×

ตัวแทนประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต้องยึดหลัก ‘ความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ขอให้เป็นร่างที่ใช่ ใช้ได้จริง ใช้ได้เลย

โดย THE STANDARD TEAM
21.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (21 ธันวาคม) ที่ประชุมรัฐสภา ในส่วนวาระการนำเสนอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) (ภาคประชาชน) หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน 

 

อรรณว์ ชุมาพร ตัวแทนของผู้เสนอร่างฯ กล่าวว่า ในลำดับแรกต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่อำนวยความสะดวก จนทำให้ประชาชนอย่างพวกเราสามารถเดินทางมาเพื่อเสนอกฎหมายได้ในวันนี้ ตนคิดว่าวันนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ร่างกฎหมายของประชาชนจะได้รับการพิจารณา เหมือนประชาชนได้ส่งเสียงของประชาชนเอง

 

ตลอดระยะเวลาที่คณะขับเคลื่อนทำงานมา 15 ปีในการพูดคุยเรื่องการจัดตั้งครอบครัว หลักการที่นำให้เรามาถึงจุดนี้ หลักการที่เสนอต่อหน้ารัฐ ต่อหน้าระบบราชการ ต่อหน้าศาล ต่อหน้ากระบวนการยุติธรรม และต่อหน้าประชาชน ตลอดเวลาที่ผ่านมา คือหลักการความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย 

 

อรรณว์ได้ยกวิทยานิพนธ์ของ ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร มานำเสนอต่อที่ประชุม พร้อมระบุว่า วิทยานิพนธ์เล่มนี้เขียนมาตั้งแต่ปี 2559 ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นในปี 2560

 

การมีงานวิจัยที่ดีขนาดนี้ทำให้จุดตั้งต้นของเรามีความเข้มแข็ง วิทยานิพนธ์เล่มนี้ชื่อว่า ‘สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ หลักการคือการให้ประชาชนได้ใช้กฎหมายสมรสเสมอกับกฎหมายที่ทุกคนใช้ก่อนหน้า

 

การที่ตนหยิบยกวิทยานิพนธ์นี้มาพูด เพราะอยากให้ทุกคนได้ไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลักการนี้สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติกฎบัตรข้อ 1 ที่ระบุว่า ทุกคนเกิดมามีอิสระความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

‘Born Free Equal and Divinity’ เป็นสิ่งที่เราชี้แจงตลอดระยะเวลาการทำงานตลอด 15 ปีที่ผ่านมา พร้อมไปกับต่อสู้คดีทางการเมืองที่มีการเรียกร้องการสมรสเท่าเทียมถึง 24 คน ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วเราต้องเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลแห่งหนึ่ง เพียงเพราะเราลุกขึ้นมาพูดเรื่องสมรสเท่าเทียมบนท้องถนน

 

อรรณว์กล่าวต่อว่า ระยะเวลาการทำงานของพวกเราที่ผ่านมามีความหมายเสมอ เพราะเราได้เคยเจอเรื่องเล่าและชีวิตจริง ในเรื่องหนึ่งที่ตนจะเล่าคือ เมื่อประมาณ 12 ปีที่ผ่านมา ตนได้ทำงานองค์กรหญิงรักหญิง โดยกรณีแรกที่เจอคือผู้หญิงคนหนึ่งชื่อหนิง หนิงมีแฟนเป็นผู้หญิง หนิงทำหน้างานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ แฟนของหนิงต้องรักษาพยาบาล สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนิงเดินทางไปที่โรงพยาบาลเอกชน ไม่สามารถเซ็นเอกสารรักษาพยาบาลได้ จากนั้นไม่ถึง 10 วันแฟนของหนิงเสียชีวิต

 

หนิงได้พูดคุยและตั้งคำถามว่า ทำไมวันนั้นถึงเซ็นเอกสารไม่ได้ ถ้าเซ็นเอกสารได้แฟนเขาจะรอดใช่ไหม สิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถจะหยุดการเดินทางของการทำงานเรื่องที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้

 

ด้าน ณชเล บุญญาภิสมภาร ตัวแทนประชาชน ได้อ่านหลักการและเหตุผลของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับประชาชน ต่อที่ประชุม โดยระบุว่า

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้บุคคลเพศชายและเพศหญิงตามเพศกำเนิดเท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย ทำให้บุคคลที่มีรสนิยมทางเพศต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่รักเพศเดียวกัน บุคคลข้ามเพศ บุคคลที่รักทั้งสองเพศ หรือบุคคลเพศหลากหลาย ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสและเป็นคู่สมรสกันได้ตามกฎหมาย

 

ทำให้บุคคลเหล่านั้นประสบปัญหาจากการขาดการรับรองสิทธิต่างๆ ที่เกิดจากจดทะเบียนสมรส เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินในการเป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดกจากคู่ชีวิต จึงจำเป็นจะต้องแก้ไขโดยใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศภาวะ

 

ในการยินยอมให้บุคคลทุกเพศกำเนิด ทุกรสนิยมทางเพศ และทุกอัตลักษณ์ทางเพศ สามารถเข้าถึงและจดทะเบียนสมรส เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ โดยที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน ได้ถูกร่างภายใต้หลักการทั้งหมด 6 หลักการ

 

ณชเลกล่าวว่า หลักการแรกให้บุคคลสองคน ทั้งคู่รักต่างเพศ คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักเพศหลากหลาย สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 1448 

 

หลักการที่ 2 ให้บุคคลสองคน ทั้งคู่รักต่างเพศ คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักเพศหลากหลาย สามารถจดทะเบียนสมรสได้ และเมื่อนายทะเบียนได้บันทึกความยินยอมแล้ว ให้บุคคลสองคน ทั้งคู่รักต่างเพศ คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักเพศหลากหลาย เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 1458

 

หลักการที่ 3 ให้บุคคลสองคน ทั้งคู่รักต่างเพศ คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักเพศหลากหลาย ที่จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้วต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรสตามมาตรา 1461 

 

หลักการที่ 4 ให้คู่สมรสที่รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบุพการีที่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

หลักการที่ 5 ให้บุคคลทั้งสองคน ทั้งคู่รักต่างเพศ คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักเพศหลากหลาย ที่จดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย สามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิหน้าที่ของบิดา มารดา และบุพการี

 

และหลักการสุดท้าย ให้บุคคลสองคน ทั้งคู่รักต่างเพศ คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักเพศหลากหลาย ซึ่งจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิหน้าที่ต่างๆ เช่นเดียวกับคู่สมรสชายและหญิง 

 

และบัญญัติให้คู่สมรสเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายบทบัญญัติใดๆ ตามประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และอื่นๆ ที่บัญญัติให้สิทธิแก่สามีภรรยา คู่สมรส หรือบิดามารดา ให้หมายความรวมถึงคู่สมรสและบุพการีตามมาตรา 1598/42 และมาตรา 1598/43 

 

“หากรัฐสภาโปรดรับร่างหลักการ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน รัฐสภาแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะมอบความสุขให้แก่คู่รักที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักเพศหลากหลายเท่านั้น แต่รัฐสภายังจะมอบความสุขให้คนที่เป็นพ่อ คนที่เป็นแม่ คนที่เป็นคนรอบข้างคน นั่นถึงจะเป็นของขวัญรับปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนที่กำลังสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชนนี้” ณชเลกล่าว

 

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง กล่าวว่า ที่สำคัญคือร่างดังกล่าวต้องเป็นร่างที่ใช่ ใช้ได้จริง ใช้ได้เลย ร่างประมวลกฎหมายฉบับนี้ในกฎหมายรองต้องมีการระบุให้ชัดเจน เช่น คำว่าบุพการี ผู้ปกครอง ต้องหมายถึงคู่รักเพศเดียวกัน คู่รักเพศหลากหลายด้วย

 

ตนอยากให้เพิ่มหลักการที่สำคัญในร่างกฎหมาย เพราะเมื่อมีประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะได้ให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที และในฐานะรัฐบาลที่มีอำนาจในการบัญชาการควรสั่งให้หน่วยราชการเตรียมพร้อมใช้ร่างกฎหมายหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising