×

คำนูณ ชงนายกฯ เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ไม่นับรวมคดีคอร์รัปชัน

15.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (15 กรกฎาคม) คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายระหว่างการประชุม ส.ว. เพื่อรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติปี 2562

 

คำนูณได้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรม การทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมือง หรือทำผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น โดยมีหลักการเบื้องต้น อาทิ 

 

  1. นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมการเมืองโดยตรง 
  2. นิรโทษกรรมเบื้องต้นเฉพาะผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
  3. ใครยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือหนีคดีไปนั้น ถ้ากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณา ที่จะออกแบบตั้งขึ้นมา ย่อมได้สิทธิ์นี้
  4. อาจจะต้องตีความนิยามการชุมนุมทางการเมืองผ่านการออกแบบจากคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมา

 

คำนูณให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ THE STANDARD ว่า ตนเสนอเป็นเบื้องต้น คือหลักการที่เสนอไปถึงนายกรัฐมนตรี ให้ประกาศเป็นเจตจำนงว่าจะดำเนินการตามหลักการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถ้าจะนิรโทษกรรมให้กับทั้งผู้ที่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและผู้ที่หลบหนีคดีทั้งหมดเลยก็จะไม่เป็นธรรม แต่ถ้าจะไปตัดสิทธิ์ผู้ที่หนีคดีไปเลยก็ไม่ถูกต้อง

 

หลักการคือ ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือหนีคดีนั้น เราเปิดโอกาสให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ท่านมีโอกาสจะได้สิทธิ์ และการได้สิทธิ์จะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป รวมถึงคณะกรรมการชุดนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่า ‘การนิรโทษกรรมในความผิดที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง’ แค่ไหน อย่างไร ถึงจะเข้าข่ายและได้สิทธิ์

 

เมื่อถามว่า นี่คือการฟื้นนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมาใช่หรือไม่

 

คำนูณกล่าวว่า แตกต่างกันเยอะ เพราะว่าถ้าเราย้อนไปดูร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย เหมะ ไม่มีใครค้านในหลักการการนิรโทษคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุม โดยไม่รวมคดีที่เกิดจากการคอร์รัปชัน แต่มันเกิดเรื่องขึ้นในขั้นแปรญัตติ เมื่อ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ มีการแปรญัตติแก้ไขขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมไปถึงผู้ที่ถูกตัดสินโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารปี 2549 และสภาก็ไปรับร่างกฎหมายที่มีการแปรญัตตินั้น ซึ่งผิดจากหลักการเดิมไปมาก แต่ข้อเสนอนิรโทษกรรมนี้ไม่ใช่เป็นการฟื้นตัวตรงนั้น 

 

เมื่อถามว่าหลักการนิรโทษกรรมนี้จะไม่รวมคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช่หรือไม่

 

คำนูณกล่าวว่า ไม่อยากพูดถึงตัวบุคคล แต่โดยหลักการก็คือการนิรโทษกรรมเหตุที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมือง หรือเกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง แต่ถ้าเป็นกรณีคอร์รัปชัน ตนว่าไม่ใช่ โดยหลักการที่เป็นที่ยอมรับกันคือไม่รวมคดีคอร์รัปชันและคดีอาชญากรรมรุนแรง เช่น การใช้อาวุธสงคราม

 

“การชุมนุมทางการเมืองคือการออกมาต่อสู้ในสิ่งที่คนผู้นั้นเชื่อว่าถูกต้อง แต่ในที่สุดต้องติดคดีความ รวมทั้งคดีแพ่งถูกยึดทรัพย์ ซึ่งบุคคลทุกสีทุกฝ่ายที่ต้องประสบชะตากรรมเหล่านี้ ท่านไม่ได้มีจิตที่จะประกอบอาชญากรรม แต่ทำเพราะความเชื่อทางการเมือง ไม่ควรมีใครที่จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างยืดเยื้อยาวนานเพราะมีความคิดความเชื่อทางการเมือง เพราะว่าการกระทำที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเราต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง มันก็เกิดการกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น ใน 15 ปีที่ผ่านมา คณะทหารได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในปี 2549 และ 2557 ท่านก็ได้รับนิรโทษกรรมไปแล้ว เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมประชาชนกลุ่มอื่นที่เหลือตนว่าน่าจะต้องกระทำ ถ้าเราหวังจะรวมไทยสร้างชาติอย่างที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งความหวังไว้” คำนูณกล่าว

 

คำนูณกล่าวด้วยว่า คนที่จะทำสำเร็จได้ในยุคนี้คือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดคือนายกรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติประเภทที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ ม.270 ซึ่งจะเป็นการพิจารณาร่วมกันของที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ซึ่งจะมีตัวแทนทางความคิดของทุกฝ่ายเข้าร่วมพิจารณา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising