ภายใต้โครงการ ช้อปดีมีคืน ปี 2566 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือ และค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จากส่วนที่เกิน (1) จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น
ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการบางชนิด ได้แก่ ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ขณะที่ ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ส่วนที่มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2566 แตกต่างไปจากรอบก่อนหน้านี้คือ ‘วงเงิน’ โดยปีนี้เป็นปีพิเศษที่กรมสรรพากรจะโปรโมตการใช้ e-Tax Invoice และ e-Receipt โดยวงเงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นบาท โดย 3 หมื่นแรกสามารถใช้แบบเดิมได้ แต่หมื่นที่ 4 จะต้องซื้อในร้านค้าที่มีระบบ e-Tax Invoice โดยในปี 2566 นี้ กรมสรรพากรวางแผนว่าจะเดินหน้าเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและเต็มรูปแบบ
โดยกรมสรรพากรยังประเมินว่า ช้อปดีมีคืนรอบนี้น่าจะมีคนใช้งานถึง 1.4 ล้านคน และจะมีเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 12,000 ล้านบาท แม้ว่าจะสูญเสียภาษีไปประมาณ 6,200 ล้านบาทก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วิเคราะห์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ การจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ พร้อมเปิด 10 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย
- คลังเปิดตัวมาตรการปีใหม่ 2566 คาดกระตุ้นการใช้จ่าย-ลงทุนกว่า 2.78 แสนล้านบาท เพิ่มวงเงิน ‘ช้อปดีมีคืน’ ลดหย่อนภาษีสูงสุด 4 หมื่นบาท
- รู้จัก Property Backed Loan ตัวช่วยแปลงที่ดินเป็นเงินลงทุน หาผลตอบแทนสู้กลับภาษี
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย