาะการกล่าวถึงรัฐกะเหรี่ยง (ในรัฐกะยา) ในช่วงราว ค.ศ. 1500 

 

การขยายตัวอาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำสาละวิน และความขัดแย้งกับปยูและพม่า ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเลือกกระจายอยู่ในเขตภูเขาที่เป็นรอยต่อระหว่างรัฐใหญ่ในที่ราบ ซึ่งในพม่าปกครองโดยชาวพม่าและมอญ ส่วนในไทยปกครองโดยกลุ่มคนไท ซึ่งเซอร์เจมส์ สกอตต์ นักประวัติศาสตร์อังกฤษ เชื่อว่ากลุ่มคนไท/ไตเมื่อเข้าในพม่า-ไทยได้เบียดขับให้ชาวกะเหรี่ยงต้องค่อยๆ ขยายตัวไปเรื่อยๆ ตามแนวแม่น้ำสาละวิน และไปตามเทือกเขาถนนธงชัยตะวันตก-ตะนาวศรี (ชาร์ลส์ คาย์ส 2006)

 

สำหรับเอกสารไทย โรนัลด์ เรนาร์ด เสนอว่า กะเหรี่ยงน่าจะเริ่มปรากฏมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ดังปรากฏในเหตุการณ์การยกทัพกลับสู่อยุธยาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปี ค.ศ. 1661 หลังขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ และระหว่างทางก็ได้ผ่านเมืองตามแม่น้ำปิง หนึ่งในเมืองที่น่าจะเป็นเมืองกะเหรี่ยงคือ เมืองอินทรคีรี ซึ่งสันนิษฐานโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าเป็นเมืองแม่ระมาดในปัจจุบัน (Renard 1980:56)

 

 

ชาวกะเหรี่ยงในเขตมณฑลราชบุรี ถ่ายภาพเมื่อราวรัชกาลที่ 6 ซ้ายสุดเป็นชายชาวกะเหรี่ยง ตรงกลางเป็นหญิงสาวที่ยังบริสุทธิ์อยู่จึงใส่ชุดสีขาว ขวาสุดเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วจึงนุ่งผ้าซิ่นและใส่เสื้อสั้น (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) 

 

กะเหรี่ยงในมณฑลราชบุรีถือเป็นพลเมืองของสยาม 

ปัจจัยทางด้านการเมืองมักเป็นสาเหตุหลักของการอพยพเข้ามาของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเกิดขึ้นหลายระลอก ในหนังสือสมุดราชบุรี พิมพ์ในปี พ.ศ. 2468 ได้อธิบายถึง ‘พวกเกรี่ยง, กร่าง’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกชาวกะเหรี่ยงในเขตมณฑลราชบุรี ประกอบด้วยเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี และเมืองปราณบุรี ไว้ว่า ‘ชนพวกนี้อยู่ตามภูเขาที่ต่อแดนระหว่างพระราชอาณาจักร์สยามกับเขตต์พม่า’ และถือเป็น ‘พลเมืองพิเศษ’ พบได้ตามจังหวัดต่างๆ ในมณฑล โดยเฉพาะราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี

 

ในหัวข้อ ‘กำเนิดพวกเกรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี’ ได้อธิบายไว้ว่า ‘เกรี่ยง เมื่อแรกจะเข้ามาอยู่ในอำเภอวังกะ [อำเภอสังขละ] ประเทศสยามนั้น เดิมทีอยู่ที่บ้านเมกะวะ เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ได้ชักชวนพากันเข้ามาชั้นแรกประมาณ 100 คนเศษ มาตั้งทำมาหากินอยู่ที่ห้วยช่องกะเลียเรียกว่าบ้านทุพ่องอยู่จนทุกวันนี้ ไม่มีชาติอื่นปน เข้ามาอยู่กันเองโดยมิได้มีการบีบคั้นกดขี่จากประเทศใดไม่ ภายหลังก็มีพวกเกรี่ยงบ้านเมกะวะนั้นเองพากันยกตามเข้ามาเสมอ เที่ยวแยกย้ายกันอยู่ตามหุบห้วยหุบเขาไม่เคยถูกเกณฑ์ในการสงคราม แรกเข้ามาจนทุกวันนี้ได้ประมาณ 150 ปี ภายหลังมีพวกเกร่ยงมากขึ้น ในหัวหน้าของพวกเกรี่ยงก็พากันลงไปหาเจ้านายที่จังหวัดกาญจน์บุรี เพื่อขอตั้งให้มีเจ้านายปกครอง ตอนนี้จึงได้ตั้งพวกเกรี่ยงที่เปนหัวหน้าเจ้าเมืองเรียกว่าเมืองสังขละบุรี ชนชาติเกรี่ยงเปนเจ้าเมือง เปนที่พระยาศรีสุวรรณคีรี (ภูวะโพ่)’ 

 

 

ชาวเกรี่ยง มณฑลราชบุรี (สมุดราชบุรี 2468: ไม่ระบุเลขหน้า) ถ้าจำเสื้อผ้าไม่ผิด ชาวกะเหรี่ยงที่ถูก ส.ส. ท่านนั้นไล่ ใส่เสื้อคล้ายกับคนขวามือของภาพ 

 

 

หญิงชาวเกรี่ยง มณฑลราชบุรี (สมุดราชบุรี 2468: ไม่ระบุเลขหน้า)

 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นทางการสยามจึงกำหนดว่าทุก 3 ปี กะเหรี่ยงจะต้องลงไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่กาญจนบุรี พร้อมนำเครื่องบรรณาการ ได้แก่ ผ้าทอสีขาวและสีแดงที่ทำเอง 30 ผืน เรียกว่า ‘ผ้าเสมียนละว้า’ ดอกไม้เงิน 2 ต้น และเครื่องยาของป่าต่างๆ ไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ทำมาจนถึง พ.ศ. 2467 เมื่อเจ้าเมืองถึงความชราจึงได้ลาออก (สมุดราชบุรี 2468:23-25) 

 

ถ้าคำนวณอายุการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานของ ‘ชาวเกรี่ยง’ หรือ ‘กะเหรี่ยง’ ที่กาญจนบุรีก็จะตกอยู่ราว พ.ศ.2 318 หรือหลังการเสียกรุงครั้งที่สอง ซึ่งเป็นไปได้ว่าผลกระทบจากสงครามเสียกรุงนี้ ทำให้ทางการสยามยินดีที่มีประชากรเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จึงยกพื้นที่ดังกล่าวเป็นเมือง และตั้งชาวกะเหรี่ยงให้เป็นเจ้าเมืองด้วย ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการป้องกันชายพระราชอาณาเขตด้านทิศตะวันตก ดังเห็นได้จากช่วง พ.ศ. 2317-2336 และ พ.ศ. 2367 ได้มอบหมายให้ลาดตระเวนแนวชายแดนของเมืองราชบุรี อุ้มผาง ตาก และกาญจนบุรี (วุฒิ บุญเลิศ 2550: 34) 

 

อย่างไรก็ตาม ชาวกะเหรี่ยงในเขตเทือกเขาตะวันตกนี้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานมานานแล้วก่อน พ.ศ. 2317 เป็นแน่ อย่างน้อยคงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 โดยมีรัฐปกครองเป็นของตนเองแล้ว ซึ่งสามารถเห็นได้จากข้อมูลในจารึกสมัยพุกาม และเอกสารฝ่ายไทยสมัยหลัง (Renard 1980) 

 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ได้รับการยอมรับในฐานะ ‘พลเมือง’ ของสยามภายใต้แนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยไม่ปรากฏแนวคิดการไล่คนเหล่านี้ออกจากป่า การยอมรับดังกล่าวเห็นได้จากรัฐบาลได้ให้ความสนใจศึกษาประวัติความเป็นมา และเชิญมาเข้าร่วมเดินกระบวนแห่เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 5 ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) จัด ณ ท้องสนามหลวง แล้ว 

 

กระบวนแห่ของกลุ่มชาวเขาในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก รัชกาลที่ 5 หนึ่งในนี้มีชาวกะเหรี่ยงด้วย  (ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

 

ผู้หญิงและผู้ชายขาวกะเหรี่ยง จากการแต่งกายน่าจะเป็นปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยงสะกอ ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก รัชกาลที่ 5 (ที่มาของภาพ: Döhring 1999:114, Pl.52)

 

กะเหรี่ยงผู้ปกป้องชายแดน ประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงบนโลกออนไลน์  

ชาวกะเหรี่ยงในไทยมีความตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์ของตนเองอย่างมาก (ไม่แพ้ในพม่า) เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว คำถามสำคัญคือทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น คำตอบง่ายๆ คือ ประวัติศาสตร์ทางการในแบบเรียน หรือ ประวัติศาสตร์ชาติ นั้นไม่เคยให้พื้นที่กับประวัติศาสตร์กะเหรี่ยง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ เท่าที่ควร เพราะเน้นเรื่องไทย สถาบันกษัตริย์ และทหารเป็นแกน เรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์นี้สำคัญต่อสังคมไทย เพราะนำไปสู่การมีตัวตนและศักดิ์ศรีของความเป็นพลเมือง

 

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชนที่มีบทบาทอย่างสูงในระบบการค้าของป่ากับรัฐในที่ราบ และมีบทบาทสูงต่อการเมืองระหว่างรัฐใหญ่คือ ไทย-พม่า ดังนั้น ในเมื่อไม่มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ จึงมักเห็นการเขียนประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงในเหตุการณ์สงครามอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งข้อมูลจากพงศาวดารและจากประวัติศาสตร์บอกเล่า ตัวอย่างที่สำคัญคือ ในสงครามเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชล้อมเมืองตองอู ได้มีชาวกะเหรี่ยงไปร่วมรบด้วย โดยมีขุนนางผู้หนึ่งชื่อว่า ‘สิน ภูมิโลกาเพชร’ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชาวกะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังมีตำนานต่อไปด้วยว่า ตอนที่กองทัพพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกกลับมา ชาวกะเหรี่ยงได้เตรียมข้าวไว้ให้ โดยสีข้าวไว้สามกอง ไว้ยังด่านแม่ละเมา ด่านพระเจดีย์สามองค์ และด่านสิงขร ตำนานดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเคารพบูชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นอย่างยิ่ง 

 

ในระดับท้องถิ่นเอง ถ้าใครเคยผ่านถนนเส้นจากตากไปแม่สอด จะพบศาลอยู่หลังหนึ่ง นั่นคือศาลพระวอ ซึ่งตามตำนานระบุว่า เจ้าพ่อพะวอเป็นชายชาตินักรบชาวกะเหรี่ยง ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแต่งตั้งให้มีศักดิ์ฐานะเป็นนายด่านแม่ละเมา เมืองหน้าด่านของไทย ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน คอยดูแลรักษาหาข่าวแจ้งเหตุ เมื่อมีเหตุหรือข้าศึกศัตรูรุกล้ำแดนมา” (มูลนิธิเจ้าพ่อพระวอ, 2544) ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2318 พม่าได้ยกกองทัพมา พระวอได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญด้วยกำลังเพียง ‘หยิบมือเดียว’ ซึ่งส่งผลให้พระวอตายในสนามรบ พระวอเป็นผู้ที่มีบารมีมาก และข้ามพรมแดนรัฐชาติ ดังเห็นได้จากในเขตเมียวดีเองก็มีการสร้างศาลและรูปเคารพของพระวอไว้เช่นกัน 

 

 

โรงเรียนแห่งหนึ่งกำลังแสดงละครประวัติศาสตร์ไทยที่มีชาวกะเหรี่ยงเป็นตัวแสดงสำคัญ (สองคนขวามือ)

(อ้างอิง: เราคือกะเหรี่ยง “V R KAREN” / Facebook)

 

ป่าไม้หายไปเพราะรัฐ และนายทุนจากพื้นราบ

เป็นเรื่องอยุติธรรมสำหรับ ปู่คออี้ ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน ซึ่งท่านเกิดก่อนประมวลกฎหมายที่ดินถึง 43 ปี แต่กลับไม่มีสิทธิอยู่ในป่า ดังคำพูดของปู่คออี้ที่ว่า “ฉันลืมตามาป่าก็อยู่ตรงนั้น น้ำนมหยดแรกที่ฉันดื่มก็อยู่ตรงนั้น” (จากไทยพีบีเอส) หากวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาเรื่องปู่คออี้นั้นจะพบว่า เกิดจากความไม่เข้าใจและขาดความรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถือว่าพื้นที่ป่าเป็นสมบัติของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิที่ดินตามจารีตดั้งเดิมที่มีมาก่อนกฎหมาย 

 

อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาของแนวคิดการนิยามการทำลายป่าไม้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ด้านนิเวศวิทยา และวนศาสตร์ ที่เกิดขึ้นนับจากทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้นิยามความหมายของป่าไม้ในลักษณะใหม่คือ การมองป่าไม้ในฐานะของการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ราบ และสร้างนิยามของป่าไม้ให้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งเพิ่มเติมมาจากเดิมที่มองว่าป่าไม้มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก ปัจจัยนี้เองที่มีส่วนสร้างภาพลักษณ์ให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า  

 

ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้ทำลายป่าไม้จริงมากน้อยแค่ไหนนั้น ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะพบว่า ความคิดดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นอย่างจริงจังในสมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันประเทศไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ถูกนำมาใช้อย่างมหาศาล รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น ทำให้ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากจะถูกนิยามให้มีความหมายถึงการเป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติหรือคนไทยทุกคนแล้ว แต่ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ รู้จักใช้ ใช้อย่างคุ้มค่า และต้องรู้จักการสงวนรักษาอย่างถูกต้อง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ให้คำขวัญว่า “ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญยิ่ง สำหรับชีวิตของชาวไทย และการคงอยู่ของประเทศไทย ผู้ใดทำลายป่า ผู้นั้นเป็นศัตรูบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศไทย” (อ้างตาม อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2545:25-31) แต่คำพูดดังกล่าวก็ดูเป็นเรื่องตลก เพราะรัฐและนายทุนกลับเป็นผู้บุกรุกป่าเสียเอง 

 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ ได้กล่าวว่า การลดลงของป่าไม้ในประเทศไทยอย่างมหาศาลเกิดขึ้นในทศวรรษ 2500 อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ โดยการทำไร่ของ ‘ชาวเขา’ เป็นเพียงปัจจัยส่วนน้อยเท่านั้น แต่การลดลงของป่าไม้ในภาคเหนือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของธุรกิจการค้าไม้นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เนื่องจากมีอุปสงค์สูงมาก ดังเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของโรงงานไม้อัด โรงงานไม้ขีด โรงงานเยื่อกระดาษ และโรงงานกระดาษ เป็นต้น ดังนั้น พ่อค้าไม้ถือว่ามีบทบาทสูงต่อการชักชวนให้ชาวไร่บุกเบิกตัดไม้ในเขตป่า ในทศวรรษ 2510 จากชาวไร่ที่ช่วยตัดไม้ก็ได้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจโรงเลื่อยเล็กๆ 

 

นอกเหนือจากวิธีการข้างต้นแล้ว รัฐบาลได้อนุญาตให้เอกชนทำสัมปทานตัดไม้ในป่าได้เป็นเวลา 30 ปี โดยมีข้อแม้ว่าบริษัทที่ได้สัมปทานป่าไม้จะต้องปลูกป่าทดแทน แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เคยเป็นไปตามที่ตกลง แถมยังใช้พื้นที่ป่าที่ถูกตัดไปแล้วทำเป็นไร่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ในไม่ช้าพื้นที่ป่าในภาคเหนือที่เคยมี 67.8 ล้านไร่เมื่อ พ.ศ. 2504 ก็ลดลงเหลือเพียง 48.1 ล้านไร่ใน พ.ศ. 2531 นอกจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจการทำไม้ที่เป็นสาเหตุหลักแล้ว ในทศวรรษ 2500 ยังพบด้วยว่าผลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจนี้เองได้มีการขยายตัวของพื้นที่นาในภาคกลางที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การบุกรุกผืนป่าในที่ราบ 

 

นอกจากนี้แล้ว จากทศวรรษ 2500 การตัดไม้ในพื้นที่ป่าเขายังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากกองทัพไทย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้พื้นที่ป่าเขาเป็นฐานตั้งมั่นเพื่อต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลจึงมีนโยบายตัดถนนเข้าไปยังพื้นที่ป่า และส่งเสริมให้ชาวนาตั้งที่ทำกินทั้งสองข้างทางที่ถนนตัดผ่าน (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, 2539: 104-107) 

 

ด้วยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องป่า และการเข้ามาของรัฐและนายทุนนี้เองที่ทำให้ชาวเขามักตกเป็นจำเลยเรื่องการทำลายป่า โดยมักมีข้อกล่าวหาหนึ่งว่า กะเหรี่ยงเป็นผู้ที่ทำไร่เลื่อยลอย จึงทำให้ป่าไม้หายไปเป็นจำนวนมาก ความเข้าใจดังกล่าวถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะระบบการทำไร่ของกะเหรี่ยงนั้นเป็นระบบการทำไร่แบบหมุนเวียน คือจะมีการขยับสลับไร่หมุนเวียนกลับมาทำซ้ำในพื้นที่เดิม ไม่ใช่ถางป่าเผาป่าไปเรื่อยๆ อย่างที่เข้าใจกัน สาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะเมื่อทำไร่ผ่านไปได้ 2-4 ปี ดินก็จะไม่อุดมสมบูรณ์อีก ต่างจากการเพาะปลูกในพื้นที่ราบ ดังนั้น จึงต้องปล่อยให้ไร่ฟื้นตัวเป็นป่า ผ่านไปอีกหลายปีจึงวนกลับมาปลูกซ้ำในที่เดิม จึงไม่ได้เป็นการทำลายป่าตามที่เข้าใจกัน (ลองหางานของ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อ่านนะครับ) 

 

แต่ผลจากการมีความรู้อันผิวเผินต่อระบบการทำไร่บนพื้นที่สูง ผลคือทำให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและใช้วิธีการต่างๆ มากมายเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเขาทำลายป่าไม้อีก โดยมี 2 วิธี วิธีแรกคือ การปลูกฝังความคิดในเรื่องการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่ากับความสำนึกเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ (สมบัติของชาติ) ลงไปในแบบเรียน ซึ่งก็ยังพบว่าเป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้ 

 

และวิธีที่สองคือ การใช้ปฏิบัติการที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือการอพยพโยกย้ายชาวเขาออกจากพื้นที่ป่า ซึ่งนโยบายนี้เริ่มขึ้นมาเมื่อทศวรรษ 2500 ดังเห็นได้จากการอพยพชาวเขาลงมายังนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาหลายแห่ง เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ มองว่า รูปแบบการทำเกษตรกรรมของชาวเขานั้น ‘ขัดขวางความเจริญ’ เพราะทำให้ต้องโยกย้าย ร่อนเร่ไปหาที่ดินทำการเพาะปลูกใหม่ ‘ทำให้ไม่สามารถตั้งรกรากที่แน่นอนได้ การร่อนเร่เพื่อตั้งรกรากทำกินในแต่ละครั้งก็จะต้องหักล้างถางป่าเป็นจำนวนมากอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรของชาติ’ (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ, 2518:47)

 

สรุป

ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ ความไม่เข้าใจ และการใช้อำนาจของข้าราชการต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในไทยนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ในสังคมไทย ทั้งนี้เพราะขาดความรู้ทั้งทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาอีกมาก โดยเฉพาะวิชาหลังนี้ซึ่งไม่มีการสอนในระดับมัธยมศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นวิชาที่จะช่วยให้มนุษย์มองคนอย่างเสมอภาค และเคารพความหลากหลาย จึงน่าจะมีการปรับปรุงวิชานี้ในอนาคต โดยลดเนื้อหาส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะแนวประวัติศาสตร์ชาติแบบเดิมๆ ที่เรียนเรื่องของชนชั้นสูง แต่มองไม่เห็นชีวิตของชนชั้นล่าง

แต่ด้วยมายาคติและวาทกรรมมากมายตามที่กล่าวที่หล่อหลอมทั้งในโรงเรียนและสังคม จึงทำให้ผู้คนในสังคมยังขาดความเข้าใจและมองไปว่า กะเหรี่ยงเป็นคนอื่นบ้าง กะเหรี่ยงเป็นชาวป่าบ้าง กะเหรี่ยงเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่าบ้าง แต่ความจริงแล้ว เขาคือพลเมืองของสยาม หรือพลเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์มาช้านาน และมีบทบาทไม่ต่างจากลูกเจ๊กลูกจีนลูกไทยมากมายในประเทศนี้

 

ถึงห้องประชุมนั้นจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าก็ตาม แต่ก็ไม่ควรไล่พวกเขาแบบนั้น เพราะนั่นสะท้อนถึงการใช้อำนาจต่อประชาชน ถ้าจะรักษ์ป่า ต้องรักประชาชนด้วยครับ เพราะประชาชนไม่ได้เลือกคุณเพื่อเป็นผู้แทนของต้นไม้และสัตว์ป่า

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • Lewis and Elaine Lewis. 1984. Peoples of the Golden Triangle: Six Tribes in Thailand. London: Thames and Hudson,.
  • Marshall, Harry Ignatius. 1922. The Karen People of Burma: A Study in Anthropology and Ethnology. The Ohio State University Bulletin; Columbus (USA): The University,.
  • Mason, Francis. 1882. “Burma, Its People and Productions: Or, Notes on the Fauna, Flora and Minerals of Tenasserim, Pegu and Burma.” 1882.
  • Renard, Ronald D. 1980. “Kariang: History of Karen-T’ai Relations from the Beginnings to 1923.” PhD Dissertation: University of Hawai’i.
  • Seidenfaden, Erik. 1958. The Thai Peoples, Book I, The Origins and Habitats of the Thai Peoples with a Sketch of their Material and Spiritual Culture. Bangkok: The Siam Society. 
  • คารร์, เอ, นายแพทย์ และ ไซเดนฟาเดน, อี, พันตรี. 2515. ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย.  ใน ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
  • ชาร์ลส์ คาย์ส. 2006. กะเหรี่ยงในประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในประเทศไทย, แปลโดย คมลักษณ์ ไชยยะ. จาก: https://sopa2006.wordpress.com/ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2559].
  • ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์. 2539. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ.  เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซิลค์วอร์ม บุ๊ค, 2539.
  • มติชน. ‘วิโรจน์’ ปล่อยคลิปแฉ ‘ดำรงค์’ ตะเพิดกะเหรี่ยง กลางสภา น้ำตาร่วง แค่มาขอความช่วยเหลือ. Available at: www.matichon.co.th/politics/news_2045893
  • ไม่ทราบนามผู้แต่ง. 2468. สมุดราชบุรี. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
  • วุฒิ บุญเลิศ. 2550. ‘การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กรณีศึกษากะเหรี่ยงสวนผึ้ง,’ รวมบทความกะเหรี่ยงราชบุรี. ราชบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี, น. 30-38. 
  • สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ. 2518. ชาวเขาเผ่ามูเซอ. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ.
  • อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. 2545. นิเวศประวัติศาสตร์: พรมแดนความรู้. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising