×

Fullerton Markets ชี้ หลายประเทศลดดอกเบี้ย ส่งสัญญาณเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แนะไทยเตรียมรับมือผลกระทบสงครามการค้า

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2019
  • LOADING...
Fullerton Markets

ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเมินเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลังโดยมองว่า ธนาคารกลางหลายประเทศทยอยประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ส่งสัญญาณว่าอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 10-12 ปี ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มยืดเยื้ออีกเป็นปี ดังนั้นจึงแนะนักลงทุนจับตาเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และจับตาจังหวะเอาคืนของจีนในกรณีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

 

มาริโอ ซิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังในงานสัมมนาธุรกิจและการลงทุน Bangkok ASEAN Tour 2019 ซึ่งจัดโดย ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในกรุงเทพฯ ว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน เริ่มส่งสัญญาณเกิดวิกฤต ซึ่งจากที่มีการศึกษาวิกฤตการณ์ในอดีต ตั้งแต่วิกฤตพลังงาน ปี 2518, แบล็กมันเดย์ ปี 2530, วิกฤตการเงินเอเชีย (ต้มยำกุ้ง) ปี 2540 และวิกฤตซับไพรม์ (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ปี 2551 พบว่า แต่ละเหตุการณ์มีระยะห่างอยู่ราว 10-12 ปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลานี้”

 

“เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันจากทั่วโลกพบว่า สัญญาณสำคัญของวิกฤตการณ์เริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็บออมเงินของผู้บริโภค และเพิ่มแรงจูงใจในการกู้ยืมเพื่อลงทุนหรือขยายกิจการของภาคธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรปที่เพิ่งส่งสัญญาณเตรียมลดอัตราดอกเบี้ย โดยอาจดำเนินการภายในเดือนกันยายน และเริ่มซื้อสินทรัพย์รอบใหม่ในปีนี้ ขณะที่อินเดียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในรอบ 9 ปี ออสเตรเลียปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% ส่วนเกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปี ตุรกีปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในรอบ 17 ปี ขณะที่เศรษฐกิจสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่า 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่ 2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี หรือแม้แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในการแถลงมติที่ประชุม FOMC เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา” ซิงห์ กล่าว

 

ขณะที่ จิมมี ซู หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ แห่งฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าให้จับตาสงครามการค้าอย่างต่อเนื่อง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความผันผวนครั้งใหญ่ ความยืดเยื้ออาจมองได้ 2 กรณี กรณีแรกคือก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งยังมองไม่เห็นข้อสรุปใดๆ ในขณะนี้ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้จีนให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการทำธุรกิจขนาดใหญ่กับจีน เพราะที่ผ่านมาจีนมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กในประเทศให้เติบโต ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ กรณีที่ 2 ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง และไม่สามารถคาดคะเนได้นับจากนี้ไปอีก 12 เดือน ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆ จึงยังคงได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ซึ่งสร้างความผันผวนให้กับการค้าและค่าเงินในหลายประเทศ

 

“สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดคือการตอบโต้จากจีน เมื่อพิจารณาฝั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ พบว่าทรัมป์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการประคองภาวะตลาดหุ้นในสหรัฐฯ เนื่องจากยอดการส่งออกไปยังจีนมีมูลค่าเพียงประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าสูงถึง 5,000–6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นการตอบโต้จากจีน จึงไม่น่าเป็นการตอบโต้ทางการค้า แต่ด้วยความเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์มาก ตลาดหุ้นอาจเป็นหนทางที่จีนจะเอาคืน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา เมื่อราคาหุ้นดิ่งลงก็จะนำไปสู่ปัญหาการเลย์ออฟพนักงาน ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นชนวนสู่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก”

 

จิมมี ซู ยังกล่าวต่ออีกว่า สงครามการค้าส่งผลกระทบกับทุกภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับมือ เพราะถ้าจีนเจอกำแพงภาษีที่ 25% นั่นหมายความว่าจะส่งผลกระทบให้ GDP ของจีนลดลง 0.9% และ 0.9% ที่ลดลงจะฉุด GDP ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลง 0.4% และการที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่จึงต้องติดตามดัชนีภาคการผลิตของจีน ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในไทยอย่างใกล้ชิด

 

เศรษฐกิจไทยนับจากนี้จึงเป็นงานค่อนข้างท้าทายสำหรับรัฐบาล เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ขณะที่อัตราการเติบโตของการบริโภคในประเทศยังค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับขนาดและจำนวนประชากรในประเทศ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงไม่สามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ แม้ในหลายประเทศได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้ว เพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ค่อนข้างสูงยังเป็นแรงกดดันให้แบงก์ชาติอาจจะต้องคงนโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนโยบายรัฐบาลอาจจะมีมาตรการเรื่องการลงทุนในสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ออกมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างกำลังซื้อเข้ามากระตุ้นระบบเศรษฐกิจ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • Fullerton Markets International
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising