×

อัตราว่างงานไทยปี 2565 อยู่ที่ 1.15% ยังไม่กลับสู่ช่วงก่อนโควิด ‘สภาพัฒน์’ ห่วงแรงงานในภาคส่งออก-เด็กจบใหม่

02.03.2023
  • LOADING...

สภาพัฒน์เผย อัตราว่างงานทั้งปี 2565 อยู่ที่ 1.15% ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด มองปีนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ยังจับตา 3 ความท้าทาย ได้แก่ แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกและเด็กจบใหม่ เงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงอาจกัดกร่อนค่าจ้างที่แท้จริง และปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคท่องเที่ยว

 

วันนี้ (2 มีนาคม) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์ด้านแรงงานในประเทศ ‘ปรับตัวดีขึ้น’ โดยอัตราว่างงานไทยปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.15% จากระดับปี 2564 ที่ 1.96% อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงานไทยยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดเมื่อปี 2562 ที่ 0.98%

 

โดยในไตรมาส 4/65 เพียงไตรมาสเดียว อัตราการว่างงานของไทยอยู่ท่ี 1.15% หรือคิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.6 แสนคน

 

ขณะที่อัตราการมีงานทำทั้งปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิดที่ 98.3% เพิ่มข้ึนจากปีก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ท่ี 97.5% โดยผู้มีงานทำมีจำนวนอยู่ที่ 39.2 ล้านคน ขยายตัว 1.0% จากปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมท่ีเพิ่มข้ึนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อยู่ที่ 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.0% จากปีก่อน 

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมลดลง 1.2% จากปีก่อน อยู่ที่ 11.9 ล้านคน นอกจากนี้การจ้างงานในสาขาก่อสร้างหดตัว 3.5% เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงข้ึน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

สำหรับค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน โดยไตรมาส 4/65 ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 13,964 บาทต่อคนต่อเดือน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% และค่าจ้างเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 15,416 บาทต่อคนต่อเดือน ขยายตัว 4.3% ส่วนหน่ึงเป็นผลมาจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

สำหรับชั่วโมงการทำงานทั้งภาคเอกชนและภาพรวมปรับตัวดีขึ้นเทียบเท่ากับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เท่ากับปี 2562

 

แนวโน้มตลาดแรงงานปี 2566 

สำหรับสถานการณ์ตลาดแรงงานในปีนี้ สภาพัฒน์คาดว่าจะปรับตัวดีข้ึนอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หลังไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

 

  1. การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งมีสาเหตุจากทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าท่ีสำคัญ และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้การส่งออกเริ่มหดตัวมาต้ังแต่เดือนตุลาคม 2565 และอาจส่งผลต่อการจ้างงานในสาขาท่ีเกี่ยวข้อง อีกท้ังยังเป็นอุปสรรคต่อการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบการอาจชะลอการจ้างงานเพิ่ม และเลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานหรือเพิ่มหน้าท่ีให้แก่แรงงานเดิม

 

โดยตามข้อมูลจากไตรมาส 4/65 แสดงให้เห็นว่าผู้ว่างงานที่เป็นเด็กจบใหม่มีจำนวน 2.3 แสนคน โดยจำนวนนี้ 64.5% ระบุสาเหตุที่ว่างงานว่า หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งาน สะท้อนให้เห็นการหางานที่ยากขึ้น

 

  1. ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 5.02% และมีแนวโน้มท่ีจะยังคงสูงกว่าระดับปกติ เนื่องจากอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามระหว่างประเทศ
  1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจากผลสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่า ปัจจุบันกิจการประเภทโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณ 1 หมื่นตำแหน่งใน 60 จังหวัด ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 28 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนนักท่องเท่ียวต่างชาติในปี 2562 ซึ่งภาครัฐยังคงต้องมีบทบาทในการจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการ รวมถึงพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานให้ตอบโจทย์ตำแหน่งงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น

 

อัตราว่างงาน

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising