×

17 ปีแห่งความหลัง เมื่อออสเตรเลียเผชิญโรคระบาดในไร่องุ่นครั้งแรก พวกเขาแก้ไขปัญหากันอย่างไร

19.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ประเทศออสเตรเลียขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดของการนำของติดตัวเข้าประเทศ  เพราะประเทศเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่แตกต่างจากทวีปอื่นๆ จึงเข้มงวดเพื่อเป็นการป้องกันการนำเชื้อโรค โดยเฉพาะโรคภัยในพืชและแมลงเข้ามาระบาดในประเทศ
  • เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ไร่องุ่นของออสเตรเลียต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดที่ชื่อว่า ‘โรคราสนิม’ (Grapevine Leaf Rust) เป็นครั้งแรก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ชานหลังบ้านหลังหนึ่งในเมืองดาร์วิน (Darwin) ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย
  • ก่อนที่โรคดังกล่าวจะแพร่กระจายไปสู่แหล่งปลูกองุ่นอื่นๆ ในประเทศทั้งทางใต้และทางตะวันตก ผู้ตรวจการจากกรมการเกษตรกรรมนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี เข้าไปตรวจสอบไร่องุ่นในบ้านกว่า 30,000 หลัง และมีไร่ที่ต้องกำจัดทิ้งทันทีราว 3,000 แห่ง

สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์อย่างเราๆ จะสามารถจินตนาการถึงเกี่ยวกับเรื่อง ‘โรคระบาด’ คือสถานการณ์แบบไหน คุณอาจจะนึกถึงการกลายพันธุ์ของมนุษย์อย่างในหนังเรื่อง World War Z (2013) หรืออาจจะเป็นหนังที่ทำให้ลมพัดผ่านร่างกายเป็นเรื่องน่ากลัวอย่าง The Happening (2008) ผลงานการกำกับของ เอ็ม. ไนต์ ชยามาลาน ที่พูดถึงเรื่องสารเคมีที่ก่อตัวในต้นไม้ที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างรวดเร็ว เราเองไม่เคยได้พบเจอกับสถานการณ์เช่นนั้นในชีวิตจริงกันหรอก เพราะมันเป็นหนังยังไงล่ะ! แต่หากเราพูดถึง ‘โรคระบาด’ ในพันธุ์พืชทั้งหลายคงดูใกล้ตัวขึ้นมาอีกนิด อย่างน้อยก็อาจเป็นต้นไม้หลังบ้านสักต้นที่ใบร่วงเกลื่อนพื้น และแห้งเฉาผิดปกติ หรือข่าวจอตู้ที่รายงานเรื่องโรคระบาดทางการเกษตรที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรและเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง

 

แต่บนโลกใบนี้มี ‘การระบาด’ ที่เกิดขึ้นในพันธุ์พืชครั้งหนึ่งที่ THE STANDARD อยากจะพาคุณขึ้นไทม์แมชชีนย้อนกลับไปสำรวจเหตุการณ์ดังกล่าวในปีคริสต์ศักราช 2001 ปีเดียวกันกับที่วง Destiny’s Child ปล่อยเพลง ‘Survivor’ ออกมา แต่กลับมีบางอย่างที่อาจจะไม่ Keep on survivin’ เหมือนในเพลงของพวกเธอ

 

บางอย่างที่ว่าคือการเกิดโรคระบาดที่ชื่อ ‘โรคราสนิม’ ในไร่องุ่นทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย เหตุการณ์ดังกล่าวเกือบจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมไวน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกให้เหี่ยวเฉาตาย แต่ถึงแม้ออสเตรเลียเองจะไม่เคยเผชิญกับโรคเช่นนี้มาก่อน แต่พวกเขากลับจัดการกับเรื่องราวนี้อย่างทันท่วงที แต่แล้วพวกเขาทำอย่างไร?

 

Photo: giphy.com

 

สิ่งหนึ่งที่คุณหรือใครก็ตามที่เคยเดินทางเข้าออสเตรเลียต้องเคยทราบมาบ้าง นั่นคือเรื่องความเข้มงวดของการนำของติดตัวเข้าประเทศ โดยไม่สามารถนำขนสัตว์ สัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ วัสดุจากพืช รวมไปถึงเปลือกไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเปลือกไม้ หรือแม้แต่ผลไม้และผักทุกชนิดทั้งสดและแช่แข็ง เหตุผลที่ทางการค่อนข้างเข้มงวดกับเรื่องนี้ ก็เพราะประเทศเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่แตกต่างจากทวีปอื่นๆ อย่างมาก มีพืช สัตว์ และธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นหากมีสิ่งแปลกปลอมที่อาจจะเข้ามาทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป คงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกแน่ ซึ่งความเข้มงวดนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันการนำเชื้อโรค โดยเฉพาะโรคภัยในพืชและแมลงเข้ามาระบาดในประเทศ อีกทั้งยังเพื่อเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมของประเทศให้คงเดิม

 

แต่ถึงแม้จะเข้มงวดแค่ไหน เรากลับพบว่าหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศออสเตรเลียเองก็ยังเคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพราะเมื่อ 17 ปีที่แล้วนั้นไร่องุ่นของประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดที่ชื่อว่า ‘โรคราสนิม’ (Grapevine Leaf Rust) เป็นครั้งแรก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ชานหลังบ้านหลังหนึ่งในเมืองดาร์วิน (Darwin) ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย เมื่อแมทธิว ไวเนิร์ต (Matthew Weinert) นักพยาธิวิทยาในพืช กำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่กับเพื่อนร่วมงานชาวอินโดนีเซีย และเขาเหลือบไปเห็นว่าเจ้าใบองุ่นในไร่หลังบ้านมีลักษณะที่เปลี่ยนไปคล้ายจะ ‘ป่วย’

 

Photo: Alcatraz Gardens

 

“ผมสังเกตเห็นว่าใบองุ่นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และมีสปอร์เป็นฝุ่นๆ ผงๆ เกาะอยู่ใต้ใบ ผมจึงรีบเอาตัวอย่างใบนั้นกลับไปที่ทำงานของผม และรีบส่งต่อไปตรวจสอบทันที” ไวเนิร์ตกล่าว แน่นอนว่าหลังจากผลการตรวจสอบใบองุ่นดังกล่าวออกมาก็พบว่าโรคดังกล่าวคือ ‘โรคราสนิม’ ซึ่งเป็นเชื้อราร้ายแรงที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในประเทศออสเตรเลีย โดยโรคดังกล่าวจะส่งผลให้ใบองุ่นเกิดจุดเล็กๆ สีเหลืองด้านบนใบ ซึ่งจะเกิดเป็นกลุ่มๆ หรือกระจัดกระจายทั่วไปก็ได้ ด้านใต้ใบจะมีกลุ่มเชื้อราสีเหลืองส้ม เมื่อแตะจะติดมือได้ง่าย ซึ่งจะทำให้โรคนี้ระบาดได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ใบเหลือง แห้ง และร่วงหล่น ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะพบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ และการระบาดของโรคนี้ไม่ใช่เพราะลมที่พัดพาเอาสปอร์ไปยังที่อื่นๆ เพราะมันเป็นไปได้ยากจากระยะห่างของประเทศออสเตรเลียกับทวีปเอเชีย แต่สิ่งที่ผู้วิจัยค้นพบคือการระบาดของโรคนี้เกิดจากที่เชื้อราติดมากับเสื้อผ้าหรือรองเท้าของมนุษย์นั่นเอง

 

Photo: Australia.com

 

ทันทีที่ค้นพบโรคระบาดดังกล่าว วอร์เรน ทรัสส์ (Warren Truss) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของประเทศออสเตรเลียในตอนนั้นก็รีบสั่งการให้ตรวจสอบไร่องุ่นในเมืองดาร์วินทันที และเขาสั่งการให้รีบกำจัดเชื้อราดังกล่าวให้หมดสิ้นก่อนที่มันจะแพร่กระจายไปสู่แหล่งปลูกองุ่นอื่นๆ ในประเทศทั้งทางใต้และทางตะวันตก ด้วยการส่งผู้ตรวจการจากกรมการเกษตรกรรมของเขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี เข้าไปตรวจสอบไร่องุ่นในบ้านกว่า 30,000 หลังและกำจัดเถ้าองุ่นที่มีเชื้อราทันที โดยจากการตรวจสอบพบว่าจากสถานที่ที่พบเชื้อราครั้งแรกกินรัศมีวงกว้างไปรอบๆ ราว 15 กิโลเมตร เจ้าเชื้อราสนิมนี้กำลังแพร่กระจายไปอย่างเงียบๆ โดยไม่รู้ตัว และมีไร่ที่ต้องกำจัดทิ้งทันทีราว 3,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 285,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งวิธีการในการกำจัดนั้นคือการขุดรากถอนโคนและเผาพืชพันธุ์ทั้งหมด เพราะไม่มีสารเคมีใดที่จะช่วยกำจัดได้ในขณะนั้น และแน่นอนว่าการกำจัดไร่องุ่นที่ติดเชื้อในส่วนน้อย ก็เพื่อช่วยประคับประคองอุตสาหกรรมไวน์ของประเทศที่มีมูลค่ากว่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐไว้ได้ ซึ่งทุกอย่างเสร็จสิ้นกระบวนการภายในอีกปีให้หลัง

 

ในหนังสือเรื่อง ‘Conflict and Change in Australia’s Peri-Urban Landscapes’ ของ เมลิสซา เคนเนดี้ (Melissa Kennedy) แอนดรูว์ บัตต์ (Andrew Butt) และมาร์โก อมาติ (Marco Amati) ได้ยกเหตุการณ์การระบาดของโรคราสนิมนี้ให้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสภาพของสังคมชานเมืองในประเทศออสเตรเลียไปโดยสิ้นเชิง กล่าวคือเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดการร่วมมือลงขันกันระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและกลุ่มอุตสาหกรรมไวน์จัดตั้ง ‘กลุ่มการเรียนรู้เรื่องการกำจัดเชื้อราสนิม’ ขึ้นมาในปี 2003 เพื่อป้องกัน ให้ความรู้ และสำรวจสภาพไร่องุ่นเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคระบาดดังกล่าวขึ้นมาอีก ซึ่งโปรแกรมการเรียนรู้ดังกล่าวได้ขยายขอบเขตความรู้ให้แก่เกษตรกรในที่ชนบทห่างไกลอย่างทั่วถึง

 

 

Photo: giphy.com

 

กว่า 17 ปีผ่านไป เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาระดับชาติที่ถูกต้องและเร่งรัด ก่อนจะบานปลายและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในวงกว้างมากกว่านี้ จวบจนถึงปัจจุบันเองที่ปัญหาดังกล่าวหมดสิ้นไปแล้ว การดูแลรักษาสภาพไร่องุ่นอย่างดีเสมอมาก็ส่งให้ไวน์จากประเทศออสเตรเลียยังคงได้รับการยอมรับจากนักดื่มมาเสมอ อย่างเช่น Jacob’s Creek ไวน์พรีเมียมจากประเทศออสเตรเลียที่โด่งดังไปทั่วโลก และน่าหามาลิ้มลองรสชาติสักขวด

 

อ่านเรื่องเคาะ 3 ขั้นตอนสุดง่ายสู่การชิมไวน์ระดับชั้นเซียนจากกูรูได้ที่นี่

 

เชียร์ส!

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

FYI
  • ทฤษฎีความน่าจะเป็นที่ทำให้เชื้อราสนิมนี้ระบาด อาจเป็นเพราะในขณะนั้นมีการนำกองกำลังจากประเทศออสเตรเลียไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในประเทศติมอร์ตะวันออก จึงอาจทำให้เชื้อราดังกล่าวติดกลับมากับรองเท้าบู๊ตหรือเสื้อผ้าของทหารได้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising