×

ใจเย็นๆ ‘เนื้อเสือร้องไห้ย่าง’ ยังเป็นของไทย สรุปทุกประเด็นการจดทะเบียนการค้าเสือร้องไห้ในมาเลเซีย

15.01.2021
  • LOADING...
ใจเย็นๆ ‘เนื้อเสือร้องไห้ย่าง’ ยังเป็นของไทย สรุปทุกประเด็นการจดทะเบียนการค้าเสือร้องไห้ในมาเลเซีย

หลังจากมีการเผยภาพสกรีนจากแอปพลิเคชัน MyIPO ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเลเซีย เกี่ยวกับเอกสารยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘Harimau Menangis’ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ‘เสือร้องไห้’ ของบริษัท Noor Khan Enterprise สร้างกระแสความไม่พอใจให้ชาวมลายู และคนไทยจนกลายเป็นไวรัลถกเถียงกันอย่างเป็นวงกว้างในโลกอินเทอร์เน็ต ทว่าไม่ต้องกลัวไปว่าเนื้อเสือร้องไห้ย่างจะกลายเป็นอาหารมาเลเซียไป เพราะหลังเราไปติดตามและถามผู้เชี่ยวชาญมาจนเข้าใจ เนื้อเสือร้องไห้ย่างของเรายังคงอยู่ และเจ้าของเรื่องก็ล้มเลิกยื่นจดทะเบียนแล้วเรียบร้อย

 

ธุรกิจเนื้อเสือร้องไห้ย่างต้นเหตุเรื่องราว

Datin Noor Kartini Noor Mohamed แม่ของนักแสดงและเซเลบริตี้ชื่อดังของมาเลเซีย Noor Neelofa Mohd Noor เจ้าของบริษัท Noor Khan Enterprise มีโปรดักต์ใหม่ขาย นั่นคือเนื้อเสือร้องไห้ย่างพร้อมกิน ด้วยกลัวว่าสินค้าของเธอจะถูกเลียนแบบ เธอเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มี คำว่า ‘Harimau Menangis’ ซึ่งแปลว่า ‘เสือร้องไห้’ ในภาษามลายู โดยเผยภาพสกรีนหน้าจอยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้วต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเลเซีย (MyIPO) ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกยื่นเอาไว้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 โดยยังขึ้นสถานะอัปเดตเอกสารไว้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ว่า ‘อยู่ระหว่างการพิจารณา’ 

 

ระหว่างที่กำลังถกเถียงกันว่าทำได้หรือไม่ในโลกอินเทอร์เน็ต เธอยังเติมเชื้อไฟไปอีก ด้วยการโพสต์คลิปทำเนื้อเสือร้องไห้ย่างใน IG ส่วนตัว ทำนองว่าตอนนี้เธอมีเครื่องหมายการค้า Harimau Menangis ของตนเองแล้ว และต่อไปคนอื่นอาจต้องใช้คำว่า Harimau Mengilai หรือ Harimau Beranak แทน

 

ความโกรธเกรี้ยวของชาวเน็ตลุกลามถึงเมืองไทย

เมื่อชาวเน็ตเห็นคลิปใน IG ต่างมีคำถามต่อการจดทะเบียนในครั้งนี้ หลายคนกังวลถึงผลกระทบของร้านอาหารขนาดเล็กที่เปิดขายจานเสือร้องไห้ และถามหาความชอบธรรม เพราะเมนูนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย ชาวทวิตเตอร์หลายคนจึงช่วยกันเรียกร้องให้ชาวมาเลเซียส่งคำร้องเพิกถอนไปยัง MyIPO ขณะเดียวกันก็มีคนตั้งคำถามต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญามาลาเซียว่า “เราสามารถจดทะเบียนอาหาร ที่ไม่ได้ถูกคิดค้นด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ด้วยหรือ” 

 

ทางด้านทวิตเตอร์ชาวไทยที่รู้เรื่องนี้ต่างพากันไม่พอใจ เพราะคิดว่ามาเลเซียกำลังแย่งอาหารไทยไปเป็นของชาติตน เช่นเดียวกับเคสอื่นอย่าง ซอสพริกศรีราชา เป็นอาทิ

 

ถอนคำร้อง บทสรุปของปัญหา

หลังจากรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนาหูภายในคืนเดียว ทาง MyIPO ก็ออกมาชี้แจงว่า ใบสมัครของ Noor Kartini ในเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ และยังไม่ได้รับการอนุมัติ ขณะเดียวกันพวกเขาหวังว่า Noor Kartini จะไม่อ้างว่า ‘Harimau Menangis’ เป็นเครื่องหมายการค้าภายใต้เธอ

 

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด Noor Kartini ก็ตัดสินใจถอดแบบยื่นเครื่องหมายการค้า โดยเธอให้เหตุผลว่า เธอยื่นเรื่องเครื่องหมายการค้าแบบการค้าในส่วนแบบตัวอักษร และสีของบรรจุภัณฑ์ ไม่ได้ตั้งใจยื่นคำรวม ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าลอกเลียนแบบในตลาด และแบรนด์ก็ไม่เคยห้ามใครขายอาหารจานเดียวกัน

 

“ฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะไปขวางทางทำมาหากินของใคร ฉันหวังว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขและจะไม่ยืดเยื้อ” Noor Kartini กล่าว

 

วิเคราะห์การยื่นและผลกระทบต่อประเทศไทยหาก Noor Kartini ได้เครื่องหมายการค้า

 

THE STANDARD POP ต่อสายตรงไปขอคำแนะนำจาก ‘รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าการยื่นของ Noor Kartini จะสำเร็จหรือไม่ และจะเป็นอย่างไรหากเธอได้เครื่องหมายการค้า

 

“ผมไม่สามารถตอบได้ละเอียดนักสำหรับกฎหมายในมาเลเซีย แต่เรามีหลักสากลในแต่ละประเทศคล้ายๆ กัน คือไม่ขัดต่อกฎหมายใหญ่ และกฎหมายระหว่างประเทศ ฉะนั้น ในเคสนี้ผมคิดว่าไม่น่าจะต่างจากบ้านเรามากนัก

 

โดยปกติ ถ้าเป็นการยื่นในลักษณะนี้ ทางผู้ยื่นจะไม่สามารถยื่นสำเร็จ เนื่องจากคำที่ยื่นเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมประเภทอาหารเช่นเดียวกัน แต่หากยื่นจดทะเบียนในแง่ของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร มีความเป็นไปได้สูงว่า การจดทะเบียนในครั้งนี้จะสำเร็จ

 

และหากสำเร็จจริง ผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยมาก เนื้อเสือร้องไห้ย่างยังคงเป็นของเรา และหากเธอต้องการจดเครื่องหมายการค้าที่ไทย อาจถูกปัดตกสูง

 

อย่างก็ดี อาจารย์ยังเสริมอีกว่า “อันที่จริง คำที่เธอใช้จดทะเบียนคือคำว่า ‘Harimau Menangis’ ซึ่งแปลว่า ‘เสือร้องไห้’ เป็นคำที่อธิบายถึงชิ้นส่วนของเนื้อวัวมากกว่าเมนูอาหาร คำชนิดนี้เป็นคำรวม ซึ่งเธอไม่สามารถขอยื่นได้แน่นอน ยกเว้นเสียว่าจะมาพร้อมภาพ หรือทำในแง่ของเครื่องหมายการค้า แต่ก็มีโอกาสสูงมากที่จะโดนคำร้องของเพิกถอน” 

 

เสือร้องไห้ เป็นเมนูอาหารอีสานบ้านเรา ที่ปรุงโดยการนำเนื้อส่วนอกของวัว หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Brisket มาย่างบนเตาถ่านให้สุกพอดี แล้วหั่นเป็นชิ้นๆ รับประทานกับน้ำจิ้มแจ่วรสแซ่บ เป็นหนึ่งเมนูยอดฮิตในร้านอาหารไทย ที่ชาวมลายูนิยมสั่ง สำหรับใครที่กังวลว่าเมนูเนื้อเสือร้องไห้ย่าง ที่เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวและน้ำจิ้มแจ่วจะถูกขโมยไปเป็นอาหารต่างชาติ ตอนนี้สบายใจได้แล้ว หายห่วง!

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising