×

‘อนาคต’ การทำคอนเทนต์และการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม ในยุคที่คนนิยมเสพวิดีโอเกิน 1 นาที

31.01.2024
  • LOADING...

ท่ามกลางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบนิเวศ TikTok ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานรายบุคคลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วกว่า 325 ล้านคน พร้อมด้วยธุรกิจอีกกว่า 15 ล้านราย พวกเขาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไปแล้ว โดยประเทศไทยมีครีเอเตอร์มากกว่า 3 ล้านคนที่สร้างรายได้จาก TikTok และผู้ขายกว่า 2.4 ล้านคนที่เป็นคนไทยเกือบทั้งหมด

 

สถิติในปี 2021 จาก TikTok ประเทศไทย ภายในงาน ‘Tiktok For All’ เผยว่าอุตสาหกรรมครีเอทีฟมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะว่ามูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 6.81% ของ GDP ประเทศไทย พร้อมทั้งคนไทยที่ใช้งาน TikTok ในการสร้างคอนเทนต์ยังสามารถทำรายได้สูงกว่ารายได้ขั้นต่ำถึง 36%

 

ในโลกปัจจุบันการเสพเนื้อหาและการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามีความต่างออกไปจากในอดีตอย่างมาก และ TikTok ประเทศไทยรวมอินไซต์ของแพลตฟอร์มมาเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจพฤติกรรมของคนในโลก Creative Economy ที่ซึ่งสื่อกลางความบันเทิงก็สามารถเป็นแหล่งรวมสินค้าและบริการให้คนเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย

 

อินไซต์แรกคือคอนเซปต์ของ Shoppertainment ที่สำคัญมากกับแบรนด์ในยุคปัจจุบัน โดย กรณิการ์ นิวัติศัยวงศ์ Head of FMCG, E-Commerce ประเทศไทย อธิบายว่ามันคือวิธีการเลือกช้อปแบบใหม่ “Shoppertainment คือการสร้างบรรยากาศด้วยความสนุกและความรู้ เพื่อให้ประสบการณ์การช้อปที่พิเศษกว่าเดิม” คอนเซปต์นี้ไม่ใช่แค่คำพูดติดหูอีกแล้ว แต่เป็นเทรนด์ที่ภายในปี 2025 จะมีขนาดตลาดถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 12,400 ล้านดอลลาร์ ในประเทศไทย

 

สำหรับปี 2024 ประเภทเนื้อหาวิดีโอที่คาดว่าจะมาแรงคือเนื้อหาที่สามารถสร้างความบันเทิงได้ เนื้อหาการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ หรือจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารการกิน ความงาม และไลฟ์สไตล์ เป็นต้น

 

มาในส่วนของจริตการเสพคลิปวิดีโอ TikTok ประเทศไทยเผยตัวเลขว่าผู้เสพสื่อคลิปสั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากในอดีต โดยวิดีโอที่เนื้อหานานเกินกว่า 1 นาทีตอนนี้กลายเป็นรูปแบบที่ผู้ชมนิยมมากขึ้น ซึ่งสัดส่วน 50% ของคนดูในแพลตฟอร์มเลือกใช้เวลากับวิดีโอที่ยาวเกิน 1 นาทีขึ้นไป 

 

นอกจากนี้ สถิติที่แสดงให้เห็นได้ถึงความจำเป็นที่ครีเอเตอร์หลายคนหันมาสนใจสร้างคอนเทนต์ที่มีเวลานานขึ้น มาจากยอดการเติบโตของผู้ติดตามที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5 เท่าของกลุ่มครีเอเตอร์ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่คลิปสั้นอย่างเดียว พร้อมทั้งยอดวิวของวิดีโอที่ยาวเกิน 1 นาทียังปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 41% หรือ 7 เท่าของยอดวิวคลิปสั้นด้วย

 

ทว่าสิ่งที่สอดคล้องกับเทรนด์ความนิยมคลิปที่มีเวลาเกิน 1 นาทีที่กำลังเป็นประเด็นก็คือในฝั่งของต่างประเทศดันมีโพสต์ที่ The Verge ได้รับเรื่องจากการที่ครีเอเตอร์นามว่า @candicedchap และ @kenlyealtumbiz แชร์โพสต์ที่อ้างว่า TikTok กำลังเตรียมเดินหน้าจูงใจครีเอเตอร์ให้ผลิตวิดีโอที่มีเวลามากกว่า 1 นาที โดยหากเนื้อหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโฆษณาและการเมือง TikTok ก็จะโปรโมตคอนเทนต์ให้ถูกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม พิสุทธิ์ โรจน์เลิศจรรยา หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ (Head of Operations) TikTok ประเทศไทย กล่าวถึงข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ว่า “ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้คอนเทนต์ความยาวเกิน 1 นาทีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นมาจากการตอบรับของผู้ชมเป็นหลัก และไม่เกี่ยวกับความยาว เพราะต่อให้วิดีโอมีเวลา 5 นาที แต่คอนเทนต์ไม่ดึงดูดก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ ซึ่งหมายความว่าสุดท้ายแล้วคุณภาพกับความครบถ้วนของเนื้อหาจะต้องตอบโจทย์ผู้ชม” 

 

มากไปกว่านั้น พิสุทธิ์ยังยืนยันว่าสำหรับ TikTok ประเทศไทยจะยังไม่มีนโยบายการใช้โปรแกรมดังกล่าวเพื่อจูงใจครีเอเตอร์ให้ผลิตวิดีโอที่มีความยาวมากขึ้น หากแต่เป็นคุณภาพและความถูกใจของผู้ชมที่เป็นตัวตัดสินว่าคอนเทนต์จะปังหรือไม่

 

แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ TikTok ในต่างประเทศท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือดของเหล่าบริษัทแพลตฟอร์มคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ ขจร เจียรนัยพานิชย์ ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

 

“เราอยู่ในโลกที่ TikTok พยายามเป็น Shopee, Lazada ดันช้อปปิ้ง จัดโปร แคมเปญ เก็บ GP ดัน Live ขายของ

 

Shopee, Lazada พยายามเป็น TikTok ดันครีเอเตอร์มาทำคลิปสั้นในแอป ดันคอนเทนต์

 

TikTok พยายามเป็น YouTube, FB ดันคลิปยาว คลิปแนวนอน Long-Form Video

 

FB, Instagram, YouTube พยายามเป็น TikTok ดันคลิปสั้น ตัดต่อคลิปในแอปได้ Short-Form Video”

 

จากผลการศึกษาโดย Boston Consulting Group พบว่า 71% ของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม TikTok มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจกดสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มไดนามิกที่ตั้งเป้าในปี 2024 ว่าต้องการจะขยายการเข้าถึงแบรนด์ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (CPG), คอมเมิร์ซ, อาหารและเครื่องดื่ม (F&B), ยานยนต์, การเงิน และแอปพลิเคชัน 

 

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าการขยับของผู้เล่นคนหนึ่งก็เป็นตัวที่สร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้เล่นรายอื่นต้องขยับตาม เพื่อรักษาตำแหน่งและส่วนแบ่งในตลาดของตนเองเอาไว้ให้ได้อย่างเหนียวแน่นที่สุด

 

ภาพ: NurPhoto / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising