×

อินโดนีเซียเตรียมออกกฎคุมเข้มอีคอมเมิร์ซ สั่งแบนธุรกรรมซื้อขายสินค้าบนโซเชียลมีเดีย เพื่อปกป้องผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย

28.09.2023
  • LOADING...
แบนซื้อขายสินค้าบน Social Media

กระทรวงการค้าอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อยกระดับกฎระเบียบในการกำกับดูแลสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรมการค้าใดๆ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วย

 

แถลงการณ์ฉบับทางการของกระทรวงการค้าอินโดนีเซียอธิบายว่า รัฐบาลอินโดนีเซียอนุญาตให้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งเสริมการขายเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับการทำธุรกรรม ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้ในอินโดนีเซียไม่สามารถซื้อหรือขายสินค้าและบริการบน TikTok และ Facebook ได้ แต่สามารถใช้โปรโมตสินค้าได้อย่างเดียวเท่านั้น

 

รายงานระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซีย ในการจำกัดการทำยอดขายตรงของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีผ่านสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตนเอง ที่เข้าข่ายผูกขาดการซื้อขายสินค้า จนส่งผลกระทบคุกคามในทางลบต่อกิจการของเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในประเทศ

 

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลอินโดนีเซียยังระบุอีกว่า ได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันไม่ให้สื่อโซเชียลมีเดียขยายเป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำข้อมูลสาธารณะไปใช้ในทางที่ผิด

 

Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย กล่าวในระหว่างงานแถลงข่าวที่กรุงจาการ์ตาว่า คำสั่งห้ามทำธุรกรรมบนสื่อโซเชียลมีเดียจะมีผลบังคับใช้ในทันที พร้อมชี้แจงว่าการเชื่อมต่อระหว่างโซเชียลมีเดียกับอีคอมเมิร์ซจำเป็นต้องแยกออก เพื่อให้อัลกอริทึมไม่ได้รับการควบคุมทั้งหมด ซึ่งจะ “ป้องกันการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ

 

ก่อนหน้านี้ไม่นาน Joko Widodo ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย เรียกร้องให้มีกฎระเบียบด้านโซเชียลมีเดีย โดยอ้างถึงผลกระทบของแพลตฟอร์มที่มีต่อธุรกิจในท้องถิ่นและเศรษฐกิจ โดยผู้นำอินโดนีเซียชี้ว่า มี SMEs ธุรกิจขนาดเล็ก วิสาหกิจขนาดย่อม และตลาด ที่ยอดขายเริ่มลดลง เนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ 

 

หลายฝ่ายมองว่ากฎระเบียบใหม่ของอินโดนีเซียจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่าง TikTok ซึ่งมีเป้าหมายในการเติบโตเพื่อตอบโจทย์การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ TikTok ด้วยจำนวนผู้ใช้งานถึง 113 ล้านบัญชี เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ 116.5 ล้านบัญชี

 

นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลอินโดนีเซียล่าสุดยังเป็นการซ้ำเติม TikTok ที่กำลังเผชิญแรงต้านจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลและความกังขาในประเด็นความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานที่เชื่อว่ามีการเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน 

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Citi มองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซโดยตรงอย่าง Shopee รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆ สัญชาติอินโดนีเซีย 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising