×

เกรตา ธันเบิร์ก ตัวแทนคนรุ่นใหม่หรือแค่เด็กก้าวร้าวที่สั่นคลอนความเป็นผู้ใหญ่ในสังคมโลก

26.09.2019
  • LOADING...
Greta Thunberg

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ เกรตา ธันเบิร์ก เด็กหญิงชาวสวีเดนวัยเพียง 15 ปีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เริ่มต้นจากตอนที่เธอขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 24 (COP24) ที่โปแลนด์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา 
  • บนเวทีนั้นธันเบิร์กได้กระตุ้นเตือนและชวนให้สำรวจตรวจสอบตัวเองว่าผู้ใหญ่กำลังทิ้งภาระให้ลูกหลานหรือคนรุ่นต่อๆ ไปอยู่หรือไม่ ทำไมถึงละเลยและไม่ลงมือทำอะไรบางอย่างในขณะที่ยังทำได้ เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้
  • ด้วยหน้าตาที่จริงจัง น้ำเสียงที่หนักแน่น และความคิดที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ ทำให้เกิดกระแสโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของธันเบิร์กที่อาจจะดูเข้าข่ายก้าวร้าวในสายตาของผู้ใหญ่บางคน ในขณะที่อีกส่วนมองว่าเธอคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

จากความเชื่อที่ว่า ‘คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้’ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ เกรตา ธันเบิร์ก เด็กหญิงชาวสวีเดนวัยเพียง 15 ปีในตอนนั้น เริ่มหยุดเรียนและมาประท้วงบริเวณหน้ารัฐสภาสวีเดนเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2018 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

Greta Thunberg

 

ก้าวแรกของ เกรตา ธันเบิร์ก บนเวทีโลก

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอถูกพูดถึงและเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 24 (COP24) ที่โปแลนด์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ธันเบิร์กได้กระตุ้นเตือนและชวนให้สำรวจตรวจสอบตัวเองว่าผู้ใหญ่กำลังทิ้งภาระให้ลูกหลานหรือคนรุ่นต่อๆ ไปอยู่หรือไม่ ทำไมไม่ช่วยกันรักษ์โลกหรือลงมือทำอะไรบางอย่างในขณะที่ยังทำได้

 

เสียงของเด็กผู้หญิงที่ครั้งหนึ่งอาจจะเคยถูกมองด้วยสายตาชวนสงสัยว่าเธอกำลังทำอะไร ออกมาเรียกร้องทำไม กลายเป็นเสียงที่ทรงพลังและมีคนได้ยินเพิ่มมากขึ้น เรื่องราวของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของโลกใบนี้ ซึ่งหมายรวมถึงอนาคตของพวกเราทุกคนและคนรุ่นต่อๆ ไป จนทำให้แคมเปญ Fridays For Future ของเธอที่นัดหยุดเรียนวันศุกร์และออกไปเดินขบวนประท้วงได้รับแรงสนับสนุนเป็นอย่างมาก

 

ความตั้งใจจริงของเธอทำให้เธอได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ambassador of Conscience Award จากองค์การนิรโทษกรรมสากล รวมถึง Right Livelihood Award ที่รู้จักกันในฐานะรางวัลโนเบลทางเลือก (Alternative Nobel Prize) ประจำปี 2019 โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธันเบิร์กได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้อีกด้วย ซึ่งจะประกาศผลรางวัลในเดือนตุลาคมนี้ หากเธอได้รับรางวัล เธอจะกลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัย 16 ปี 

 

Greta Thunberg

 

การต่อสู้ที่ถูกตั้งคำถามจากผู้ใหญ่ (บางคน) ในสังคมโลก

เกรตา ธันเบิร์ก กลายเป็นภาพตัวแทนพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคม เธอเดินทางเข้าร่วมขบวนประท้วงตามเมืองสำคัญต่างๆ โดยตัดสินใจที่จะเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเรือพลังงานแสงอาทิตย์จากท่าเรือในสหราชอาณาจักร เพื่อให้การเดินทางของเธอมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติวาระพิเศษ (UN Climate Action Summit 2019) ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

และแน่นอนว่าธันเบิร์กได้ใช้พื้นที่บนเวทีโลกในครั้งนี้ทวงถามและกระตุ้นจิตสำนึกของพลเมืองโลกอีกครั้ง พร้อมกล่าวตำหนิบรรดาผู้นำโลกว่ามัวแต่สนใจตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและละเลยการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกอย่างจริงจัง จนทำให้ทั่วโลกต่างจับจ้องมาที่เธออีกครั้ง

 

“ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลาย เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดมีแต่เรื่องเงินและเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด คุณกล้าดียังไง!”

 

Greta Thunberg

 

ด้วยหน้าตาที่จริงจัง น้ำเสียงที่หนักแน่น และความคิดที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ ทำให้เกิดกระแสโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของธันเบิร์กที่อาจจะดูเข้าข่ายก้าวร้าวในสายตาของผู้ใหญ่บางคน 

 

ซึ่งก็มีความพยายามที่จะอธิบายว่าพฤติกรรมที่เธอแสดงออกนั้นอาจเป็นผลพวงมาจากอาการ Asperger Syndrome เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติและจัดอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก มักจะย้ำคิดย้ำทำ ทำพฤติกรรมซ้ำๆ จริงจังกับเรื่องบางเรื่องมากเกินไปจนแสดงออกมาทางสีหน้าท่าทางในลักษณะนั้น

 

ความเป็นเด็กของเธอถูกผูกโยงเข้ากับพื้นที่ทางการเมืองซึ่งมักจะถูกสงวนไว้ให้เป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นต่างจากจุดยืนของเธอ และมองการกระทำของเธอเป็นเพียงแค่เด็กที่ร้องอยากจะได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่งโดยไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงว่าโลกของการเมืองและสังคมโลกมันมีผลประโยชน์และองค์ประกอบอื่นๆ ซ้อนทับและเกี่ยวโยงกันมากมาย

 

นอกจากนี้ธันเบิร์กยังถูกมองในเชิงลบว่าเธอเป็นเด็กที่ต้องการชื่อเสียง ถูกล้างสมอง และกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

Greta Thunberg

 

คำถามคือต้องอายุเท่าไรจึงจะมีสิทธิลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ ธันเบิร์กและกลุ่มผู้สนับสนุนจุดยืนของเธอล้วนเป็นกระจกสะท้อนบานใหญ่ว่าบรรดากลุ่มคนรุ่นใหม่มองสิ่งที่คนรุ่นก่อนหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไปอย่างไร รัฐบาลแต่ละประเทศประสบความสำเร็จหรือประสบความล้มเหลวมากน้อยแค่ไหนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 

 

หากในวันนั้นธันเบิร์กไม่ได้ก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการต่อสู้กับปัญหานี้ในเวทีโลก เราเชื่อว่าจะมีเด็กคนอื่นๆ อีกมากมายที่มีจุดยืนเหมือนกันกับเธอออกมาแสดงพลังเช่นเดียวกันนี้จากข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติหรือความผิดปกติด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลก รวมถึงอุณหภูมิความร้อนที่สัมผัสผิวกาย น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งสัญญาณบอกกับตัวเราเองได้ว่าภาวะโลกร้อนนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตกันแล้วหรือยัง

 

Greta Thunberg

 

Greta Thunberg is not alone.

โดยวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2019 จะเป็นวันสุดท้ายของ Global Climate Strike ครั้งใหญ่ที่จัดยาวนานต่อเนื่องนานถึง 8 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วทุกมุมโลกต่างนัดกันเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศ กลุ่มธุรกิจต่างๆ รวมถึงพลเมืองโลกทุกคนช่วยกันคำนึงถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาด้านขยะพลาสติก ภาวะโลกร้อน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น 

 

“เด็กอย่างพวกเราไม่น่าจะต้องออกมาทำอะไรแบบนี้ แต่เมื่อไม่มีใครทำอะไรและอนาคตของพวกเรากำลังตกอยู่ในอันตราย พวกเรารู้สึกว่าเราต้องเดินหน้าทำสิ่งนี้ต่อไป เพราะเราต้องการความหวังและความฝันของพวกเรากลับคืนมา”

 

ธันเบิร์กทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (@GretaThunberg) ระบุว่าจะมีผู้เข้าร่วม Global Climate Strike ในวันสุดท้ายนี้กว่า 4 ล้านคน โดยมีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น 6,383 แห่ง ใน 170 ประเทศ ใน 7 ทวีปทั่วโลก รวมพลังกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับโลกใบนี้

 

เพราะโลกใบนี้จะถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป ‘คุณกล้าดียังไง’ ที่จะไม่คำนึงถึงพวกเขา ทั้งๆ ที่พวกเขาก็มีสิทธิเป็นพลเมืองโลกนี้เหมือนกันกับคุณ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • เกรตา ธันเบิร์ก จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 25 หรือ COP25 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงซานติอาโก ชิลี ระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคมนี้ คาดว่าสุนทรพจน์ของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปีรายนี้จะถูกจับจ้องและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมโลกอีกครั้งอย่างแน่นอน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising