×

IMF เตือน! Higher for Longer อาจสร้างความเสี่ยงต่อภาคธนาคาร บางแห่งอาจซ้ำรอย SVB แนะแบงก์ชาติทั่วโลกยกระดับ Stress Test

18.10.2023
  • LOADING...

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของธนาคารบางแห่งในช่วงปีที่ผ่าน ด้าน IMF เตือนว่า หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นและถูกคงไว้นานขึ้น Higher for Longer อาจมีธนาคารบางแห่งล่มซ้ำรอย Silicon Valley Bank ได้ พร้อมแนะแบงก์ชาติทั่วโลกให้ยกระดับ Stress Test ด้วย

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ธนาคารกลางหลายแห่งอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นและนานขึ้น (Higher for Longer) เนื่องจากยังคงต้องต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่สูงในหลายประเทศ พร้อมระบุว่า “ตลาดการเงินโลกไม่ได้เผชิญกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้มาราวชั่วอายุคนหนึ่งแล้ว”

 

IMF แนะธนาคารกลางทั่วโลกยกระดับ Stress Test

IMF กล่าวอีกว่า ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้หมายความว่า ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ต้องเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่าในการตรวจสอบและค้นหาแบงก์ที่อ่อนแอหรือกำลังมีปัญหา

 

“ผู้กำกับดูแลทางการเงินจะต้องปรับปรุงเครื่องมือ การวิเคราะห์ และการตอบสนองด้านกฎระเบียบใหม่ เพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ และความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อยู่ในระบบธนาคารและอื่นๆ”

 

ด้วยภาวะเช่นนี้ IMF จึงได้ปรับปรุงเครื่องมือทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) โดยมุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และรวมเอาแรงกดดันด้านเงินทุนที่ทำให้ธนาคารบางแห่งล่มไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ IMF ยังพัฒนาเครื่องมือเฝ้าระวังใหม่สำหรับการติดตามความเปราะบางของธนาคาร โดยใช้การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และตัวชี้วัดแบบดั้งเดิม

 

โดยเครื่องมือตรวจสอบเหล่านี้อิงจากข้อมูลสาธารณะและมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการทดสอบภาวะวิกฤต ซึ่งร่วมกันจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ และทีมงาน IMF-World Bank 

 

Higher for Longer จะกระทบภาคธนาคารอย่างไร

IMF กล่าวอีกว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นถือเป็นความเสี่ยงสำหรับธนาคารเช่นกัน แม้ว่าหลายธนาคารจะได้รับผลประโยชน์จากการเก็บดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากลูกค้าเงินกู้ ขณะที่รักษาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้อยู่ในระดับต่ำ 

 

อย่างไรก็ตาม หนี้สูญ (Loan Losses) ก็อาจเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้บริโภคและธุรกิจที่ต้องเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหากการสูญเสียงานเพิ่มขึ้นหรือรายได้ของภาคธุรกิจลดลง

 

นอกจากความเป็นไปได้ที่ธนาคารอาจขาดทุนจากสินเชื่อแล้ว ธนาคารหลายแห่งยังลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้อื่นๆ ซึ่งจะสูญเสียมูลค่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

 

ดังนั้นธนาคารอาจถูกบังคับให้สินทรัพย์เหล่านี้โดยขาดทุน หากเผชิญกับการถอนเงินฝากกะทันหัน (Bank Run) หรือแรงกดดันทางการเงินอื่นๆ ก็อาจมีธนาคารเดินตามรอย Silicon Valley Bank ได้

 

เผยผลการทดสอบภาวะวิกฤตแบงก์ทั่วโลก

IMF ยังเปิดเผยผล Stress Test กับธนาคารเกือบ 900 รายใน 29 ประเทศ พบว่า ระบบธนาคารทั่วโลกในวงกว้างดูเหมือนจะมีความยืดหยุ่น (Resilient)

 

โดยในกรณีฐาน (Baseline Scenario) คาดว่าจะมีกลุ่มธนาคาร 30 แห่งที่มีความเปราะบาง รวมกันคิดเป็นประมาณ 3% ของสินทรัพย์ธนาคารทั่วโลก

 

แต่หากถูกรุมเร้าด้วยภาวะ Stagflation อย่างรุนแรง ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวราว 2% พร้อมเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ควบคู่ไปกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่สูงขึ้น ความเสียหายก็จะใหญ่ขึ้น โดยจำนวนสถาบันที่อ่อนแอจะเพิ่มขึ้นเป็น 153 แห่ง และคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของสินทรัพย์ธนาคารทั่วโลก 

 

IMF

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising