×

การลงทุนปี 2023 ทรงอย่าง Good จะ Smooth หรือไม่?

15.01.2023
  • LOADING...

สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน

 

ตลาดการเงินในช่วงปี 2023 ถือว่าเปิดตัวได้อย่างโดดเด่น สินทรัพย์ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี

 

โดดเด่นที่สุดคือตลาดคริปโต นำโดย Bitcoin และ Ethereum ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 26-29% ในเวลาเพียงสองสัปดาห์ ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (MSCI ACWI Consumer Discretionary) และหุ้นขนาดเล็กในสหรัฐฯ (Russell 2000) ที่ฟื้นตัวขึ้นราว 7-9% สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวลง 1.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก


บทความที่เกี่ยวข้อง


สำหรับ Thematic Investors ผมแบ่งธีมที่ขับเคลื่อนตลาดช่วงนี้ออกเป็น 3 ธีมหลัก ได้แก่ Fed Easing vs. Rest of the World Tightening, US Soft-Landing และ China Restart และนักลงทุนควรตั้งคำถามว่าทั้งสามธีมนี้มีเหตุผลที่เหมาะสมหรือไม่ ส่งผลอย่างไรกับตลาด และจะยืนระยะต่อไปในปี 2023 ได้นานแค่ไหน

 

China Restart

เป็นธีมที่ใหม่ที่สุด เพราะเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ทางการจีนผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID เร็วกว่าคาด ผมมองว่าเป็นธีมที่ส่งผลบวกกับการลงทุนในเอเชียชัดเจน แต่ต้องจับตาในแง่ความต่อเนื่อง

 

เพราะหลังจากนี้เราควรจะได้เห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน กำลังซื้อที่ฟื้นตัว แต่ด้วยความที่เป็น Policy Driven Theme ความเสี่ยงหลักของการลงทุนคือตลาดมักรับข่าวทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ธีมนี้อาจเปลี่ยนบทบาทจาก P/E Expansion เป็น Earning Improvement ในระยะกลาง

 

US Soft-Landing

เป็นธีมที่มีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น เหตุผลสนับสนุนอยู่ที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แทบไม่ชะลอตัวลง สวนทางกับเงินเฟ้อกลับตัวอย่างมีนัย จนตลาดมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่เกิดขึ้นมากอย่างที่เคยกังวล ความเสี่ยงที่เหลืออยู่คือการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมและมุมมองตลาด

 

ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ Soft-Landing ได้จริง ผมเชื่อว่าการลงทุนในตราสารหนี้กลุ่ม High Yield จะได้รับความสนใจมาก เพราะผลตอบแทนสูงแต่โอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำลง อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจไม่มีปัญหา การลดดอกเบี้ยทันทีก็อาจไม่มีความจำเป็นด้วย ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลที่ลดลงมากช่วงนี้อาจปรับตัวสูงขึ้นได้

 

นักลงทุนจึงสามารถใช้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี เป็น Leading Indicator ได้ถ้าเริ่มหยุดลงและปรับตัวขึ้น ธีมนี้ก็อาจยืนระยะและกลายเป็นธีมหลักของตลาด

 

Fed Easing vs. Rest of the World Tightening

คือธีมที่ส่งผลกับตลาดการเงินมากที่สุด แต่เหตุผลสนับสนุนดูจะนำหน้าตัวเลขเศรษฐกิจและท่าทีของผู้กำหนดนโยบายมากไปเสียหน่อย

 

โดยมุมมองตลาดตอนนี้คือธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นดอกเบี้ยไปจบที่ระดับ 5.00% ในช่วงเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นก็ลดดอกเบี้ยหนึ่งครั้งในช่วงเดือนธันวาคม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะขึ้นดอกเบี้ยไปแตะ 3.25% ในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก (Policy Balance Rate) จากระดับ -0.10% ตอนนี้ไปที่ 0.25% ในช่วงปลายปี ทั้งหมดทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า ยูโรและเยนแข็ง

 

อย่างไรก็ดี ธีมนี้แตกต่างจากสองธีมแรก คือไม่มีทั้งตัวเลขเศรษฐกิจหรือมุมมองของผู้กำหนดนโยบายสนับสนุน ทำให้ผมมองว่าโอกาสที่ธีมนี้จะได้ไปต่อตลอดปีมีน้อยและระยะสั้นมีโอกาสกลับตัว

 

การลงทุนสาย Growth อาจฟื้นตัวอย่างโดดเด่นจากธีมนี้ แต่ถ้าอนาคตของธีมไม่แน่นอน นักลงทุนอาจเลือกขายทำกำไร กลับมาเน้นลงทุนในกลุ่ม Value ที่มีระดับราคาไม่แพง รอดูทิศทางเศรษฐกิจและมุมมองของธนาคารกลางหลักต่างๆ ก่อน

 

สำหรับสัปดาห์ที่ 16-20 มกราคม 2023

ตลาดการเงินจะเริ่มต้นด้วยการประชุม World Economic Forum ที่กรุงดาวอส เนื้อหาการประชุมส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องการรับมือกับวิกฤตสภาวะอากาศ ไม่น่ามีผลกระทบกับตลาดการเงินมาก

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจอยู่ในฝั่งเอเชีย ที่จะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนช่วงปลายปีในวันที่ 17 อย่างไรก็ดี รายงานนี้อาจยังเป็นลบมากกว่าบวก เพราะเป็นไตรมาสที่ 4 ที่มีนโยบาย Zero-COVID อยู่ โดยตลาดคาดว่า China GDP จะเติบโตเพียง 1.6%YoY คิดเป็นการหดตัว 1.2%QoQ ส่งผลให้ทั้งปี 2022 เศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 2.7%

 

ฝั่งสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าจับตาคือการรายงานยอดค้าปลีก (US Retail Sales Advance) ในวันที่ 18 ที่คาดว่าจะหดตัว 0.9%MoM และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ที่คาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 2.14 แสนตำแหน่ง จากสัปดาห์ก่อนที่ 2.05 แสนตำแหน่ง ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้อาจกดดันการลงทุนธีม US Soft-Landing เช่น US Small-Cap Equity หรือ High Yield Debt

 

ส่วนฝั่งนโยบายการเงิน BOJ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 18 คาดว่าจะ ‘คงนโยบายการเงิน’ ทั้งหมดไว้ตามเดิม จุดที่น่าจับตาคือมุมมองของ BOJ ต่อเงินเยนที่แข็งค่าเร็ว อาจเป็นประเด็นที่ทำให้ทางการญี่ปุ่นไม่ต้องกังวลเรื่องเสถียรภาพหรือเงินเฟ้อ และอาจไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ธีม Rest of the World Tightening หวัง

 

ผมเชื่อว่าทุกท่านคงอยากเห็นสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้นในปีนี้

 

อย่างไรก็ดี ต้องระลึกไว้เสมอว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างมั่นคงได้ต้องมีพื้นฐานและเหตุผลสนับสนุนที่มากกว่าแค่ความหวังนะครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising