×

ต้องร้องเพลงรออีกนานเท่าไร เราควรรอที่ทำงานใหม่ตอบรับนานแค่ไหน?

27.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Raed
  • บางคนอาจจะชอบที่ทำงาน ‘เก๋ๆ’ ก็เลยเลือกงานไปเพราะว่าความเก๋ สุดท้ายเข้าไปไม่ได้เรียนรู้งานอะไร นอกจากความเก๋ของนามสกุลองค์กรที่กำลังจะแปะห้อยท้ายเราไปด้วย ต้องดูไปถึงเนื้องาน ทีมงาน ว่ามันเอื้อต่อการเรียนรู้ของเราไหม
  • ไม่ได้งานในตอนนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ได้งานตลอดไป ถ้าที่ทำงานที่ไหนที่ไปคุยด้วยความรู้สึกว่าอยากได้มากๆ แล้วเกิดเขาไม่เลือก ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ เส้นทางยังมีอีกเยอะ วันหนึ่งเราอาจจะได้กลับมาคุยกับที่นี่ใหม่ก็ได้ เมื่อโอกาสมาถึง

Q: ผมเพิ่งเรียนจบครับ กำลังหางานทำอยู่ สัมภาษณ์ที่แรกเป็นไปด้วยดี แต่ระหว่างรอผลนั้น ผมดันไปเจออีกที่หนึ่งซึ่งผมอยากทำมากกว่า ผมก็เลยไปสัมภาษณ์ ตอนนี้ยังไม่รู้ผล แต่เท่าที่คุยระหว่างนั้นก็ดูโอเคอยู่ ปรากฏว่าที่แรกก็ติดต่อผมมาว่าเลือกผม ใจหนึ่งผมก็อยากรู้ผลของที่ทำงานแห่งที่สอง แต่ตอนนี้แอบสืบมารู้ว่าที่แรกก็มีคุยกับคนอื่นนอกจากผมเหมือนกัน ผมควรจะรีบตอบตกลงที่แรกเพื่อให้ได้งาน แต่ก็เป็นที่ที่เราอยากทำแบบปานกลาง หรือรอที่ที่สองที่เราอยากได้มากกว่า ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้คำตอบเมื่อไรดีครับ หรือสัมภาษณ์ที่ใหม่ไปเลย


A: โอ๊ย! ทำไมมันฮอตขนาดนี้น้องพี่! ฮ่าๆ อย่างแรกต้องดีใจกับน้องก่อน เพราะน้องกำลังจะเรียนจบ กำลังจะเป็นว่าที่มนุษย์ทำงานคนใหม่ และก็คงมีอะไรอีกหลายอย่างที่รอให้น้องได้ไปเรียนรู้ แต่นี่มันเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

     เป็นเรื่องดีครับที่น้องสัมภาษณ์ที่แรกเขาก็สนใจน้องเลย แสดงว่าน้องน่าจะมีของ เขาพอจะเห็นศักยภาพว่าเติบโตได้ ทำงานได้ และน้องก็เตรียมตัวมาดี อันนี้น่าจะทำให้น้องมีความมั่นใจมากขึ้นว่า เออ…เราก็มีดีอยู่นะเนี่ย

     ปัญหาของที่แรกคือ เราชอบมันกลางๆ ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นที่จะทำงานที่นี่ พี่อาจจะต้องถามกลับไปว่า มีเรื่องแค่นี้จริงหรือเปล่า เพราะจริงๆ การพิจารณาเลือกงานสักที่มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก

     น้องอาจจะต้องดูว่า ความชอบกลางๆ ที่บอกนั้นมาจากไหน เช่น องค์กรไม่ได้น่าสนใจหรือเปล่า หรือตอนคุยกับหัวหน้า ดูแล้วเคมีไม่น่าจะเข้ากัน เราไม่ชอบคนสไตล์นี้ หรือเนื้องานจริงๆ ดูไม่น่าตื่นเต้น ดูไม่น่าจะมีอะไร มีเทรนนิ่งพนักงานให้พนักงานเก่งขึ้นไหม หรือแม้กระทั่งที่ทำงานอยู่ไกลมากเดินทางลำบากเหลือเกิน ฯลฯ ซึ่งอันนี้ต้องถามน้องว่า ตอนคุยกันได้ลงรายละเอียดพวกนี้หรือเปล่า เรารู้จักองค์กรนี้พอไหม

     น้องบางคนอาจจะชอบที่ทำงาน ‘เก๋ๆ’ ดังๆ และบอกว่านี่แหละที่ฉันชอบ แต่พอไปคุยแล้ว หัวหน้าที่เราคุยด้วยดันไม่ดึงดูดเราว่ะ แต่องค์กรมันเก๋ ก็เลยเลือกไปเพราะว่าความเก๋ สุดท้ายเข้าไปได้แต่ความเก๋ครับ ไม่ได้เรียนรู้งานอะไร เพราะหัวหน้างานก็ไม่ได้สอน เอ้า! อยากได้ความเก๋ก็เลยได้แต่ความเก๋ แต่ไม่ได้ความเก่งไปด้วย แบบนี้ไม่ดีครับ นอกจากความเก๋ของนามสกุลองค์กรที่กำลังจะแปะห้อยท้ายเราไปด้วยแล้ว ต้องดูไปถึงเนื้องาน ทีมงาน ว่ามันเอื้อต่อการเรียนรู้ของเราไหม

     ทำงานที่แรกสำหรับเด็กจบใหม่เงินเดือนไม่ได้ต่างกันมากมายหรอกครับ สิ่งที่ต่างกันจริงๆ คือการเรียนรู้ พยายามเลือกที่ที่เราจะได้ประสบการณ์จากการทำงานจริงๆ ดีกว่า ที่ไหนไปแล้วเราเก่งขึ้น น่าจะเลือกที่นั่น ถ้าตอนนี้ยังไม่มั่นใจในที่แรกและยังอยากรอที่ที่สองก่อน พี่คิดว่าควรบอกที่แรกอย่างสุภาพครับว่า ขอบพระคุณมากที่สนใจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระหว่างที่รอผลเราได้คุยกับที่อื่นๆ ไว้ด้วยควบคู่กัน ขออนุญาตให้คำตอบภายในวัน…

     ถึงตรงนี้ HR จะบีบให้น้องรีบตัดสินใจนะครับ เพราะงานของเขาคือมาเพื่อปิดดีลเพื่อให้ได้พนักงานใหม่ เขาอาจจะยั่วน้องว่า งั้นพี่ก็อาจจะคุยกับคนใหม่ไปด้วย อันนี้น้องต้องแฟร์นะครับว่าเขาเองก็มีสิทธิ์เลือก เช่นเดียวกับเราก็มีสิทธิ์เลือก น้องต้องบอกให้ชัดเจนว่าน้องจะให้คำตอบเมื่อไร เป็นการให้เกียรติคนทำงานด้วยกัน แม้กระทั่งตอนนี้เขาก็ยังประเมินน้องอยู่นะครับว่าน้องจะรับมือกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไร ถ้าพูดไม่ดี ตอนแรกที่เขาเลือกไว้ว่าอยากทำงานกับเราก็อาจจะจบ

พี่คิดว่าน้องควรมีเดดไลน์ให้กับตัวเองว่าจะรอถึงเมื่อไร เมื่อไรจะปิดดีล อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยไม่ได้คำตอบกับตัวเองว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต มันไม่มีที่ที่สมบูรณ์แบบครับ ดูว่าจากตัวเลือกทั้งหมดที่เรามี ที่ไหนทำให้เราเติบโตได้มากที่สุด เรียนรู้ได้มากที่สุด

     แม้แต่การปฏิเสธงาน น้องก็ยังต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้ดีที่สุด วันนี้เราอาจจะยังไม่ได้ร่วมงานกัน แต่โลกมันกลมครับ วันข้างหน้าอาจจะได้เจอกันอีกก็ได้ เราต้องทำให้เขารู้สึกว่า ถึงวันนี้จะไม่ได้ทำงานด้วยกัน แต่ก็ยังอยากเก็บโปรไฟล์น้องคนนี้ไว้ ในอนาคตถ้ามีโอกาสก็     อยากจะคุยกับน้องคนนี้อีกครั้ง เพราะฉะนั้น เราต้องแลนดิ้งให้สวย

     แล้วทีนี้เราจะเอาอย่างไรกับที่ที่สอง ปกติแล้วหลังสัมภาษณ์งานภายใน 1-2 อาทิตย์เราน่าจะได้คำตอบแล้ว ถ้าเงียบก็คงแปลว่ายังไม่ได้ในตอนนี้ แต่พี่บอกไว้ก่อนว่า จริงๆ เราควรจะได้รับแจ้งนะครับว่าเราได้หรือไม่ได้ แต่ด้วยวัฒนธรรมไทย บางทีคนไทยจะไม่ชอบเผชิญหน้ากัน ไม่กล้าบอกข่าวร้ายกันตรงๆ ก็จะเงียบๆ ไปเอง อันนี้น้องต้องเข้าใจ แต่ถ้าให้ดี พี่คิดว่าเรามีสิทธิ์ถามอย่างสุภาพนะครับว่าตอนนี้กระบวนการพิจารณาถึงขั้นไหนแล้ว และเราจะได้คำตอบเมื่อไร คำว่า “เดี๋ยวจะแจ้งให้ทราบภายหลัง” แปลว่าไม่มีกำหนดนะครับ แปลว่าเราไม่ได้คำตอบ อันนี้เราต้องรู้นะครับเพื่อให้มาจัดการกับชีวิตเราได้

     พี่คิดว่าน้องควรมีเดดไลน์ให้กับตัวเองว่าจะรอถึงเมื่อไร เมื่อไรจะปิดดีล อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยไม่ได้คำตอบกับตัวเองว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต มันไม่มีที่ที่สมบูรณ์แบบครับ ดูว่าจากตัวเลือกทั้งหมดที่เรามี ที่ไหนทำให้เราเติบโตได้มากที่สุด เรียนรู้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกัน ที่ไหนที่ปฏิเสธเรา ไม่ได้แปลว่าเขาปิดประตูใส่หน้าเราตลอดไป วันนี้อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่ใช่ แต่วันหน้าก็ยังมีโอกาส

     พี่จะเล่าให้ฟังแบบนี้แล้วกัน เมื่อเดือนก่อนพี่ไปเรียนคอร์สสั้นๆ คอร์สหนึ่ง แล้วอาจารย์ผู้สอนก็เดินมาหาพี่ บอกว่า “สวัสดีค่ะพี่ท้อฟฟี่ หนูเคยสัมภาษณ์กับพี่ หนูจำได้ เพราะคำถามพี่ยากมาก” และใช่ครับ ตอนนั้นพี่ไม่ได้รับน้องคนนั้น อาจจะเพราะยังไม่เหมาะ ณ เวลานั้น แต่ดูสิครับ เวลาผ่านไป เขาเก็บประสบการณ์ เขาเรียนรู้ เขาเป็นคนมายืนสอนพี่ คนที่เคยปฏิเสธเขา โมเมนต์นั้นพี่รู้สึกว่า “เออว่ะ…ทำไมตอนนั้นไม่เลือกเขาวะ”

     และความน่ารักของน้องคนนั้นคือเขาจำพี่ได้ และยังมาขอบคุณ เพราะหลายอย่างที่ได้คุยกันในตอนสัมภาษณ์กับพี่ ทำให้เขากลับไปพัฒนา กลับไปเตรียมตัวให้ดีมากขึ้นจนเขาได้งานที่ใหม่ เขายังแนะนำอะไรพี่ตั้งหลายอย่างจากประสบการณ์ที่เขามี เราไม่ได้มีความรู้สึกที่ไม่ดีเลย ซึ่งพี่ก็ดีใจมากที่น้องเขาเติบโตในเส้นทางของเขา ชื่นใจที่วันนี้เขามายืนสอนเราตรงหน้า เขาเก่งขึ้นจริงๆ จากวันนั้น พี่ยอมรับเลย

     ที่จะฝากไว้คือ ไม่ได้งานในตอนนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ได้งานตลอดไป ถ้าที่ทำงานที่ไหนที่น้องไปคุยด้วยความรู้สึกว่าอยากได้มากๆ แล้วเกิดเขาไม่เลือก ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ เส้นทางมันมีอีกเยอะครับ วันหนึ่งเราอาจจะได้กลับมาคุยกับที่นี่ใหม่ก็ได้เมื่อโอกาสมาถึง

     น้องจะสัมภาษณ์กี่ที่ก็ทำได้ครับ เป็นสิทธิ์ของน้อง น้องมีโอกาส มีตัวเลือก เช่นเดียวกันก็ต้องแฟร์พอว่าที่ทำงานที่น้องไปสัมภาษณ์ก็มีตัวเลือกมากมายเช่นกัน เราต่างเลือกซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ลองเอาทุกตัวเลือกมากางดูว่า อะไรคือข้อดีและข้อเสียของแต่ละที่ เลือกที่ที่เราอยากทำด้วยจริงๆ ที่ที่จะทำให้เราเก่งขึ้น เพราะการทำงาน 1 ปีหรือ 2 ปีหลังจากนี้ น้องจะเปลี่ยนไปมากครับ เราต้องเลือกดีๆ และถ้าความต้องการตรงกัน พี่คิดว่าทั้งน้องและบริษัทจะได้คนที่อยากทำงานด้วยกันจริงๆ ไม่ใช่ได้คนที่มาเพราะว่าเลือกๆ ไว้เพราะกลัวจะไม่มีงานทำ

     พี่เอาใจช่วยครับ

 

   * ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising