×

ผู้เชี่ยวชาญประเมินผลกระทบดอลลาร์แข็งค่า ชี้ชาติเอเชียเจ็บหนักสุด แต่ยุโรปก็หนีไม่พ้นเช่นกัน ญี่ปุ่นลั่น พร้อมแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

24.04.2024
  • LOADING...

สกุลเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างเหนียวแน่น และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ กลายเป็นปัจจัยน่าปวดหัวต่อรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกในการสรรหามาตรการรับมือ โดยเฉพาะบรรดาชาติในเอเชียที่เหล่านักวิเคราะห์ประเมินว่าเจ็บหนักสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ 

 

ความกังวลดังกล่าวมีขึ้นหลังเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ และค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน โดยการฟื้นตัวครั้งล่าสุดหลังจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด ยังผลักดันให้ตลาดเลื่อนแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกไปอีก ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่อ่อนไหวระหว่างค่าเงินดอลลาร์กับอัตราดอกเบี้ย

 

ทั้งนี้ ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าก็คือ เอเชีย เริ่มต้นที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 บีบให้ญี่ปุ่นต้องออกมาส่งสัญญาณความจำเป็นที่จะต้องแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน 

 

ขณะที่ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า หลังค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว 7% เมื่อเทียบกับค่าเงินวอนภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว แถมยังทำสถิติสูงสุดในรอบปี ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศหารืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลวอชิงตัน เพื่อพร้อมดำเนินมาตรการจำเป็นหากต้องเข้าแทรกแซงตลาด ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยได้พบบ่อยนัก 

 

James Lord หัวหน้าฝ่าย FX และกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley กล่าวว่า การออกแถลงการณ์ร่วมกันสามฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า หากรัฐบาลเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นต้องการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน สหรัฐฯ ก็ไม่มีความจำเป็นในการคัดค้านแต่อย่างใด 

 

ขณะเดียวกัน ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากค่าเงินดอลลาร์แกร่งก็คือ ค่าเงินรูปีอินเดีย และค่าเงินดองของเวียดนาม ซึ่งขณะนี้สกุลเงินทั้งสองชาติทำสถิติอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่าที่สุดในรอบสี่ปี ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียเริ่มหารือเรื่องการแทรกแซงอย่างจริงจัง 

 

นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนในตลาดต่างจับตาดูค่าเงินหยวนในตลาด ซึ่งอ่อนค่าลงน้อยกว่าบรรดาสกุลเงินอื่นๆ โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งชี้ว่า เงินหยวนที่อ่อนค่าอาจส่งผลบวกต่อภาคการส่งออกของประเทศ แต่รัฐบาลจีนอาจไม่ยอมให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่ามากเกินไป เนื่องจากอาจกระตุ้นให้เงินทุนไหลออกประเทศได้

 

ในส่วนของภูมิภาคยุโรป แม้ว่าค่าเงินยูโรจะไม่ได้อ่อนค่าที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาธนาคารต่างๆ ภายในยุโรปได้ปรับลดการคาดการณ์ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์ลง ซึ่งอาจกระทบต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปีนี้

 

รายงานระบุว่า ก่อนที่จะมีข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ตลาดส่วนใหญ่มองว่า ECB และ Fed กำลังเคลื่อนไหวมุ่งสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ โดยขณะนี้ ECB คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในเดือนมิถุนายน ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed เลื่อนออกไปอยู่ในเดือนกันยายน ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบห้าเดือน 

 

Kenneth Broux หัวหน้าฝ่ายวิจัย FX ของ Societe Generale ชี้ว่า หากเงินยูโรยังคงอ่อนค่าลงต่ำกว่า 1.05 ดอลลาร์สหรัฐ บวกกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ยุโรปก็อาจต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น ECB อาจจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก

 

ญี่ปุ่นพร้อมแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

 

Shunichi Suzuki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เปิดเผยต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ระบุชัดว่า ตนได้เกริ่นถึงความจำเป็นในการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในระหว่างการประชุมไตรภาคีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ Suzuki กล่าวว่า การประชุมกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในครั้งนั้น ทางญี่ปุ่นได้อธิบายถึงผลกระทบสาหัสที่ญี่ปุ่นได้รับจากการที่ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างมาก โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งการหารือในเรื่องดังกล่าว แม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่ได้ระบุชัดเกี่ยวกับการดำเนินการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน แต่ Suzuki อธิบายว่า ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นถือเป็นการปูพื้นวางรากฐานสำหรับญี่ปุ่นในการดำเนินการที่เหมาะสม (ในตลาดสกุลเงิน) เพื่อจัดการค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามากเกินไป 

 

แม้ว่าจะไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ญี่ปุ่นจะดำเนินการอย่างไร แต่คำเตือนครั้งใหม่ล่าสุดนี้มีขึ้นหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น กดให้เงินเยนอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 154.85 เยน นับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 ส่งผลให้ตลาดเริ่มตื่นตัวมากขึ้น สำหรับสัญญาณการแทรกแซงจากรัฐบาลโตเกียวเพื่อหนุนค่าเงินเยน

 

รายงานระบุว่า รัฐบาลของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ตกลงที่จะ ‘ปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิด’ เกี่ยวกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในการเจรจาทางการเงินไตรภาคีครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยสหรัฐฯ ได้ยอมรับข้อกังวลจากโตเกียวและโซลเกี่ยวกับการที่ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

ภายหลังการประชุมไตรภาคี ทั้งสามฝ่ายได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งชี้ว่า คำเตือนที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นจากหัวหน้าฝ่ายการเงินของทั้งสามประเทศ ซึ่งแทรกอยู่ในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม ถือเป็นการยินยอมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐบาลวอชิงตันที่เปิดทางให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อจำเป็น

 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดสกุลเงินครั้งล่าสุดในปี 2022 โดยเริ่มครั้งแรกในเดือนกันยายนและอีกครั้งในเดือนตุลาคม เพื่อพยุงค่าเงินเยน

 

Hideo Kumano หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Dai-ichi Life กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเงินเยนอาจมีความผันผวนในช่วงวันหยุด Golden Week ของญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า ดังนั้นทางการอาจเพิ่มคำเตือนเพื่อให้ผู้ค้าเฝ้าระวังโอกาสของการแทรกแซง ซึ่งไม่ว่าจะมีการแทรกแซงหรือไม่ แต่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากก็ทำให้ตลาดตื่นตัวถึงโอกาสเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่น 

 

ในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำในวันที่ 23 เมษายน Shunichi Suzuki เน้นย้ำว่า ทางการญี่ปุ่นจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อจัดการกับความผันผวนที่มากเกินไปในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พร้อมย้ำว่า ทางการญี่ปุ่นจับตาดูการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างใกล้ชิด และญี่ปุ่นพร้อมดำเนินการมาตรการใดๆ ต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่มากเกินไปโดยไม่ตัดทางเลือกใดๆ

 

ทั้งนี้ ค่าเงินเยนที่ลดลงล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในรอบห้าเดือน และเสริมความคาดหวังว่า Fed ไม่น่าจะเร่งรีบลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 

 

แม้ว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจะช่วยเพิ่มการส่งออก แต่กลับกลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับผู้กำหนดนโยบายของญี่ปุ่น เนื่องจากจะทำให้ค่าครองชีพของครัวเรือนสูงขึ้นจากการผลักดันต้นทุนการนำเข้า และทำให้ราคาสินค้านำเข้าโดยเฉพาะราคาพลังงานแพงขึ้น 

 

แรงกดดันสู่ BOJ เพิ่มขึ้น

 

ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ยังทำให้หลายฝ่ายจับตาดูความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เนื่องจากอาจส่งผลต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปโดย BOJ หลังจากที่ Kazuo Ueda ผู้ว่าการ BOJ ส่งสัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ธนาคารกลางมีความพร้อมที่จะเพิ่มความเข้มงวดในนโยบาย หากเงินเยนอ่อนค่าลง 

 

ทั้งนี้ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวในระหว่างการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 เมษายน ย้ำชัดว่า BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อขยับเข้าสู่เป้าที่ตั้งไว้ที่ 2% 

 

BOJ มีกำหนดจะประชุมหารือพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายการเงินในการประชุมระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน ท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดที่เชื่อว่า BOJ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งในการประชุม BOJ ครั้งก่อนหน้า BOJ คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ในอีกสามปีข้างหน้า 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising