×

รัฐสภาถามความคืบหน้า ‘แลนด์บริดจ์’ รัฐบาลตอบศึกษาประโยชน์-ความคุ้มค่ารอบคอบ ต่างประเทศสนใจร่วมลงทุน

โดย THE STANDARD TEAM
18.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (18 มกราคม) ที่รัฐสภา ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าตอบกระทู้ถามสดแทน

 

ศรีญาดาได้ตั้งกระทู้ถามถึงผลสำเร็จที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เดินทางไปโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ว่ามีผลตอบรับเป็นอย่างไรและต่างประเทศมีความสนใจมากน้อยเพียงใด และในกรณีที่ประชาชนคัดค้านต่อโครงการแลนด์บริดจ์นั้น รัฐบาลมีแนวทางดำเนินการอย่างไร 

 

ขณะที่สุรเชษฐ์ได้กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการร่วมทุนที่มีขนาดใหญ่กว่าล้านล้านบาท ตนเข้าใจดีที่นายกฯ ได้จัดโรดโชว์เพื่อต้องการขายโครงการนี้ แต่ต้องแยกแยะระหว่างความฝันและความจริง โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยตัวเลขประมาณการในรายงานของ สนข. นั้นพบว่าเวอร์วังอลังการ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบ 

 

ตัวอย่างเช่น ไม่พบเหตุผลที่กลุ่มนักลงทุนจากทวีปแอฟริกาหรือยุโรปเข้ามาใช้ท่าเรือที่จังหวัดระนองหรือจังหวัดชุมพรจริงๆ ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลตอบข้อสงสัยเรื่องการลดระยะทางในโครงการแลนด์บริดจ์ เมื่อเทียบกับการใช้ช่องทางเดินเรือช่องแคบมะละกา 

 

ด้านมนพรได้ชี้แจงว่า ผลสำเร็จในการจัดโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ที่ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17-19 ตุลาคม 2566 และที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 นั้นพบว่าที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจต่อโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยมาก โดยพบว่ามีบริษัทชั้นนำกว่า 30 บริษัทให้ความสนใจลงทะเบียนเข้ารับฟัง และมีอีกบางส่วนที่จะต้องนั่งรอนอกห้องประชุม ซึ่งยังรวมถึงการจัดโรดโชว์ที่สหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปที่ให้ความสนใจในเชิงบวกต่อโครงการแลนด์บริดจ์เป็นอย่างมาก 

 

สำหรับกรณีที่ประชาชนบางส่วนคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มนพรกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าทุกโครงการมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และในที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญแลนด์บริดจ์เองได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ ซึ่งโครงการย่อมจะมีโอกาสที่จะก่อผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประชาชนบางส่วน 

 

มนพรกล่าวต่อว่า จึงถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องรองรับและวางแผนต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากจำเป็นที่จะต้องเวนคืนที่ดิน รัฐบาลจะคำนึงถึงราคาที่เหมาะสมในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และดูแลสวัสดิการของประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มกำลังด้วย ในส่วนของการสร้างท่าเทียบเรือที่จะกระทบต่อการประมงนั้น พบว่าเสียงจากพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากถูกกดราคาจากพ่อค้าส่วนกลาง  

 

“โครงการแลนด์บริดจ์ได้ศึกษาเรื่องความเหมาะสมของโครงการ ทั้งการออกแบบท่าเรือ เรื่องสิ่งแวดล้อม และรูปแบบของการลงทุนอย่างรอบคอบ ซึ่งขณะนี้ทาง สนข. ได้ออกแบบท่าเรือเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการศึกษา EIA” มนพรกล่าว

 

สำหรับการลดระยะทางในโครงการแลนด์บริดจ์เมื่อเทียบกับการใช้ช่องทางเดินเรือช่องแคบมะละกานั้น โครงการสามารถลดระยะทางได้อยู่แล้ว เนื่องจากออกแบบมาเพื่อลดระยะทางในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะช่วงตอนใต้ของประเทศจีน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising