×

IMF ออกโรงเตือนญี่ปุ่น ระวังเงินเยนอ่อนค่ากระทบเศรษฐกิจฟื้นตัว

25.04.2022
  • LOADING...
IMF

รานิล ซัลกาโด (Ranil Salgado) หัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำญี่ปุ่น ออกโรงเตือนว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วมีสิทธิ์เป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคการนำเข้า และบั่นทอนกำลังการบริโภคของคนในประเทศ

 

ทั้งนี้ ในมุมมองของซัลกาโด ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีนี้เป็นผลมาจากการตัดสินใจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยืนกรานใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ในขณะที่บรรดาธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หันมาใช้นโยบายการเงินแบบรัดเข็มขัดมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ทางผู้แทน IMF ในญี่ปุ่น กล่าวเห็นด้วยที่ BOJ มีนโบยายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเฟ้อที่ 2% โดยอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ราคาแพงที่นำเข้ามาปรับตัวลดลง

 

ความเห็นของซัลกาโดมีขึ้นหลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ โดยแม้เงินเยนอ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่น ที่สามารถทำกำไรและทำให้ราคาสินค้าของญี่ปุ่นถูกลง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่การที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างหนักก็กลายเป็นปัจจัยคุกคามสินค้านำเข้าทั้งหลายที่จะแพงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากรเป็นหลัก อย่างน้ำมัน ซึ่งราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน

 

นอกจากนี้ ซัลกาโดยังเตือนว่า หากเงินเยนยังอ่อนค่าลงไปอีกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความแตกต่างของนโยบายการเงินของธนาคากลาง ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ และทำให้เงื่อนไขการค้าแย่ลง

 

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ การประชุม BOJ ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ ทางคณะกรรมการ BOJ น่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการเงินใดๆ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น ไม่รวมสินค้าผันผวนสูงอย่างอาหาร ในเดือนมีนาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า แต่ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ที่ 2%

 

ซัลกาโด ซึ่งควบตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ IMF กล่าวว่าการเติบโตในญี่ปุ่นอาจชะงักงันอีกครั้ง หากสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น และการเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลงเพราะปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด

 

ขณะเดียวกัน ซัลกาโดยังใช้โอกาสนี้ชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะที่เป็น “ผู้นำระดับโลกในการสนับสนุนพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ” เพื่อส่งเสริมนโยบายการค้าที่เปิดกว้าง มีเสถียรภาพ และโปร่งใสมากขึ้น และกล่าวสนับสนุนโตเกียวให้สามารถ “สร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่มีความร่วมมือมากขึ้น และช่วยเหลือผู้ที่เปราะบางที่สุดทั่วโลกได้”

 

วันเดียวกัน ทางสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะที่จัดทำโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรี ซึ่งพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 50% รู้สึกว่าความปลอดภัยสาธารณะในญี่ปุ่นแย่ลงเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาด้านการฉ้อโกงทางออนไลน์และอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต

 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 85.1% รู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและสงบสุข อีก 10.1% เชื่อว่าความปลอดภัยสาธารณะได้ ‘แย่ลง’ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และ 44.5% เชื่อว่าความปลอดภัย ‘เลวร้ายลงบ้าง’

 

ขณะเดียวกัน เมื่อถามเจาะลึกเกี่ยวกับสถานที่ที่ผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าพวกเขาหรือคนใกล้ชิดอาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ‘พื้นที่ออนไลน์’ อยู่ในอันดับต้นๆ ที่ 53.9% ตามด้วย ‘บนท้องถนน’ ที่ 50.7% และ ‘พื้นที่ใจกลางเมือง’ ที่ 47.9%

 

ส่วนปัญหาที่ผู้ตอบต้องการให้ตำรวจปราบปรามเป็นพิเศษ พบว่า 41.3% กล่าวถึง อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต เช่น การเข้าถึงออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการหลอกลวง

 

สำหรับการสำรวจในครั้งนี้ ดำเนินการเก็บข้อมูลทางไปรษณีย์จำนวน 1,790 คน โดยทำการสำรวจในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2021 ถึงมกราคม 2024 พร้อมกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปยังชาวญี่ปุ่นที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

 

ทั้งนี้ ท่ามกลางการแพร่กระจายของโควิด และการให้บริการแบบดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 52.6% ชี้ไปที่ ‘การฉ้อโกงและการหลอกลวงทางธุรกิจ’ เป็นอาชญากรรมที่ต้องระมัดระวังที่สุด ตามด้วย ‘อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตรวมถึงการหลอกลวงการเข้าถึงออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต’

 

ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจของ Gallup พบว่า ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่แปดของโลกในการสำรวจความรู้สึกปลอดภัย และความมั่นใจของผู้คนในการบังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่นเมื่อปี 2020 จาก 115 ที่ทั่วโลก โดยอันดับหนึ่งคือ นอร์เวย์ ตามด้วย จีน ไต้หวัน แดนาดา เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising