×

‘นมโอ๊ต’ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ ‘เจ๋งจริง’ หรือแค่เวทมนตร์ทางการตลาด?

30.10.2022
  • LOADING...

ในช่วง 2 ปีมานี้ นมทางเลือกจากพืชเริ่มเข้ามากระชับพื้นที่บนชั้นวางผลิตภัณฑ์นมในซูเปอร์มาร์เก็ต จากตอนแรกที่นมถั่วเหลืองเป็นตัวเลือกเดียวของกลุ่มมังสวิรัติและคนที่ไม่สามารถย่อยแล็กโทสได้ แต่ไม่นานนักนมอัลมอนด์ก็เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมา ก่อนที่สงครามนมทางเลือกจะเกิดขึ้นด้วยการเผยแพร่ข้อมูลว่าการผลิตนมพืชแบบไหนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน

 

ส่วนตอนนี้นมพืชที่ได้รับความนิยมชนิดที่ว่าเดินไปทางไหนก็เจอคือ ‘นมโอ๊ต’ ด้วยรสชาติที่คล้ายกับนมวัวที่คุ้นเคย เนื้อนุ่มเนียนของนมโอ๊ตสามารถใช้ทดแทนนมวัวในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้ดี รวมไปถึงประโยชน์ของนมโอ๊ตที่ว่ากันว่าดีต่อสุขภาพ ไม่มีคอเลสเตอรอล ไม่มีกลูเตน ไม่มีส่วนผสมของถั่ว ไม่ว่าจะร้านกาแฟหรือชานมก็เริ่มสรรหานมโอ๊ตมาเป็นตัวเลือกเพื่อสุขภาพให้กับลูกค้า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดโลกของนมโอ๊ตนั้นว่าจะเติบโตขึ้นไปถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2026 ส่วนตลาดนมโอ๊ตในเอเชียแปซิฟิกนั้นมีส่วนแบ่งมากกว่า 45.0% ในปี 2020 ด้วยการเปลี่ยนแปลงไปของไลฟ์สไตล์ผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงแนวโน้มการตรวจพบโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้นในชาวเอเชีย และเทรนด์การออกกำลังกายที่ทำให้ผู้คนต้องการอาหารโปรตีนสูงเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดนมโอ๊ตเติบโตในภูมิภาคนี้

 

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อเทียบกับนมพืชแบบอื่น นมโอ๊ตดูเป็นนมพืชที่สนุกกว่าใครด้วยรสชาติที่หลากหลาย ผู้ผลิตจากหลายแบรนด์ล้วนเข็นออกมาแข่งขันกัน ไม่ว่าจะเป็นรสเฮเซลนัท รสมอคค่า รสมะพร้าว ไปจนถึงรสเบอร์รี ทำให้ผู้คนติดใจกันเพราะมีรสชาติหวาน หอม อร่อย และหลากหลาย

 

แบรนด์นมโอ๊ตที่เราคุ้นเคยกันดีก็เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Oatly ที่มีบรรจุภัณฑ์น่ารัก มีลูกเล่น และตีตลาดด้วยวิธีที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น แทนที่พวกเขาจะวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป พวกเขาเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในร้านกาแฟแทน

 

Oatly เริ่มจากการมองหาร้านกาแฟที่เป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่แล้วเข้าไปแนะนำผลิตภัณฑ์ อย่าง Intelligentsia Coffee ก็เป็นร้านกาแฟแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ที่มี Oatly วางจำหน่าย และพวกเขายังมีกิมมิกเล็กน้อยในเว็บไซต์ของตัวเองที่ทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาค้นหาร้านกาแฟที่มี Oatly เป็นทางเลือกสำหรับกาแฟนมของพวกเขาได้อีกด้วย

 

ย้อนกลับไปกลางปีที่แล้ว Oatly บริษัทนมข้าวโอ๊ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เข้า IPO เป็นที่เรียบร้อยแล้วในสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าการระดมทุนกว่า 1.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท 

 

โดยทันทีที่เข้าสู่กระดานหุ้น ราคาได้พุ่งจากราคา IPO ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 22 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มูลค่าบริษัทของ Oatly พุ่งขึ้นไปเป็น 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4.3 แสนล้านบาท

 

ส่วนแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูสีกันอย่าง Oatside ก็โดดเด่นด้วยดีไซน์บรรจุภัณฑ์ที่สีสันสดใสและสนุกขี้เล่น ด้วยตัวละครหมีในเสื้อฮาวายสีแดงที่โผล่ในทุกที่ ตั้งแต่กล่องนม เว็บไซต์ ป้ายโฆษณา รวมไปถึงคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ของพวกเขาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน สดใส น่ารัก และอาร์ตเวิร์กแบบเรียบง่ายโดนใจคนรุ่นใหม่

 

การจะตีตลาดคนรุ่นใหม่ก็ต้องโฟกัสที่เครื่องดื่มที่พวกเขาดื่มทุกวันอย่างกาแฟ ซึ่ง Oatly ก็เอาใจสายกาแฟด้วยการออกผลิตภัณฑ์พิเศษเป็นนมโอ๊ตสูตร Barista Edition ที่มีปริมาณไขมันสูงกว่า และ Oatside เองก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ออกนมโอ๊ตแบบ Barista Blend ออกมาเช่นกัน ด้วยนมโอ๊ตสูตรพิเศษเหล่านี้ ทำให้บาริสต้าสามารถใช้นมโอ๊ตเทลาเต้อาร์ตได้อย่างสวยงามไม่แพ้นมวัว ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากนมพืชอื่นที่ไม่สามารถทำได้

 

แต่นมโอ๊ตนั้นดีต่อสุขภาพขนาดนั้นจริงหรือ? ซูซานน์ ฟิชเชอร์ นักกำหนดอาหารและผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ ให้ความคิดเห็นเอาไว้ว่า ผู้คนชอบนมโอ๊ตเพราะรสชาติที่เข้มข้นหวานมัน มีสารก่อภูมิแพ้ต่ำ แต่ว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย เพราะนมโอ๊ตนั้นมีโปรตีนที่ค่อนข้างต่ำต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

 

ฟิชเชอร์บอกว่า นมโอ๊ต 1 แก้วนั้นมีโปรตีนเพียงแค่ 3-4 กรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับนมแฟลกซ์ซีดหรือนมวัวที่มีโปรตีนถึง 8 กรัมต่อ 1 แก้ว ส่วน เจสสิก้า โอเวอร์ฟิลด์ นักโภชนาการ ก็ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโปรตีนในนมโอ๊ตเอาไว้ว่า นมโอ๊ตเป็นนมทางเลือกที่มีปริมาณโปรตีนน้อยที่สุด สำหรับคนที่กินมังสวิรัติและมองหาโปรตีนในอาหารอยู่ก็ควรเลือกเป็นนมประเภทอื่นมากกว่า อย่างนมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์

 

มาดูทางด้านอื่นกันบ้าง ฟิชเชอร์ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่านมโอ๊ตนั้นนอกจากจะมีปริมาณโปรตีนที่ต่ำแล้ว ยังจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงถึง 15 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอีกด้วย ซึ่งนับว่าสูงมากทีเดียว เมื่อเทียบกับนมอัลมอนด์ที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตแค่ 1 กรัมเท่านั้น

 

อีกหนึ่งเหตุผลที่นมโอ๊ตอาจจะไม่ได้ดีต่อสุขภาพขนาดนั้นคือเอนไซม์ที่ใช้ย่อยข้าวโอ๊ตในกระบวนการผลิต ฟิชเชอร์บอกว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้เอนไซม์นั้นคือน้ำตาลและมอลโตสที่ทำให้นมโอ๊ตมีรสชาติหวาน แต่ผลเสียของมันคือการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็ว เพราะน้ำตาลมอลโตสนั้นมีดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 105 ซึ่งสูงกว่าน้ำตาลกลูโคสด้วยซ้ำ

 

แต่เธอก็ได้ให้ทางเลือกไว้ว่า หากอยากดื่มนมโอ๊ตจริงๆ การดื่มนมโอ๊ตพร้อมกับกินอาหารที่มีปริมาณสารอาหารมากอย่างซีเรียลที่มีปริมาณเส้นใยสูง หรือข้าวโอ๊ตที่ปรุงสุกแล้วก็สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำตาลในเลือด ก็ควรปรึกษานักโภชนาการก่อนที่จะเลือกดื่มนมโอ๊ต

 

ภาพ: denira / Shutterstock

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X