×

กกพ. พร้อมส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์ ปรับกระบวนการสู่ระบบดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวก

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2023
  • LOADING...
กกพ.

กระแสความนิยมของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม สถานศึกษา โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ และสถานที่อื่นๆ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ทำให้บ้านอยู่อาศัยและภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจโรงงานและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเห็นถึงความสำคัญของการลดค่าไฟ มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ราคาถูกลงกว่าในอดีต จากราคากว่า 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เหลือเพียง 20-25 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และภาคอุตสาหกรรมยังเผชิญปัญหากระแสโลกร้อนที่หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าที่ผลิตจากกระบวนการผลิตที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่มากขึ้นอาจมาจากสังคมผู้สูงวัยที่มีคนอยู่บ้านในช่วงเวลากลางวันมากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานที่บ้านมากขึ้น และในปัจจุบันรัฐบาลก็ได้มีการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจสีเขียว การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าของประชาชน ตลอดจนการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อนตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 และเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2611 ตามความตกลง COP26 ปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา ซึ่งมีกฎ ระเบียบ และกติกาที่จะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะจะต้องมีการขอใบอนุญาตต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งมีทั้งส่วนที่ติดตั้งไว้ใช้เอง และติดตั้งไว้เพื่อจำหน่าย

 

ที่ผ่านมาขั้นตอนการขอใบอนุญาตสำหรับการขอติดตั้งโซลาร์เซลล์มักจะใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากต้องยื่นขอผ่านหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาและขั้นตอนการอนุญาตให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น 

 

โดยจะนำระบบดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ และได้มีการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกติกาและหลักเกณฑ์การขออนุญาตประกอบกิจการพลังงานต่อผู้ประกอบกิจการพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง และได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการให้บริการ การสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ตลอดจนการติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

 

“ที่ผ่านมาการขอติดตั้งโซลาร์รูฟอาจใช้ระยะเวลาที่ยืดเยื้อด้วยปัจจัยหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม การขอติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองสำหรับบ้านอยู่อาศัยเข้าข่ายเป็นการแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งสำนักงาน กกพ. มีการปรับปรุงขั้นตอนให้รวดเร็วขึ้น โดยมีการทำระบบออนไลน์มาใช้มากขึ้นเพื่อลดขั้นตอนที่เคยประกาศ จากเดิมการขอติดตั้งขนาดเล็กสำหรับประชาชนทั่วไปจะต้องแล้วเสร็จใน 1 เดือน และหากเกิน 200 กิโลวัตต์จะต้องเร็วขึ้นกว่า 2 เดือน แต่อาจจะล่าช้าตรงที่ต้องให้การไฟฟ้าฯ จัดคิวตรวจระบบไฟฟ้า ส่วนกลุ่มโรงงาน หรือธุรกิจที่มีจำนวนกิโลวัตต์มากกว่า 1,000 กิโลโวลท์แอมป์ (kVA) จะต้องใช้เวลาในการเริ่มต้นขอใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงปรับปรุง” คมกฤชกล่าว

 

กกพ.

 

ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กกพ. ได้เปิดเวทีสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอนุญาตสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในขั้นตอนการขออนุญาต การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบครบวงจร ครั้งที่ 1 สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานและสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 

 

และครั้งที่ 2 สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการ หรือผู้สนใจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ครั้งละกว่า 350 คน พร้อมเปิดคลินิกไขทุกปัญหา และให้คำปรึกษาการขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบกิจการพลังงานในการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเหมาะสม เพื่อให้การประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของทุกภาคส่วนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีเสถียรภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศโดยรวมต่อไป

 

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันระหว่างสำนักงาน กกพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการกำกับดูแล กับผู้ประกอบกิจการพลังงาน หน่วยงานภาครัฐ สมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่สนใจโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากปัจจุบันมีภาคประชาชนและผู้ประกอบกิจการพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีรูปแบบการพัฒนาธุรกิจที่ซับซ้อน 

 

ดังนั้น สำนักงาน กกพ. จึงได้รวบรวมข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติที่ใช้ประกอบในการขอรับใบอนุญาตที่สำคัญ เช่น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย หลักเกณฑ์การอนุญาตที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม การขอต่ออายุใบอนุญาต การขอเปลี่ยนแปลงรายการภายหลังที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาให้ความรู้ในการสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดให้มีบริการคลินิกไขปัญหา และให้คำปรึกษา ตลอดจนข้อแนะนำในการขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย ถือเป็นการสร้างความเข้าใจในการขอใบอนุญาตในการติดตั้งโซลาร์ทั้งกลุ่มประชาชนและกลุ่มอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ตาม การที่ กกพ. เน้นในเรื่องของโซลาร์รูฟเพราะประชาชนสนใจและเริ่มติดตั้งเยอะขึ้น ซึ่งขนาดต่ำกว่า 1,000 kVA ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต ส่วนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ขอติดตั้งเกิน 1,000 kVA ขึ้นไป จะมีขั้นตอนที่มากกว่าโดยเฉพาะการขอใบอนุญาต จึงต้องอธิบายตามกระบวนการว่าแต่ละขนาดควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อความรวดเร็วในการติดตั้ง

 

กกพ.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising