×

กกร. คงคาดการณ์ GDP ไทยปี 65 โต 2.5-4% แนะรัฐอุ้มราคาดีเซลต่ออีก 3 เดือน ช่วยประคองเศรษฐกิจ

11.05.2022
  • LOADING...
ราคาดีเซล

กกร. คงคาดการณ์ GDP ไทยปี 2565 โต 2.5-4% แนะรัฐตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร ต่ออายุการลดภาษีดีเซลอีก 3 เดือน และปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่เหมาะสม ช่วยประคองเศรษฐกิจ

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ในวันนี้ (11 พฤษภาคม) มีมติคงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ไว้ในกรอบเดิมที่ 2.5-4% หากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมคงประมาณการการขยายตัวของภาคส่งออกไว้ในกรอบ 3-5% และตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปที่ 3.5-5.5% ตามเดิม

 

ทั้งนี้ กกร. มองว่า แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ทำให้ที่ประชุมยังตัดสินใจไม่ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทย

 

เกรียงไกรระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความอ่อนไหวจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านเป็นความท้าทายต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อในระดับสูง และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นมากสุดในคราวเดียวในรอบ 22 ปี และจะปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึง 2.50%-2.75% ณ สิ้นปี 

 

นอกจากนี้จีนยังใช้มาตรการ Zero-COVID ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว และกดดันให้ปัญหาซัพพลายเชนยิ่งตึงตัวขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 ลดลงมากจาก 4.4% เหลือ 3.6% ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทยได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิม

 

ประธาน กกร. กล่าวว่า หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นมาก จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน และมีแนวโน้มส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ 

 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในธุรกิจที่ยังเปราะบาง เช่น โรงแรม ค้าปลีก สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมาก และส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

สำหรับการท่องเที่ยวขณะนี้เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น โดยการเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤษภาคม ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นชัดเจน จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิม 

 

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีมาอยู่ที่ 70-80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 เช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวในไทยปรับตัวอยู่กับโควิดบ้างแล้ว อีกทั้งได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 119 ล้านคนต่อครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน

 

เกรียงไกรระบุว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ SMEs และประชาชน ในช่วงไตรมาส 2-3 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

 

  1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง ได้แก่ การตรึงเพดานดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน, ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน, ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ, เพิ่มโควตานำเข้า และเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ

 

  1. การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น จัดทำโครงการคนละครึ่งเฟส 5, ขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน, ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง การลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า, การเปิดประเทศโดยสมบูรณ์, การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ, การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม

 

ประธาน กกร. ยังกล่าวอีกว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงานในแต่ละจังหวัด ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด โดยการปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการ จะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้ 

 

“กกร. ขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน” เกรียงไกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising