×

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงปมขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกระทบไทยฟื้นตัว คาดน้ำมันมีโอกาสพุ่งถึง 110-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดันเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้แตะ 4%

16.02.2022
  • LOADING...
รัสเซีย-ยูเครน

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research วิเคราะห์ถึงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่า เรื่องนี้อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดให้ล่าช้าออกไป เนื่องจากทั้งรัสเซียและกลุ่มประเทศยุโรปต่างมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกันค่อนข้างสูง หากมีความขัดแย้งจนถึงขั้นคว่ำบาตรกัน จะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังภูมิภาคอื่น

 

“1 ใน 3 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่ในยุโรปมาจากรัสเซีย หากรัสเซียปิดวาล์วก๊าซขึ้นมา ยุโรปจะเจอปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อแน่นอน ขณะที่รัสเซียก็อาจถูกกลุ่มชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรัสเซียมากเช่นกัน” พิพัฒน์กล่าว

 

โดยพิพัฒน์ได้ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนออกเป็น 3 ฉากทัศน์ 

 

  1. ไม่เกิดการรบหรือบุกทางทหาร เนื่องจากยูเครนและ NATO ยอมเปลี่ยนท่าที เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงจากการกดดันของรัสเซียที่ตอนนี้ส่งทหารล้อมยูเครนเอาไว้แล้วทั้ง 3 ด้าน ซึ่งเปรียบเสมือนการเกทับบลัฟแหลกในการเล่นไพ่เพื่อให้ยูเครนและ NATO ยอมหมอบ

 

  1. รัสเซียใช้กำลังทหารบุก แต่ NATO ไม่ส่งกองกำลังเข้าช่วยแต่ใช้วิธีคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทน ซึ่งผลลัพธ์ของฉากทัศน์นี้จะใกล้เคียงกับการผนวกคาบสมุทรไครเมียของรัสเซียในปี 2014

 

  1. เกิดสงครามเต็มรูปแบบ โดย NATO ส่งกองกำลังเข้าช่วยเมื่อรัสเซียบุก ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุดเช่นกัน เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยุโรปยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ขณะที่การเมืองของสหรัฐฯ ก็ไม่มีนโยบายหนุนการทำสงครามนอกประเทศ

 

พิพัฒน์ระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้ยังยากจะคาดเดาว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่โอกาสที่จะออกมาในแนวทางสันติเริ่มมีสูงขึ้น แต่ก็ยังต้องจับตาดูกรณีที่เกิดฉากทัศน์ที่ 2 เพราะรอบนี้สหรัฐฯ และยุโรปขู่ว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้น มีการพูดถึงการเอาเงินสกุลรัสเซียออกจากระบบดอลลาร์ ไม่ใช่แค่ห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปยังรัสเซียและแช่แข็งสินทรัพย์ผู้ที่เกี่ยวข้องเหมือนเมื่อปี 2014

 

“รอบนี้สหรัฐฯ ขู่ไว้หนักกว่าเดิม ต้องดูว่ารัสเซียจะตอบสนองอย่างไร ถ้าเกิดเหตุการณ์ปิดท่อก๊าซแล้วถูกคว่ำบาตร เศรษฐกิจรัสเซียจะเหนื่อย ทั้งสองฝ่ายต่างรู้ไพ่ตายในมือของแต่ละคนที่จะหยิบเอามาใช้ได้ จีนเองที่มีปัญหาพิพาทเรื่องไต้หวันกับสหรัฐฯ ก็น่าจะจับตาดูสถานการณ์นี้ด้วย” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตลาดกังวลกันในเวลานี้คือหากเกิดการช็อกทางเศรษฐกิจขึ้นมา หน่วยงานที่มีหน้าที่เข้าไปช่วยอย่างธนาคารกลางในหลายประเทศจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมเพราะต้องดูแลเงินเฟ้อไปด้วย เช่นในกรณีของธนารคารกลางสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าขึ้นดอกเบี้ยช้า หรือ Behind the curve ไปแล้ว

 

“หากมองมาที่ไทยจะเห็นว่าเรายังอยู่ในวงจรที่ต่างจากคนอื่น ยังเพิ่มเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วฟื้นกันไปเยอะแล้ว เหมือนเขาปาร์ตี้กันอยู่แล้วเราไปช้าต้องไปช่วยล้างจานอีก แม้ไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน แต่เราจะโดนลูกหลงหางเลขไปด้วย การฟื้นตัวอาจถูกกดดันเช่นเดียวกับการเงินที่จะเกิดความผันผวน” พิพัฒน์กล่าว

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) ประเมินว่า ปัญหาความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสูงจนทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อและลากยาวออกไป ก็มีโอกาสที่ราคาน้ำมันอาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 110-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นไปอีกจนกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

 

“ก่อนหน้านี้เรามองว่าเงินเฟ้อไทยในช่วงปลายไตรมาสแรกถึงต้นไตรมาสสองจะขึ้นไปแตะระดับ 4% ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 2-2.5% แต่ตอนนี้คงต้องจับตาดูผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครนที่จะมีต่อราคาน้ำมัน ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปค้างอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน เงินเฟ้อในช่วงแรกของปีอาจสูงกว่า 4% ขณะที่เฉลี่ยทั้งปีอาจขึ้นไปแถวๆ ระดับ 4% ได้” นริศกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising