ลองคิดดูว่าจะดีสักแค่ไหน หากคุณสามารถหาซื้อสินค้าท้องถิ่นจากตำบลเล็กๆ ของจังหวัดที่ไม่ได้เด่นดัง หรือวัตถุดิบสดใหม่หรือของแห้งต่างๆ จากแหล่งผู้ผลิตที่ดีที่สุดในเมืองไทยได้จากห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ในราคาที่ไม่ได้บวกเพิ่มจนต้องคิดหนักเมื่อต้องจ่ายตังค์
เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันของคนกรุงผู้แสวงหาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มากกว่าการจับจ่ายใช้สอยไปกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผลผลิตในบ้านเรากินอย่างไรก็สัมผัสได้ว่าสดใหม่กว่าวัตถุดิบนำเข้า ทั้งยังเป็นผลผลิตที่ออกตามฤดูกาล ไม่ผิดสีผิดรูป แต่ปัญหาคือการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเหล่านั้นไม่ได้ง่ายสำหรับลูกค้าบางกลุ่มที่ใช้ชีวิตในเมืองกรุง เวลาซื้อของสดเข้าบ้าน ถ้าไม่ได้แวะตลาดนัดแถวบ้าน ก็ต้องเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าที่มีตัวเลือกคล้ายคลึงกันไปหมด มันเลยไม่ใช่ว่าเราไม่ได้อยากบริโภคของดี หรือยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ แต่กลับกลายเป็นว่าวัตถุดิบดีๆ เหล่านั้นช่างหาได้ยากเย็นในชีวิตประจำวัน
สำรับอาหารหน้าฝนที่รังสรรค์ขึ้นโดยเชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุววณ จาก Blackitch Artisan Kitchen ซึ่งใช้วัตถุดิบไทยร้อยเปอร์เซ็นต์
ล่าสุดผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมรับฟังแนวคิดที่เปลี่ยนจาก CSR (Corporate Social Responsibitity) สู่ CSV (Creating Shared Values) ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เริ่มขยับปรับเปลี่ยนมาสักพักใหญ่แล้ว สอดคล้องกับเป้าหมายและความตั้งใจขององค์การสหประชาชาติ ที่มีมติในสมัชชาใหญ่ว่าทุกประเทศในโลก ควรร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาโลกให้ไปในทิศทางที่ยั่งยืน
หนึ่งในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้แก่ โครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)’ ที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้คนในองค์กรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการลงมือทำในเชิงคุณภาพ มอบความรู้และยกระดับกลุ่มผู้ผลิตท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้เติบโตทันตลาดโลก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า เพราะจากนี้ไป Tops Market ทุกสาขาจะมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากตำบลเล็กๆ หรือหมู่บ้านที่ไม่มีใครรู้จักชื่อ วางจำหน่ายควบคู่กับสินค้านำเข้าอื่นๆ
จากท้องถิ่นสู่คนเมืองเพียงอึดใจเดียว
ในวันเดียวกันนั้นเองที่เราพอได้เห็นตัวอย่างสินค้าที่จะถูกนำไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตห้างดัง พบว่าหลายอย่างมีความน่าสนใจทั้งในแง่การส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับท้องถิ่น การแปรรูปถนอมอาหารมาตรฐาน การแต่งแต้มหน้าตาแพ็กเกจจิ้งของสินค้าให้ทันสมัย น่าจับจองเป็นเจ้าของ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้บางประเภทที่ทีมดีไซเนอร์ได้เข้าไปช่วยออกแบบให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น
เราได้เห็นผักปลอดภัยภูทับเบิก น้ำดุกใต้ น้ำหนาว และศรีเทพ จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ผักงามและสดมากถึงมากที่สุด และไข่ไก่จากโรงเรือนเพาะเลี้ยงไก่ ที่เลี้ยงโดยเด็กๆ ในโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งมั่นใจได้ว่าเป็นแม่ไก่อารมณ์ดีแน่นอน
รวมถึงกลิ่นหอมๆ ที่ลอยทะลุมาจากถุงของเมล็ดกาแฟภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย ที่คงเอกลักษณ์ของเมล็ดกาแฟไทยได้คุณภาพ
ผักใบกรอบ ซึ่งเป็นผลผลิตจากสหกรณ์กสิกรรมผักไร้สารพิษ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดพิษณุโลก หรือข้าวสังข์หยด เมืองพัทลุง ซึ่งเป็นข้าวสายพันธ์ุเฉพาะถิ่นของจังหวัดพัทลุง มีตำนานกว่า 100 ปี และหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปถนอมอาหารอย่าง หมี่กรอบสมุนไพร จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม้บ้านมะขามทอง จังหวัดกาญจนบุรี
นอกจากของสดแล้วยังมีผ้าไทยที่ได้มาจากพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง ซึ่งสืบทอดงานฝีมือมากว่า 3 ช่วงชีวิต เอกลักษณ์เด่นอยู่ที่ผ้าห่มยกดอกที่มีโครงสร้างของผืนผ้าและลวดลายที่สวยงาม
ในอนาคตเราจะมีโอกาสได้เห็นตลาดสินค้าชุมชนรูปแบบใหม่ที่เน้นขายของสด สะอาด ปลอดภัย ในห้างสรรพสินค้า ภายใต้ชื่อ Jing Jai Farmer’s Market ที่จังหวัดเชียงใหม่นำร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือ Good Goods แบรนด์คัดสรรที่ผลิตและคัดเลือกสินค้าคุณภาพดีจากชุมชนสู่มือผู้บริโภค ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่กำลังจะยกพลขึ้นห้างในไม่ช้า เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เลือกสรรผลิตภัณฑ์ไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ต้องดั้นด้นไปไกล เพราะอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียวเอง
Jing Jai Farmer’s Market
ภาพประกอบ: Tanya S.
ภาพ: Courtesy of Brand
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์