×

เจาะปมเหตุ ‘กองทุน’ เทขายหุ้นไทยไตรมาสเดียว 9 หมื่นล้านบาท กูรูเชื่อกลับเข้าซื้อเมื่อดัชนีรูดแตะ 1,600 จุด

09.04.2022
  • LOADING...

วิเคราะห์สาเหตุสถาบันในประเทศแห่ขายสุทธิหุ้นไทย 9 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือน นักวิเคราะห์ระบุเป็นแรงขายจากการไถ่ถอนกองทุน LTF ราว 4-5 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนไทยหันลงทุนต่างประเทศ-สินทรัพย์ทางเลือกหวังเพิ่มผลตอบแทน พร้อมประเมินกองทุนหันกลับซื้อสุทธิอีกครั้งเมื่อดัชนีปรับฐานแตะ 1,600 จุด 

 

สำรวจมูลค่าการซื้อขายของสถาบันไทยตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน (8 เมษายน) ขายสุทธิหุ้นไทย 91,105 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ขายสุทธิ 77,335 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 33,455 ล้านบาท และปี 2562 ซื้อสุทธิ 52,006 ล้านบาท 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ได้ประเมินสาเหตุที่นักลงทุนสถาบันขายสุทธิหุ้นไทยออกมาจำนวนมากไว้ 2 ประการ คือแรงขายของกองทุน LTF ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ และพฤติกรรมนักลงทุนไทยเริ่มไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 

 

สำหรับสาเหตุแรก คือแรงขายกองทุน LTF ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ หลังจากที่เว้นมา 2 ปี (2563-2564) ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจึงไม่สามารถไถ่ถอนได้ โดยปีนี้ผู้ถือหุ้นหน่วยที่ครบกำหนดไถ่ถอนน่าจะสั่งขายทั้งจำนวน เพื่อนำเงินไปรีบาลานซ์พอร์ตการลงทุนหรือใช้จ่ายอื่นๆ 

 

สาเหตุที่ 2 คือพฤติกรรมนักลงทุนที่มีความสนใจไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ๆ เช่นคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทน ส่งผลให้มีการขายหน่วยลงทุนและนำเงินไปรีบาลานซ์พอร์ตเช่นกัน 

 

“เรื่องนักลงทุนไทยสนใจไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ตัวเลขการขายสุทธิของกองทุนเป็นการสะท้อนความเป็นจริงจากเรื่องนี้มากขึ้น โดยทั้งนักลงทุนบุคคลที่ลงทุนผ่านกองทุน และนักลงทุนสถาบันเช่น รัฐวิสาหกิจและบริษัทต่างๆ ก็มองหาโอกาสการลงทุนที่เพิ่มผลตอบแทนทั้งนั้น ยกตัวอย่าง กบข. ที่เมื่อต้นปีก็ได้รับการอนุญาตให้ลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่ม เป็นไม่เกิน 60% รวมถึง Private Fund ของบริษัทต่างๆ ที่ให้ บลจ. เป็นผู้บริหารการลงทุน ก็ออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มเช่นกัน” ณัฐชาตกล่าว 

 

เผยสัดส่วน Participation ลดต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การที่นักลงทุนสถาบันขายหุ้นต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วน Participation ลดลง โดยค่าเฉลี่ยเดือนมีนาคมอยู่ที่ 7.5% ลดลงจากต้นปีที่อยู่ที่ 10% ส่วนทั้งปี 2564 สถาบันในประเทศมีสัดส่วน Participation อยู่ที่ 7% ขณะที่ปี 2563 และ 2562 ซึ่งเป็นปีที่สถาบันในประเทศซื้อสุทธินั้น ค่าเฉลี่ยสัดส่วน Participation อยู่ที่ 10.2% และ 11.6% ตามลำดับ

 

สัดส่วน Participation ที่ลดลงเรื่อยๆ สะท้อนถึงการเข้าลงทุนสุทธิในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบันที่จะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะสวนทางกับมูลค่ากองทุนรวมต่างประเทศที่จะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนการลงทุนของสถาบันในประเทศจะลดลง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับสภาพคล่องในตลาด เนื่องจากมีการเข้าลงทุนสุทธิจากเม็ดเงินต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยมากกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว และสัดส่วน Participation ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 45% 

 

ณัฐชาตกล่าวเพิ่มว่า ในสัดส่วน Participation ของนักลงทุนต่างชาตินั้น 70% คือ High Frequency Trading หรือ HFT ซึ่งเป็น Bot Trade ส่วนที่เหลือ 30% ครึ่งต่อครึ่งคือ Passive Fund และ Active Fund และหากดูสัดส่วนการลงทุนของ Active Fund ต่างประเทศ จะพบว่าลงทุนในหุ้นไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับ Benchmark

 

“ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่ายอดซื้อสุทธิต่างชาติที่เราเห็น ส่วนใหญ่เป็น HFT ที่เข้ามาเล่นรอบสั้น ซึ่งจะทำให้ดัชนีแกว่งในกรอบแคบๆ นักลงทุนไทยจะรู้สึกว่าลงทุนยาก และจะมีพฤติกรรมเป็นนักเทรดดิ้งมากขึ้น ส่วนนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะยาวก็จะหันไปลงทุนในต่างประเทศ ส่งผลให้สัดส่วน Participation ของสถาบันในประเทศลดลงอีก ซึ่งมองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างใหญ่ของตลาดทุนไทย”​

 

เชื่อสถาบัน ‘กลับซื้อ’ หลังดัชนีปรับฐานสู่ 1,600 จุด

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การขายสุทธิของสถาบันในประเทศไทย เกิดจากการขายกองทุน LTF ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ซึ่งอยู่ราว 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อผู้ถือหน่วยไถ่ถอนหรือสั่งขาย กองทุนก็ต้องขายหุ้นเช่นกัน 

 

ขณะเดียวกัน มองว่าก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด สถาบันในประเทศมีการเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง สะสมรายปีหลักแสนล้านบาท ทำให้เกิดการขายเพื่อปรับพอร์ตเมื่อ Valuation ตลาดปรับขึ้นมาถึงเป้าหมายที่ประเมินไว้ ที่ระดับดัชนี 1,700 จุด 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าสถาบันในประเทศจะมีจุดสิ้นสุดการขาย เนื่องจากแต่ละกองทุนจะมีเกณฑ์เพดานการลงทุนในหุ้นไทยอยู่ โดยเฉลี่ยจะกำหนดให้ถือหุ้นอย่างน้อยเฉลี่ย 80% ในรอบระยะบัญชี ดังนั้นจากนี้ไปก็น่าจะเริ่มเห็นแรงขายที่ลดลง 

 

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าสถาบันในประเทศจะเข้าซื้อหุ้นไทยอีกครั้งเมื่อดัชนีปรับฐานลดลงมา หรืออยู่ระดับใกล้เคียง 1,600 จุด คิดเป็น Earning Yield Gap ที่ 3.2% ซึ่งเป็นระดับที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวของ Earning Yield Gap ที่ 3%

 

มองจุดเด่นหุ้นไทย ผันผวนน้อย-ดอกเบี้ยต่ำ

ศรชัย สุเนต์ตา CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB-CIO และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนค่อนข้างมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยถูกกดดันจากปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และการลด Balance Sheet ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุนทั่วโลก 

 

โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมาสู่ตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ทิศทางดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นช้ากว่า หรือบางประเทศยังไม่มีนโนบายปรับขึ้นด้วยซ้ำ อีกทั้งความผันผวนของตลาดหุ้นเอเชียยังน้อยกว่าฝั่งสหรัฐฯ อีกด้วย

 

“ตลาดหุ้นไทยก็เป็นหนึ่งในตลาดหุ้นเอเชียที่นักลงทุนให้ความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่ม TIPS เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้น และเรากำลังเปิดประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติคาดหวังพอสมควรว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ อีกทั้งประเทศไทยยังไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้น” ศรชัยกล่าว 

 

สำหรับแรงขายของสถาบันในประเทศนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนไทยติด Position เก่า ทำให้เม็ดเงินใหม่ในการลงทุนไม่มี ขณะที่เม็ดเงินใหม่ๆ ก็เริ่มหันไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

กองทุน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising