×

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปชี้ รัสเซียต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตเจ้าหน้าที่หน่วย KGB ด้วยยาพิษในอังกฤษเมื่อ 15 ปีก่อน

22.09.2021
  • LOADING...
Russia

ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Rights: ECHR) ตัดสินเมื่อวันอังคารว่า รัสเซียต้องรับผิดชอบในเหตุลอบสังหาร อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองและหน่วยงานความมั่นคงของสหภาพโซเวียต หรือ KGB ซึ่งเสียชีวิตในปี 2006 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว หลังเขาถูกวางยาพิษด้วยสารโพโลเนียม-210 ที่กรุงลอนดอน โดยศาลสั่งให้รัสเซียจ่ายค่าเสียหายที่คำนวณเป็นเงินไม่ได้จำนวน 100,000 ยูโร และค่าใช้จ่ายอีก 22,500 ยูโร แก่มารินา ภรรยาม่ายของ อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก แต่ปฏิเสธข้อเรียกร้องค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages) ที่มารินาเรียกร้อง

 

ทั้งนี้ อังกฤษเองกล่าวตำหนิรัสเซียในเรื่องนี้มานานแล้ว และการตัดสินดังกล่าวของ ECHR ในเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ก็ทำให้มีปฏิกิริยาในเชิงตำหนิตามมาจากรัฐบาลรัสเซียอย่างรวดเร็ว

 

อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก ได้กล่าวถึงการคอร์รัปชันในรัสเซีย ก่อนจะหนีไปยังอังกฤษกับครอบครัว และได้รับสัญชาติอังกฤษเพียง 1 เดือนก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต เขาถูกมองว่า ทรยศต่อหน่วยความมั่นคงกลาง (Federal Security Service: FSB) ซึ่งเป็นหน่วยหลักในการสืบทอดภารกิจของ KGB โดยกล่าวหาว่า FSB เป็นผู้ดำเนินการวางระเบิดอพาร์ตเมนต์ในรัสเซียเมื่อปี 2542 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 200 ราย โดยรัฐบาลรัสเซียกล่าวหากลุ่มกบฏเชเชนในกรณีนี้ ลิตวิเนนโกยังมีความใกล้ชิดกับผู้ไม่เห็นด้วยกับรัสเซียหลายคน และได้กล่าวหารัฐบาลของ วลาดิเมียร์ ปูติน ว่าสมรู้ร่วมคิดกับองค์กรอาชญากรรม

 

ภาพของลิตวิเนนโกวัย 43 ปีที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลในกรุงลอนดอน เคยถูกตีพิมพ์ผ่านหนังสือพิมพ์อังกฤษและหนังสือพิมพ์ในโลกตะวันตกอื่น ลิตวิเนนโกบอกกับนักสืบว่า เขาเชื่อว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งก็เคยเป็นสายลับของ KGB เช่นกัน เป็นผู้สั่งการให้สังหารเขาโดยตรง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธ เหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและรัสเซียนั้นย่ำแย่ลงจนถึงระดับต่ำสุดหลังสงครามเย็น

 

การไต่สวนของอังกฤษมีข้อสรุปเมื่อปี 2016 ว่า อดีตบอดี้การ์ดของ KGB อย่าง อันเดร ลูโกโวย์ และชาวรัสเซียอีกคนหนึ่งคือ เดมิทรี โกฟตุน เป็นผู้สังหาร โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่อาจจะถูกกำกับโดย FSB ซึ่งเป็นหน่วยหลักในการสืบทอดภารกิจของ KGB ซึ่ง ECHR เห็นสอดคล้องกับมุมมองดังกล่าว โดยระบุว่า การลอบสังหารนั้นเกิดจากลูโกโวย์และโกฟตุนอย่างไม่มีข้อสงสัย ในการแถลงของ ECHR ยังระบุถึงการเดินทางของลูโกโวย์และโกฟตุนเข้าสหราชอาณาจักรและพบกับลิตวิเนนโกถึง 3 ครั้งในเดือนตุลาคม ปี 2006 ซึ่งตรวจพบการปนเปื้อนของโพโลเนียมในสถานที่ซึ่งลูโกโวย์และโกฟตุนได้พัก เดินทางไป หรือพบกับลิตวิเนนโก รวมถึงกาน้ำชาในบาร์ของโรงแรมที่มีรายงานว่า พวกเขาพบกับลิตวิเนนโกและดื่มชา นอกจากนี้การเดินทางของลูโกโวย์และโกฟตุน ซึ่งได้พบกับลิตวิเนนโกดังกล่าว ยังอยู่ในห้วงเวลาใกล้เคียงกับที่ลิตวิเนนโกมีอาการป่วย

 

ทั้งนี้ ลิตวิเนนโกเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 2006 และสาเหตุการเสียชีวิตถูกระบุว่า เป็นกลุ่มอาการป่วยจากรังสีเฉียบพลันที่เกิดจากโพโลเนียม-210 ในระดับที่สูงมาก ซึ่งเข้าสู่ร่างกายในลักษณะของสารประกอบที่ละลายน้ำได้โดยการกลืนกิน แม้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2007 จะมีการพิจารณาว่ามีหลักฐานเพียงพอในการตั้งข้อหากับลูโกโวย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่อังกฤษมีความพยายามขอรับการส่งตัวเขามาดำเนินคดี แต่กลับถูกปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซีย เนื่องจากกลไกการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของรัสเซีย และต่อมาในปี 2011 ก็มีการตั้งข้อหาฆาตกรรมกับโกฟตุนเช่นกัน

 

ECHR ยังระบุว่า รัสเซียควรมีข้อมูลที่จะพิสูจน์ได้ หากชายทั้งคู่กระทำการโดยปราศจากการรับรู้หรืออนุญาตของผู้บังคับบัญชา แต่รัฐบาลรัสเซียไม่ได้มีความพยายามอย่างจริงจังในการให้ข้อมูลเหล่านั้นหรือคัดค้านข้อค้นพบของเจ้าหน้าที่ทางการสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ดมิทรี เดโดฟ ผู้พิพากษาชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษา 7 ราย ไม่เห็นด้วยกับผู้พิพากษารายอื่นในข้อค้นพบหลักของศาล โดยระบุว่า พบข้อบกพร่องหลายประการในการวิเคราะห์โดยการไต่สวนของอังกฤษและโดยศาล ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความเกี่ยวข้องของผู้ต้องสงสัยในการวางยาพิษและการปฏิบัติในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ

 

ส่วน เดมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่า ECHR แทบไม่มีอำนาจหรือความสามารถทางเทคโนโลยีในการครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนยังไม่มีผลจากการสอบสวนนี้ และการกล่าวอ้างดังกล่าวไม่มีมูลเลยแม้แต่น้อย สำนักข่าว The Guardian ยังรายงานว่า เพสโคฟยืนยันว่ารัสเซียจะไม่จ่ายเงินตามที่ศาลกำหนด

 

ขณะที่ลูโกโวย์และโกฟตุนก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องมาโดยตลอด ลูโกโวย์ระบุเมื่อวันอังคารว่า การพิจารณาเรื่องนี้ของ ECHR มีแรงจูงใจทางการเมือง

 

ภาพ: Bruno Vincent / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising