×

นิกรเผย อนุ กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมสรุป 25 ฐานความผิดเข้าเกณฑ์ ก่อนส่งไม้ต่อให้อนุ กมธ. อีกชุดลงรายละเอียด

โดย THE STANDARD TEAM
17.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แถลงข่าวผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ

 

โดยประเด็นแรกคือนิยามของ ‘แรงจูงใจทางการเมือง’ มีความสำคัญเพราะเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาการกระทำความผิด ฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรม ซึ่งแรงจูงใจทางการเมืองมีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองหรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

 

สำหรับข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม นิกรระบุว่า จะใช้ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจนพอสมควร และได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว ต่างจากหน่วยงานอื่นที่ขอไป ซึ่งยังขาดความชัดเจนเพียงพอต่อการนำมาใช้ประกอบเป็นข้อมูลสถิตินำเสนอ ทั้งนี้ยังสมควรต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดมาประกอบการพิจารณาด้วย

 

ส่วนฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรม คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาข้อมูลฐานความผิด โดยนำบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา พ.ศ. …. (คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรมในคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557) ที่กำหนดความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จำนวน 15 ฐานความผิดมาเป็นหลักในการพิจารณา

 

โดยพิจารณาร่วมกับบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสันติสุข พ.ศ. …. (พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ) กับฐานคดีความผิดทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาเพิ่มในฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีก 6 ฐานความผิด เป็น 15 ฐานความผิด

 

และเพิ่มกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมืองอีก 8 ฉบับ จากเดิม 17 ฉบับ รวมทั้งหมดเป็น 25 ฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2567

 

คณะอนุกรรมการฯ ยังรวมฐานความผิดจากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญคือ

 

4.1 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พ.ศ. 2548-2551

 

4.2 การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ศ. 2550-2553 (รวมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ นปก.)

 

4.3 การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พ.ศ. 2556-2557

 

4.4 การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ตั้งแต่
พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 ในการศึกษาเดิมของหลายคณะที่ผ่านมา ได้ยกเว้นเรื่องมาตรา 112 ไว้ทั้งหมด เพราะเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ จึงไม่ได้รวมไว้ และจากการรับฟังความเห็นโดยทั่วไป ก็ยังเห็นว่ามาตรา 110 และ 112 ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่

 

นิกรยังหยิบยกประเด็นการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 นั้น คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าเพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ควรใช้การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 กับคดีที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนก่อนที่จะมีกฎหมายนิรโทษกรรม

 

ขณะที่ข้อมูลความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งจะเห็นว่า จากข้อมูลสถิติในช่วง พ.ศ. 2563-2567 จะมีคดีประมาณ 73,009 คดี เหตุที่มีคดีเป็นจำนวนมากเพราะเป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงควรนำเรื่องการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมาบังคับใช้

 

เช่นเดียวกับความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องนี้พบว่ามีข้อมูลสถิติเป็นจำนวนมาก จึงควรแยกส่วนการพิจารณาเป็นการเฉพาะเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการพิจารณาในภาพรวม และยังอาจนำการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมาบังคับใช้ในส่วนนี้ด้วย

 

สำหรับระยะเวลาในการนิรโทษกรรมนั้น คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาควรพิจารณาจากเหตุการณ์ชุมนุมครั้งสำคัญคือช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน

 

โดยขั้นตอนต่อไปของรายงานฉบับนี้คือ จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้พิจารณาในวันที่ 18 เมษายน 2567

 

นิกรยังเผยว่า พรุ่งนี้จะมีการเสนอตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ อีกชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาจำแนกเรื่องข้อมูลสถิติ รวมถึงข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมาธิการที่พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่ 25 ฐานความผิดเป็นหลักว่าจะรวมฐานความผิดใดบ้าง รวมถึงมาตรา 110 และ 112 หรือไม่ เพื่อจัดทำรายงานให้คณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ลงมติ โดยจะมี รศ.ยุทธพร อิสรชัย เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว

 

นิกรเชื่อว่าเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา กรรมาธิการฯ ชุดใหญ่จะสามารถทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เลย ก่อนจะเสนอไปยังรัฐบาล แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่ารวมฐานความผิดใดบ้าง และกรรมาธิการจะยกร่างเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือไม่ หรือเพียงแค่กำหนดกรอบ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising