×

ซูมอินปัจจัยหนุนเศรษฐกิจเวียดนามโตก้าวกระโดด

08.11.2023
  • LOADING...

เวียดนามเป็นประเทศที่มักถูกกล่าวถึงในฐานะประเทศที่มีศักยภาพโดดเด่นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ในช่วงวิกฤตโควิด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ประสบกับภาวะเศรษฐกิจทรุดตัว มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง เป็นตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวเร็ว เป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนต่างประเทศที่น่าจับตามอง โดยมีหลายปัจจัยที่หนุนเศรษฐกิจเวียดนามให้มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง แต่จะมีอะไรบ้าง ชวนมาติดตามหาคำตอบในบทความนี้ 

 

โครงสร้างเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เติบโตไม่สะดุดแม้เผชิญกับวิกฤตโควิด และยังเติบโตแรงในระยะปานกลาง ย้อนไปช่วงปี 2020-2022 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก โดยในปี 2020 เศรษฐกิจโลกหดตัว 2.8% แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังคงขยายตัว 2.9% และเติบโตในอัตราเร่งถึง 8% ในปี 2022 นับเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 หนุนด้วยการบริโภคในประเทศและการส่งออกที่แข็งแกร่ง สำหรับปี 2023 เศรษฐกิจโลกเป็นไปในทิศทางชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้โมเมนตัมการเติบโตของเวียดนามชะลอตามไปด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มูลค่าส่งออกหดตัวราว 12% แต่มีแนวโน้มที่ปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง สอดคล้องกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เวียดนามจะยังโตได้ 4.7% ในปี 2023 และ 5.8% ในปี 2024 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3% ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ การมีสัดส่วนของคนวัยทำงานสูงราว 60% และจำนวนชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต เป็นปัจจัยบวกทั้งในด้านผลิตภาพและการบริโภค จึงเป็นโอกาสในทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการทั่วโลกที่ต้องการเจาะตลาดหรือขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมายังเวียดนาม

 

แนวโน้มส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่อง หนุนด้วยโครงสร้างการส่งออกพัฒนาไปสู่สินค้าไฮเทคและการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นจำนวนมาก การส่งออกของเวียดนามปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจนแตะระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา และเมื่อเข้าสู่ปี 2018 ที่บรรยากาศการค้าทั่วโลกต่างประสบกับความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เวียดนามกลับมีผลการส่งออกเชิงบวก แม้ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2019 การส่งออกรวมของเวียดนามยังคงมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 8% และในปี 2021 มูลค่าส่งออกสูงถึง 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโต 19% จึงกล่าวได้ว่าในกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เส้นทางการส่งออกของเวียดนามเติบโตแข็งแกร่ง และเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีพัฒนาการด้านการค้าระหว่างประเทศที่โดดเด่น สะท้อนจากในปี 2021 เวียดนามมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ 

 

นอกจากนี้ เบื้องหลังความสำเร็จที่สำคัญน่าจะมาจากโครงสร้างการส่งออกของเวียดนามได้พัฒนาขึ้นทั้งด้านความหลากหลายและความซับซ้อนของสินค้า รวมทั้งเพิ่มความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีและสินค้าที่มีความซับซ้อนสูง สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมของเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการส่งออกมากกว่า 30% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาเป็นการส่งออกสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย อาหารและเครื่องดื่ม และไฟฟ้า ซึ่งมีการส่งออกราว 8-13% สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รองลงมาได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ปัจจัยหนุนการส่งออกอีกด้านหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ผลิตชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในภาคการส่งออก ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศให้ความร่วมมือด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และพร้อมช่วยพัฒนาศักยภาพและขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยมองว่าเวียดนามมีศักยภาพในการเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญให้กับสหรัฐฯ 

 

นอกจากนี้ การที่เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ครอบคลุมตลาดสำคัญๆ มากกว่าประเทศในอาเซียน กล่าวคือเวียดนามถือเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนที่ทำ FTA มากที่สุด รวม 15 ฉบับ ครอบคลุม 53 ประเทศ ทั้งระดับทวิภาคี และเข้าร่วมข้อตกลง FTA แบบพหุภาคี ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และล่าสุดความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) เป็นความตกลงที่เวียดนามเปิดเสรีการค้าเกือบทุกรายการสินค้า นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของเวียดนามในการเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีการค้าการลงทุนระดับโลก ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศหรือการทำธุรกิจกับภูมิภาคต่างๆ สะดวกขึ้น

 

จุดหมายปลายทางดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยปี 2015 มูลค่า FDI เวียดนามเติบโตสูงแตะระดับ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก และปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2017-2018 ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลให้จีนเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น หนุนให้ยอด FDI เวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ในช่วงวิกฤตโควิด FDI ของเวียดนามก็ยังยืนอยู่ได้ที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติต่อศักยภาพในระยะยาวของเวียดนาม 

 

ทั้งนี้ ในภาพรวมเป็น FDI ที่ลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก (59% ของ FDI รวม) ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำระดับโลกที่เข้าลงทุน เช่น Apple, Samsung, LG และ Panasonic สำหรับในครึ่งแรกของปี 2023 FDI ของเวียดนามอยู่ที่ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 30% (ซึ่งสูงกว่าไทยและมาเลเซียราว 2 เท่า) แม้จะเผชิญความท้าทายอย่างมาก แต่เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทาง FDI ที่น่าสนใจ อันเนื่องจากการเป็นห่วงโซ่อุปทานในสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญของโลก ตลาดมีศักยภาพในการขยายตัวสูงจากความพร้อมด้านแรงงานและกำลังซื้อ การเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล เช่น มาตรการส่งเสริมด้านภาษี 

 

ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามที่โดดเด่น คาดว่าจะเห็นการลงทุนต่างประเทศในเวียดนามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้อาจถูกมองว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจหรือการค้าของหลายประเทศ ในขณะเดียวกันมองอีกมุมก็สามารถใช้โอกาสจากการเติบโตของเวียดนามในการลงทุนเปิดตลาด หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในประเทศต่างๆ ที่ต้องการเจาะตลาดที่มีศักยภาพเติบโตเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขยายการลงทุนในตลาดเวียดนามได้ด้วยเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising