×

จับตาซัมมิต G20 เดิมพันสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และไฮไลต์ท่าทีของผู้นำโลก

30.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ครั้งที่ 10 เปิดฉากขึ้นที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในวันนี้ (30 พ.ย.) โดยหัวข้อการประชุมครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นสงครามการค้า ไปจนถึงประเด็นความมั่นคงที่ถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศอันตึงเครียดบนคาบสมุทรไครเมียของรัสเซีย
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เตรียมหารือนัดสำคัญเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า หากทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้ ทรัมป์พร้อมเดินหน้าขยายกำแพงภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากอัตรา 10% เป็น 25% ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า และอาจตั้งกำแพงภาษีเพิ่มกับสินค้าจีนอีก 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • นอกจากคู่สหรัฐฯ กับจีนแล้ว ทั่วโลกยังจับตาภาษากายระหว่างทรัมป์กับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย, ทรัมป์กับนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ และทรัมป์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ภายใต้บริบททางการเมืองต่างๆ จากประเด็นการเสียชีวิตของ จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียในตุรกี, ข้อตกลง Brexit ที่ผลักดันโดยรัฐบาลอังกฤษ และความไม่ลงรอยกับรัสเซียในสนธิสัญญานิวเคลียร์

บรรดาผู้นำจาก 19 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ และผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มต้นการประชุมซัมมิต G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในวันนี้ (30 พ.ย.) ซึ่งแน่นอนว่า ‘สงครามการค้า’ ครอบงำวาระการประชุมครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

นับตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (หรือย้อนกลับไปจนถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง) โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงจุดยืนมาตลอดว่าเขาไม่สนใจความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการค้าและเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกับประเทศที่เหลือในกลุ่ม G20 ที่ต้องการให้ทุกประเทศเคารพกฎกติกาการค้าระดับพหุภาคี ด้วยเหตุนี้การปะทะกันทางนโยบายจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้บนเวทีใหญ่ส่งท้ายปีนี้

 

ซัมมิต G20 ปีนี้สำคัญอย่างไร มีส่วนกำหนดทิศทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศและระเบียบการค้าโลกในปีหน้าอย่างไร

 

 

การเดิมพันครั้งใหญ่

ถ้าจะกล่าวว่าชะตากรรมของโลกอาจแขวนอยู่กับผลการเจรจาในที่ประชุมซัมมิต G20 ครั้งนี้ก็คงไม่ผิดนัก

 

เป็นที่คาดหมายว่าถ้าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ตกลงแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากันไม่ได้ ทรัมป์จะตัดสินใจทำสงครามการค้ากับจีนต่อ ซึ่งในปีหน้าจะมีความดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้น และส่งแรงกระเพื่อมแบบสึนามิต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ทรัมป์ยืนยันหนักแน่นว่า ถ้าการพูดคุยกับสีจิ้นผิงล้มเหลว เขามีแผนขยายกรอบกำแพงภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากอัตรา 10% เป็น 25% โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า

 

ไม่เพียงเท่านี้ ทรัมป์ยังขู่ว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีอากรสินค้านำเข้าที่เหลือรวมมูลค่า 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10-25% อีกด้วย

 

เราย้อนกลับไปดูสงครามภาษีระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจรุ่นซูเปอร์เฮฟวีเวตในรอบ 1 ปีที่ผ่านมากันสักนิด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะบริหารของทรัมป์ได้ประกาศมาตรการภาษีกับเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากจีนและหลายประเทศ ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีกับสินค้ามูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน จากนั้นในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บังคับมาตรการภาษีกับสินค้าส่งออกของจีนอีกรวมมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักวิเคราะห์จาก Capital Economics มองว่าในการประชุม G20 ปีนี้ สีจิ้นผิงไม่น่าจะมีข้อเสนอที่ทำให้ทรัมป์พอใจและเปลี่ยนใจได้ และเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นบวกนัก

 

“ถ้าพวกเขาคว้าน้ำเหลวในการทำข้อตกลงสงบศึกการค้า แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะขยับขึ้นภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมกราคม ปี 2019 และอาจขยายกำแพงภาษีครอบคลุมสินค้านำเข้าที่เหลือด้วย” อีแวนส์-พริตชาร์ดกล่าว

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ก่อนที่ซัมมิต G20 จะเปิดฉากขึ้นในลาตินอเมริกาครั้งแรก คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าความขัดแย้งทางการค้าและกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อการค้าทั่วโลกโดยรวม

 

เธอเผยผลการวิจัยว่า หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด มาตรการภาษีที่ใช้กันอยู่จะสร้างผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลกราว 0.5%

 

แต่นั่นเป็นเพียงแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำที่เห็นได้ชัดเท่านั้น เพราะคลื่นใต้น้ำที่เกิดจากมาตรการอื่นๆ อาจเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและส่งผลกระทบมากกว่า  

 

ในปีหน้า หากทั้งคู่แลกหมัดกันด้วยมาตรการภาษีโดยตรง สหรัฐฯ อาจกุมความได้เปรียบตรงที่มีไพ่ในมือเหนือกว่า เพราะสำหรับจีนซึ่งมียอดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่ายอดส่งออกแล้ว ถือว่ามีข้อจำกัดในการตอบโต้สหรัฐฯ ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่าจีนอาจงัดมาตรการอย่างอื่นมาเล่นงานสหรัฐฯ แทน เช่น การผ่อนคลายนโยบายการคลังและการเงิน หรือปล่อยให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งนั่นอาจสร้างความผันผวนที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก

 

ข้อตกลงฉบับแทน NAFTA, เจ้าชายบิน ซัลมาน และอื่นๆ ที่น่าจับตา

นอกจากมวยคู่เอกระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิงที่ทั่วโลกจับตาอย่างมากแล้ว ทรัมป์ยังมีกำหนดการหารือระดับทวิภาคีและไตรภาคีกับผู้นำหลายคน โดยหนึ่งในไฮไลต์คือการพบกันระหว่างทรัมป์กับจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา และอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ว่าที่ประธานาธิบดีเม็กซิโก เพื่อลงนามในดีลการค้า 3 ฝ่ายแทนข้อตกลง NAFTA ฉบับเดิมที่ทรัมป์หันหลังให้อย่างไม่แยแส

 

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือการเสด็จไปร่วมประชุมของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหลายฝ่ายจับตามองว่าทรัมป์กับบิน ซัลมาน จะส่งยิ้ม จับมือ พูดคุย หรือลงนามในข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียหรือไม่ หลังเจ้าชายถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักข่าวอิสระชาวซาอุดีอาระเบีย ภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำนครอิสตันบูล เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ทั่วโลกยังจับตาการพบกันของทรัมป์และเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อวิเคราะห์ท่าทีและภาษากายของทั้งสอง หลังทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลง Brexit ที่ผลักดันโดยเมย์อย่างเผ็ดร้อน โดยเขาเห็นว่าข้อตกลงนี้เป็นประโยชน์กับสหภาพยุโรปมากกว่าสหราชอาณาจักร

 

ไม่เพียงแต่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเท่านั้น ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เตรียมใช้เวที G20 ครั้งนี้เร่งสะสางปัญหาภาษีเหล็กและรถยนต์กับสหรัฐฯ หลังการเจรจาระดับทวิภาคีในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเผชิญกับภาวะชะงักงัน สืบเนื่องจากยุงเกอร์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของคณะบริหารทรัมป์ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่ากฎกติกาแบบพหุนิยม

 

น่าเสียดายที่การหารือกันนอกรอบระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียจะไม่เกิดขึ้น หลังทรัมป์ประกาศยกเลิกกำหนดการดังกล่าวท่ามกลางปัญหาตึงเครียดบนคาบสมุทรไครเมีย สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่รัสเซียยึดเรือของยูเครน 3 ลำ พร้อมควบคุมตัวลูกเรือไว้ 24 คน โดยรัสเซียกล่าวหาว่าเรือเหล่านี้ล่วงล้ำน่านน้ำของพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย หลังพยายามแล่นผ่านช่องแคบเคิร์ชไปยังทะเลอะซอฟ ขณะที่ทรัมป์ได้แสดงท่าทีไม่พอใจกับพฤติการณ์ที่ ‘ก้าวร้าว’ ของรัสเซีย

 

การยกเลิกพบปะระหว่างผู้นำสองประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ย่อมหมายถึงการปิดประตูเจรจาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการควบคุมขีปนาวุธพิสัยกลางภายใต้ข้อตกลงไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (INF Treaty) ขณะที่ทรัมป์เคยขู่ก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่ารัสเซียไม่ยอมปฏิบัติตามกฎกติกา ถึงแม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธมาตลอดก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีการประชุมระดับทางการหรือไม่เป็นทางการระหว่างทรัมป์กับปูติน แต่ทั่วโลกก็ยังจับตาดูท่าทีและภาษากายระหว่างท้ังสองอยู่ไม่น้อย

 

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าที่ประชุมจะส่งสัญญาณบวกเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาการค้าเพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปีหน้า อย่างไรก็ตามก็มีความเป็นไปได้ที่เวทีประชุมครั้งนี้อาจไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และลงเอยเหมือนกับเวทีประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งล่าสุด โดยที่ผู้นำไม่สามารถออกแถลงการณ์ที่เป็นจุดยืนร่วมกันต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ได้ เนื่องจากแนวคิดต่างขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศที่เหลือไม่อาจประสานให้ลงรอยได้ภายในเวลาอันสั้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising