×

‘คุมมาเฟีย เคลียร์กลิ่นลูกปืน’ มหาดไทย ‘ยุคอนุทิน’

23.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ กับภารกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 52 เพื่อจัดระเบียบสังคม ปลูกจิตสำนึก สร้างความสามัคคี คุมมาเฟีย และเคลียร์กลิ่นลูกปืน
  • เมื่อผู้มีอิทธิพลออกอาละวาดสร้างแรงสั่นสะเทือนถึงกระทรวงมหาดไทย ลามถึงทำเนียบรัฐบาล จึงได้มอบหมายเจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ได้โชว์ฝีมือและพิสูจน์ผลงาน
  • เตรียมรื้อกฎหมาย หยุดต่อใบอนุญาตถือครองอาวุธ แก้ปัญหาลูกปืนเถื่อนออกมาก่อเหตุคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์

การเลือกตั้งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 71 ที่นั่ง โดยไม่ถึงตามเป้าที่หวังไว้ (100 ที่นั่ง) แต่ก็มากพอที่จะทำให้เป็นพรรคการเมืองตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

 

เมื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องการกระทรวงเดิมทั้งหมดของพรรคภูมิใจไทยในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคจึงได้ยื่นข้อเสนอว่าต้องการคุมกระทรวงมหาดไทย ที่มาพร้อมกับโควตา (4 + 4) เก้าอี้รัฐมนตรี ประกอบด้วย 4 รัฐมนตรีว่าการ และ 4 รัฐมนตรีช่วยว่าการ คือ 2 กระทรวงเกรดเอ (กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ) พ่วงด้วยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 52 เปิดห้องทำงานภายในกระทรวงมหาดไทยต้อนรับทีมข่าว THE STANDARD พูดคุยถึงบทบาทการทำงานตลอด 3 เดือน ภายใต้รัฐนาวาที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน

 

แม้คนจากพรรคภูมิใจไทยมีความคุ้นเคยกับกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาของอนุทินเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 48 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2551  

 

แต่การนั่งเก้าอี้ มท.1 ของอนุทินตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ถูกสังคม ‘รับน้อง’ ไปไม่น้อย ทั้งผู้มีอิทธิพลออกมาอาละวาด รังแกประชาชน หรือแม้แต่กรณีปืนเถื่อนออกมาก่อเหตุคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ไปแล้วจำนวนไม่น้อย เขาจึงมาพร้อมกับภารกิจที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ให้จงได้ และทำควบคู่ไปกับการเดินหน้าปลูกจิตสำนึกสร้างความสามัคคี เพื่อจัดระเบียบสังคมใหม่ 

 

จากซ้าย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ทรงศักดิ์ ทองศรี, ชาดา ไทยเศรษฐ์ และเกรียง กัลป์ตินันท์ 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

3 เดือน ดรีมทีมมหาดไทยยุคอนุทิน 

 

“คนที่จะให้คะแนนต้องเป็นประชาชน” อนุทินเริ่มต้นบทสนทนากับทีมข่าว THE STANDARD หลังถูกให้คะแนนบทบาทเจ้ากระทรวงมหาดไทยของตนเอง ร่วมกับดรีมทีมรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 3 ท่าน

 

เขากล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น นโยบายของรัฐบาล เราได้ตอบสนองในทุกเรื่อง นโยบายของตนเองในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ในช่วงหาเสียง หลายๆ อย่างเราก็ทำไปเรียบร้อยแล้ว หลายๆ อย่างกำลังดำเนินการ ส่วนที่ไม่ได้กำกับดูแลด้วยตนเองก็กำลังหาหนทางประสานความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 

 

ส่วนการทำงานร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ทรงศักดิ์ ทองศรี, ชาดา ไทยเศรษฐ์ และเกรียง กัลป์ตินันท์ ได้มีการแบ่งงานกันในกรมและรัฐวิสาหกิจที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยให้แต่ละท่านได้กำกับดูแล ทุกอย่างเป็นไปตามระบบการบริหารที่ยึดหลักธรรมาภิบาล

 

  • ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย สั่งและปฏิบัติราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกำกับดูแลการประปานครหลวง
  • ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย สั่งและปฏิบัติราชการกรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน และกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค
  • เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคเพื่อไทย สั่งและปฏิบัติราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรุงเทพมหานคร และกำกับดูแลองค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย

 

แน่นอน…เกรียง กัลป์ตินันท์ หนึ่งในรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกจับตามองเป็นอย่างมากในฐานะคนของพรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ) ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยไปเจาะพื้นที่จนได้เก้าอี้ สส. และการที่เกรียงเข้าเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทยจึงมีนัยทางการเมืองเช่นกัน

 

อนุทินตอบคำถามด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า “ทำไมต้องถามถึงท่านเกรียงท่านเดียว แล้วทำไมต้องบอกว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ มันไม่มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่ใดๆ ในประเทศนี้ เจ้าของประเทศนี้คือประชาชน”

 

อนุทินอธิบายต่อว่า เรา (พรรคภูมิใจไทย) ไม่เคยแย่งพื้นที่ของใครทั้งสิ้น ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อประชาชน เมื่อถึงเวลาประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกตั้งให้ใครเข้ามาทำหน้าที่แทน ยืนยันว่าไม่มีนาย ก หรือนาย ข 

 

อนุทิน ชาญวีรกูล ชูมือ ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’พร้อมด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยจากพรรคภูมิใจไทย และสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันแรก เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 

แฟ้มภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

“การทำงานของผมและท่านเกรียงเป็นไปได้ด้วยพี่ด้วยน้อง ผมเรียกท่านว่าพี่ทุกคำ ท่านก็ปฏิบัติต่อผมด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน” 

 

อนุทินบอกอีกว่า ตนเองได้มอบหมายงานต่างๆ ให้เกรียง ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งถือเป็นกรมใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร องค์การตลาด องค์การจัดการน้ำเสีย และในคำสั่งการมอบงานไม่ใช่เฉพาะเกรียง แต่รวมถึงทรงศักดิ์และชาดาล้วนเป็นคำสั่งเดียวกันหมด 

 

“ทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต้องใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ การบริหารงานบุคคล เรื่องที่เป็นนโยบาย ไปดูคำสั่งมอบหมายงานของกระทรวงไหนๆ ทั้ง 20 กระทรวงที่มีอยู่ก็เป็นข้อความเดียวกันหมด

 

“ไม่มีการแยกเป็นกรณีพิเศษ เป็นการจำเพาะเจาะจงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่ากระทรวงไหน คนไหน ฉะนั้นตรงนี้ต้องขอความเป็นธรรมด้วย”

 

อนุทิน ชาญวีรกูล ดึง ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาพูดคุย 

แฟ้มภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

มอบ ‘ชาดา’ เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง ปราบมาเฟีย


ในช่วงแรกที่อนุทินเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สังคมไทยเกิดเหตุอุกอาจจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล นักการเมืองท้องถิ่นที่จังหวัดนครปฐม และสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

 

เขาในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงประกาศถอนรากถอนโคนปราบปรามเจ้าพ่อ-มาเฟีย พร้อมกับสั่งการให้ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ได้โชว์ฝีมือและพิสูจน์ผลงาน

 

“ผมได้มอบหมายให้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำกับดูแลรับผิดชอบ” อนุทินบอกกับ THE STANDARD 

 

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาชาดาได้ดำเนินการไปหลายอย่าง ทั้งเรื่องการขึ้นบัญชี รวมถึงการส่งสัญญาณไปยังเจ้าตัว (ผู้มีอิทธิพล) ว่าขอให้ยุติการกระทำลักษณะข่มเหงรังแกพี่น้องประชาชน 

 

อนุทินอธิบายนิยามคำว่าผู้มีอิทธิพลคือ บุคคลที่ถืออาวุธปืนไปไหนมาไหน และใช้อิทธิพลของตนเองไปข่มเหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่า ตนเองไม่อยากใช้คำว่าผู้มีอิทธิพล แต่เรียกว่าปราบปรามอันธพาล คนที่คิดว่าตัวเองมีอิทธิพลและอำนาจเหนือคนอื่น จึงได้สั่งการให้ชาดาเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ 

 

“เราเน้นทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบมากขึ้น เรื่องผู้มีอิทธิพล ขอให้ปราบปรามได้ทุกวันถือว่าเป็นผลงานแล้ว เพราะมีจำนวนมากและหลายรูปแบบ มีตั้ง 16 ประเภท ทั้งปล่อยเงินกู้นอกระบบ ค้าของเถื่อน ค้าประเวณี น้ำมันเถื่อน บ่อนการพนัน ยาเสพติด หลายประเภท เราเน้นเรื่องการข่มเหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่าก่อน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าใช้ความเป็นอิทธิพลของตนเองไปข่มเหงรังแกประชาชนทั่วไปได้ ประเทศก็จะไม่มีสังคมที่สงบสุข ผมจึงให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ” 

 

อนุทินยืนยันว่านโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพลภายใต้การปราบปรามของชาดา กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ขีดเส้นการดำเนินการ แต่เริ่มเห็นผลการปราบปรามแล้ว

 

“หนีกันหัวซุกหัวซุน ไม่มีที่อยู่อย่างปกติได้อีกต่อไป ถูกจับดำเนินคดี ถ้าต่อสู้ตำรวจ บางคนก็ถูกยิงเสียชีวิต บางคนหนีหัวซุกหัวซุน อยู่เป็นหลักแหล่งไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เป็นผลพวงจากการดำเนินการปราบปราม เราไม่ได้ปล่อยให้ใครอยู่ได้อย่างเป็นปกติ แม้จะมีตำแหน่งแห่งหนทางราชการ ยิ่งทำก็ยิ่งโดน โดนดำเนินคดีเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นความชัดเจนที่เห็นและจับต้องได้ในงานของกระทรวงมหาดไทยในยุคนี้” อนุทินกล่าว

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

รื้อกฎหมาย เคลียร์กลิ่นลูกปืนเถื่อน 

 

นโยบายถือครองอาวุธปืนที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมรื้อกฎหมายควบคุมอาวุธปืน-สิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะในช่วงที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง มท.1 คนที่ 52 เกิดกรณีปืนเถื่อนออกมาก่อเหตุคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเหตุกราดยิงภายในศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่มีกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้  

 

“ผมไม่แลกชีวิตประชาชนกับเหตุผลอื่นๆ ประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ ต้องใช้กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าพนักงานให้ความคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ไม่ใช่เป็นประเทศที่ประชาชนสามารถตัดสินใจป้องกันตนเองได้โดยใช้อาวุธที่ร้ายแรง ผมตอบง่ายๆ แค่นี้” อนุทินกล่าว

 

หากเราบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่เจริญทั้งทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี และสังคม ดังนั้นเราจึงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่ผ่านมาอาจเป็นสิ่งที่ผิดก็ได้ สิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ได้รับการปฏิบัติมา อาจเป็นสิ่งใหม่ที่คนไม่คุ้นเคย 

 

“ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศแค่ครอบครองอาวุธก็มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตแล้ว แต่ประเทศไทยไปยอมให้คนที่ไม่มีใบอนุญาตสามารถพกปืนออกจากบ้านได้เป็นกิจวัตรประจำวัน อาบน้ำ แต่งตัว หวีผม เสร็จแล้วเอาปืนพกเข้าเอว แล้วเดินออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ไปทำงาน ดำเนินชีวิตอยู่ข้างนอก แบบนี้ไม่ได้ มันไม่ใช่ประเทศ แบบนี้คือบ้านป่าเมืองเถื่อน” อนุทินกล่าว 

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ดังนั้นถ้าจะถือครองอาวุธได้ อนุญาตเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานบุคคลที่เป็นคนของราชการ ที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว 

 

อนุทินบอกอีกว่า สิ่งที่ตนเองดำเนินการหลังจากนี้คืองดต่อใบอนุญาตการพกพาอาวุธปืน ซึ่งที่ผ่านมามีการต่อใบอนุญาตแบบปีต่อปี ตนเองเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อเดือนกันยายน 

 

หากบอกว่านโยบายนี้มีมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ใบอนุญาตพกพาปืนต่อแบบปีต่อปี เท่ากับว่าภายในเดือนกันยายน 2567 ประเทศไทยก็จะไม่มีบุคคลที่สามารถพกปืนไปไหนมาไหนได้อีก ใครต่ออายุใบอนุญาตถือว่ากระทำความผิด ผิดคำสั่ง ผิดกฎหมาย ผิดนโยบาย ผิดทุกเรื่อง 

 

อนุทินย้อนถามว่า “แบบนี้สังคมจะดีขึ้นหรือไม่

 

“ถ้าใครยังพกปืนโดยที่ไม่มีใบอนุญาต คุณตั้งใจทำผิดกฎหมาย คุณต้องมีเจตนาที่ไม่ดีแน่ๆ กับใครคนใดคนหนึ่ง คุณถึงต้องพกปืนออกไปทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต ตำรวจก็จะดำเนินคดีโดยเฉียบขาด”

 

มท.1 บอกอีกว่า การขอใบอนุญาตนำเข้าปืนก็จะไม่มีอีกต่อไป เราต้องรักษาชีวิตประชาชนในชาติ รักษาความปลอดภัยให้คนทั้งโลกได้เห็นว่าถ้าเขามาเที่ยว มาลงทุน มาทำงานในประเทศไทย เขาต้องมีความปลอดภัยในชีวิตเป็นสิ่งแรก 

 

อนุทินกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีเสียงในสภาถึง 314 เสียง ต้องเดินเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมอาวุธปืนและอาวุธปืนสิ่งเทียมต่อไป หากแก้ไขแล้วเพียงพอก็แก้ไข ส่วนไหนที่แก้ไขแล้วไม่เพียงพอก็ต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่ 

 

เดินหน้าปลูกจิตสำนึกรักชาติ สามัคคี แก้ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา 

 

“ผมคิดว่าประเทศนี้มีความแตกแยกมากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีความพยายามของคนบางกลุ่ม พรรคการเมืองบางพรรคที่คิดจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองบ้านเมืองนี้ สถาบันที่เป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของประเทศไทยได้รับการท้าทาย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้” อนุทินตอบคำถามเรื่องถึงนโยบายล่าสุดที่เป็นความร่วมมือภายใน 4 กระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยกำกับดูแล ปลูกฝังให้เป็นคนมีจิตสำนึกรักชาติและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย 

 

อนุทินเล่าย้อนว่า ในยุคสมัยที่ตนเองโตมาไม่มีเด็กคนใดที่จะกล้าท้าทายผู้ใหญ่ เห็นต่างได้ ถกเถียงได้ แต่ไม่มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคาย ใช้กู-มึงพูดคุยกับผู้ใหญ่อย่างไม่มีสัมมาคารวะ 

 

ตนเองจึงเชื่อว่าหากเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทย สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะนี่คือวัฒนธรรมอันดีงามที่ทำให้เรามีระเบียบวินัย มีความเคารพ มีความเกรงใจซึ่งกันและกัน และทำให้ประเทศไทยฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้อย่างราบรื่นโดยตลอด 

 

ในอดีตเราถูกสอนว่าประเทศไทยมี 3 สถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มคำว่า ‘ประชาชน’ เข้าไป นั่นไม่ได้หมายความว่าเราอยู่กับยุคเดิมๆ ไม่มีการปรับเปลี่ยน ตอนนี้เวลาพูดเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และไม่มีใครเคยลืมคำว่าประชาชน นั่นหมายความว่าตอนนี้ประชาชนคืออีกหนึ่งสถาบันหลักของชาติเช่นกัน

 

ส่วนเรื่องกลุ่มนักเรียนก่อเหตุวิวาทยกพวกตีกัน อนุทินมองเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นช่วงวัย ขณะนี้เวลาก่อเหตุวิวาทมีอาวุธที่ผิดกฎหมาย อาวุธที่ร้ายแรงคร่าชีวิตคนได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ลูกผู้ชายทำกัน แต่คืออันธพาล 

 

“ถ้าเราปลูกฝังเรื่องพวกนี้ ต่อยกันได้ ชกกันได้ เวลามีเรื่องชกต่อยกับเพื่อน ครูก็ลงโทษทั้งคู่ สมัยผมเรียนโรงเรียนชายล้วน ผมถูกเฆี่ยนด้วยแล้วก็หลาบจำ มันทำให้เห็นว่าถ้าเราไม่มีความสามัคคีกัน ไม่มีความรักเพื่อนพ้อง คนที่เจ็บคือเราทั้งสองฝ่าย นี่คือวิธีการปลูกจิตสำนึก” 

 

อนุทินเชื่อว่าการปลูกฝังนั้นมีประโยชน์ ในอดีตวิชาต่างๆ ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ ศีลธรรม หน้าที่พลเมือง เป็นวิชาจำเพาะ มีชั่วโมงของวิชานั้นๆ แต่ปัจจุบันถูกรวมอยู่ในส่วนหนึ่งที่เรียกว่าการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ซึ่งไม่ใช่วิชาหลัก ความเข้มของเนื้อหาน้อยลง โดยขอให้มีการสังคายนาขึ้นใหม่ ให้ปลูกฝังให้เกิดความภูมิใจในประเทศ ชาติกำเนิดของตัวเอง ความเป็นคนไทย และสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่

 

“เราไม่ได้มาผิดทาง เรากำลังจะไปถูกทางด้วยซ้ำ เพราะมันถึงเวลาแล้วที่ประเทศของเราควรจะต้องมีความกลมเกลียวเหนียวแน่น เพราะโลกจากนี้ไปเป็นโลกที่ต้องมีความสามัคคี” อนุทินกล่าว 

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ภูมิใจไทยไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม

 

ด้วยจำนวน สส. 71 เสียงนั้น ทำให้ภูมิใจไทยถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 ในขั้วอนุรักษนิยม เข้าสู่ปีที่ 15 พรรคภูมิใจไทยเคยเป็นฝ่ายค้านเพียงครั้งเดียว และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งมีสโลแกนว่า ‘พูดแล้วทำ’ ไม่มีนโยบายไหนที่พูดไปแล้วทำไม่ได้ 

 

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวแย้งว่า ภูมิใจไทยไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม แต่เป็นพรรคการเมืองไฮบริด (ลูกผสม) ที่อนุรักษ์สิ่งดีงามของประเทศไทย คุณค่าความเป็นประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตที่งดงาม เราก็หวงแหนสิ่งเหล่านี้ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศ 

 

ขณะเดียวกันเราก็เป็นพรรคปฏิบัติงานปฏิบัติการ เราทำงานด้วยใจ พูดทีไรก็อาจมีคนตีความ งานเข้าอยู่บ่อยครั้ง แต่ต้องดูความตั้งใจ เรากล้าที่จะทำสิ่งที่หลายพรรคไม่เคยทำ เพราะมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และเป็นพรรคที่คิดถึงกติกาใหม่ของโลกเสมอ 

 

เขายืนยันอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายใดของพรรคภูมิใจไทยที่พูดไปแล้ว ‘ทำไม่ได้’ เพราะนโยบายใดที่คิดว่าทำไม่ได้ เราก็จะไม่พูด ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพูดในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะไม่ชอบสัญญาอะไรกับใครแล้วทำไม่ได้ แล้วก็ไม่พูดอะไรมากเกินไป หากประชาชนหลงเชื่อแล้วเลือกเรา ตนเองตระหนักดีว่าผลสะท้อนนั้นรุนแรงเกินกว่าจะรับได้ พรรคภูมิใจไทยจึงจะไม่มีวันเป็นพรรคการเมืองที่โกหกประชาชน

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising