×

กูรูห่วง ‘บาทอ่อน’ ซ้ำเติมเงินเฟ้อ เพิ่มภาระค่าครองชีพ กดดันแบงก์ชาติอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยก่อนเศรษฐกิจพร้อม

26.04.2022
  • LOADING...
บาทอ่อน

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงเงินบาทอ่อนซ้ำเติมเงินเฟ้อ ส่งออก-ราคาสินค้าเกษตรอาจไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ชี้อาจกดดันแบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยก่อนเศรษฐกิจพร้อม

 

สถานการณ์เงินบาทไทยยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ (26 เมษายน) เงินบาทอ่อนค่าลงมาแตะระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับการอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีนับจากเดือนกรกฎาคม 2560 อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้อาจไม่ได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research วิเคราะห์ถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าจนหลุดกรอบ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้อาจไม่ได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นเดียวกับในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพของภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

พิพัฒน์กล่าวว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์เงินเฟ้อไทยที่มีสาเหตุหลักมาจากฝั่งอุปทาน คือ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยับขึ้นจากปัญหาสงครามและซัพพลายดิสรัปชัน การที่เงินบาทอ่อนอาจยิ่งสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นจากการที่ไทยนำเข้าน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนที่สูง 

 

“โดยปกติเวลาที่บาทอ่อน เรามักจะมองว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเราพึ่งพาส่งออกและท่องเที่ยวสูง แต่รอบนี้อาจไม่แน่ เพราะต้นทุนการผลิต เช่น ค่าขนส่งและปุ๋ยก็สูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่าเราจะขายของได้ราคาดีขึ้น แต่อาจไม่ได้แปลว่ากำไรดีขึ้นไปด้วย พูดง่ายๆ คือ คนที่เคยเป็น Winners จากบาทอ่อนอาจไม่ได้ประโยชน์เท่าเดิม ส่วนคนที่เป็น Losers ซึ่งเจ็บหนักอยู่แล้วก็จะยิ่งถูกกระทบ” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์ประเมินว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่จะยิ่งห่างมากขึ้นจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นแรงกดดันให้เงินบาทในปีนี้เคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางอ่อนค่า โดยมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทอาจอ่อนค่าไปถึงระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

“ช่วงไตรมาส 2 นี้เงินบาทอาจอ่อนเป็นพิเศษ เพราะมีปัจจัยเรื่องการโอนเงินปันผลออกนอกประเทศด้วย ตอนนี้เราหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังหรือไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจะกลับมาทำให้บาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ถ้านักท่องเที่ยวไม่กลับมา ในขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ ห่างออกไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้บาทอ่อน” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์ระบุว่า ค่าเงินที่มีโอกาสอ่อนค่าลงนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้นไปอีกจากต้นทุนสินค้านำเข้า และอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่กดดันให้แบงก์ชาติต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นก่อนที่แบงก์ชาติต้องการ หรือก่อนที่เศรษฐกิจจะพร้อมก็ได้

 

นอกจากนี้ แม้ว่าแบงก์ชาติจะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อว่าแบงก์ชาติจะสามารถรักษาดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำได้นานนัก อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศก็อาจจะเริ่มขยับตามอัตราดอกเบี้ยนอกประเทศได้ และตอนนี้เราก็เริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยตลาดบอนด์ อย่างรุ่นอายุ 2 ปี ขยับขึ้นถึงเกือบ 1% ในแค่ 3 เดือนที่ผ่านมา

 

“จริงอยู่ว่าเรามีเงินทุนสำรองจำนวนมากและสามารถนำมาใช้แทรกแซงเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินได้ แต่บทเรียนที่เราเห็นหลายต่อหลายครั้งคือ การแทรกแซงค่าเงินสามารถลดความผันผวนในระยะสั้นได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของแรงกดดันด้านค่าเงินได้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องปัจจัยพื้นฐาน” พิพัฒน์กล่าว

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในทางทฤษฎีแล้วเงินบาทอ่อนค่าจะช่วยการส่งออก การท่องเที่ยว เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่หากอ่อนค่ามากเกินไปจะมีผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น เสมือนเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศมากขึ้น การบริโภคอาจไม่ได้เร่งขึ้นแม้มีรายได้จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เพราะกำลังซื้อแผ่วจากรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี และเหล็ก ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้ทั้งหมด กลุ่มที่ต้องอาศัยสัดส่วนการนำเข้าที่สูงเพื่อประกอบและส่งออก อาจไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากเงินบาทอ่อนค่าแรงชั่วคราวในช่วงไตรมาส 2 นี้ 

 

“ญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาพนี้ หลังเงินเยนอ่อนค่าเฉียดระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่ามากกว่า 10% ไปแล้วนับจากต้นปี แม้จะเป็นประเทศส่งออกสุทธิ แต่การส่งออกไม่ดีตามคาด ทั้งจากการที่บริษัทเผชิญปัญหาบริหารงบการเงิน ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ การบริโภคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นเร็ว และมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะแตะระดับ 2% เร็วๆ นี้” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญกดดันเงินเยนอ่อนค่า มาจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำและคงมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง โดยไม่สนใจว่าสหรัฐฯ และประเทศสำคัญอื่นจะดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ภาวะเช่นนี้นักลงทุนอาจเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าเงินเยนจะอ่อนไปได้อีก และอาจทำให้ตลาดผันผวนได้ในเดือนข้างหน้า จึงต้องจับตาว่านักลงทุนหรือนักเก็งกำไรค่าเงินจะมองเงินบาทว่ามีภาพคล้ายกับเงินเยนหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ธนาคารกลางจะยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำลากยาวเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาจปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า 

 

“เรามองว่าเงินบาทน่าจะไปแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางปีนี้ แต่หากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกระทบเงินไหลออกหรือราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าคาด ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปได้อีกถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และน่าจะมีผลให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับมุมมองว่าจะควบคุมการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน หรือจะปล่อยให้บาทอ่อนเพื่อช่วยผู้ส่งออก แต่ก็อาจช่วยได้ไม่มาก เพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือสูง และขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิต” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพระบุว่า ในภาพรวมการอ่อนค่าที่อาจเร็วและแรงของเงินบาทรอบนี้อาจไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ดีเช่นในอดีต เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงจะยิ่งกดดันการบริโภคให้ฟื้นตัวช้า อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำ ส่วนผู้ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนมีไม่มาก น่าจะอยู่ในกลุ่มที่ใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นหลัก แต่กลุ่มที่ต้องนำเข้าเพื่อส่งออกจะเผชิญต้นทุนการนำเข้าที่สูง แต่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้ทั้งหมด 

 

ดังนั้นในช่วงไตรมาส 2 นี้ ผู้ส่งออกอาจเตรียมบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้ดี ทั้งการทำ Natural Hedging หรือใช้รายได้จากการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐมาจ่ายการนำเข้า การฝากเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือผู้นำเข้าเองน่าจะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้าง แม้เรามองว่าบาทน่าจะอ่อนค่าแรงที่สุดถึงช่วงกลางปี ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม

 

ขณะที่ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในเวลานี้อาจสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อในประเทศยิ่งปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนที่สูง โดยล่าสุดศูนย์วิจัยฯ ได้ประเมินกรอบเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.8-4.5% 

 

“เรามองว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีนี้จะยืนอยู่ที่ระดับ 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งการที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงและบาทอ่อนจะทำให้เราขาดดุลจากการนำเข้า ขณะที่ภาคการผลิตก็จะต้องนำเข้าวัตถุดิบแพงขึ้นและไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนได้เต็มที่ สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายของไทยที่ต้องดูแลทั้งเงินเฟ้อและฟื้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน” เกวลินกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising