×

ดีแทค เน็ตทำกิน จับมือ ดีป้า มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ ยังแฮปปี้ ร่วมกันทำ ‘เน็ตทำกิน’ ภารกิจปั้นวัยเก๋า 50+ ให้พร้อมเป็นผู้ประกอบการที่เต็มไปด้วยความรู้ด้าน ‘ดิจิทัล’

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2021
  • LOADING...
DTAC

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ‘สังคมผู้สูงวัย’ ถือเป็นอีกเมกะเทรนด์หนึ่งของโลก โดยในประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้สูงวัยในตอนนี้สูงถึงประมาณ 20% และจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2576 ซึ่งการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน
  • เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต สร้างพฤฒพลังให้ผู้สูงวัย ส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของผู้สูงวัย ดีแทค เน็ตทำกิน จึงได้จับมือกับ ดีป้า มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ ยังแฮปปี้ (YoungHappy) เปิดโครงการ เน็ตทำกิน ในภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+
  • ภารกิจดังกล่าววางเป้าหมายที่จะยกระดับทักษะดิจิทัลให้ผู้สูงวัยอาศัยลำพังรุ่นแรก 250 คน ให้พึ่งพาตนเองได้ท่ามกลางสภาวะการเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ พร้อมกับเชื่อว่า เศรษฐกิจสูงวัยขับเคลื่อนได้ด้วยองค์ความรู้ด้านดิจิทัลและความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ

ต้องยอมรับว่า ‘สังคมผู้สูงวัย’ ถือเป็นอีกเมกะเทรนด์หนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรผู้สูงวัยโลกที่มีอายุกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนกว่า 1,500 ล้านคน ในปี 2593

 

ขณะที่ประเทศไทย จำนวนผู้สูงวัยในตอนนี้สูงถึงประมาณ 20% และจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2576 โดยในอีก 30 ปีข้างหน้าคาดว่าประชากรกลุ่มเกษียณและเตรียมเกษียณจะมีจำนวนถึง 30 ล้านคน

 

ดังนั้นการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขอย่างมาก จากแนวโน้มสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ 

 

ซึ่งปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ ‘ปัญหาภาระพึ่งพิงทางสังคมของผู้สูงวัย’ (Social Dependency) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงวัยต่อวัยแรงงานจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7% เป็น 56.2% ในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ คือหนึ่งในคำตอบของเรื่องนี้ และกลายเป็นเป้าหมายของ ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ ที่มุ่งมั่นจะปิดช่องว่างดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงวัยในประเทศไทย

 

“ดีแทคมองว่าดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญ (Key Enabler) ที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต สร้างพฤฒพลังให้ผู้สูงวัย ส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของผู้สูงวัย เปลี่ยนจากประชากรผู้มีความเปราะบางสู่ประชากรที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อสังคมอย่างยั่งยืน และดีแทค เน็ตทำกิน ภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจนี้” ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

 

DTAC

 

ภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+

สำหรับ ‘โครงการดีแทค เน็ตทำกิน’ ในภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ นั้นได้รับความร่วมมือจาก 3 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาผู้สูงวัย ‘ยังแฮปปี้’ ซึ่งได้กำหนดจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างเสริมทักษะและความรู้ในการค้าขายออนไลน์ การแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจดิจิทัล รวมทั้งการให้ความรู้เพื่อรับมือกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์ให้ผู้สูงวัยด้วย 

 

โดยภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ดีแทคโดยทีมงานดีแทค เน็ตทำกิน จะรับผิดชอบการอบรมการตลาดออนไลน์ ให้บริการพี่เลี้ยงและหาจุดขายให้แก่ผู้สูงวัย ตลอดจนร่วมเป็นแอดมินเพจ และช่วยแนะนำ แก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการออนไลน์วัยเก๋าหน้าใหม่ จนกว่าจะมีความมั่นใจและสานต่อดูแลธุรกิจออนไลน์ของตัวเองได้

 

ขณะที่ดีป้าให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนโครงการและเชื่อมโยงพันธมิตรกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้านมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยจะทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการและร่วมจัดการอบรมเกี่ยวกับการรับมือกับภัยเสี่ยงในโลกออนไลน์ 

 

และในส่วนของยังแฮปปี้นั้นจะรับผิดชอบทางด้านการคัดเลือกผู้เข้าอบรม รูปแบบและการบริหารกิจกรรม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ลำพัง ต้องการหารายได้เสริม โดยตั้งเป้าอบรมผู้สูงวัยจำนวนทั้งสิ้น 250 คน ในระยะแรกนี้

 

DTAC

 

โอกาสในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจผู้สูงวัย

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า เศรษฐกิจผู้สูงวัย หรือ Silver Economy ถือเป็น 1 ใน 5 สาขาเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ 

 

“หากผู้สูงวัยได้รับการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้เป็นผู้สูงวัยที่เข้มแข็งทั้งกายและใจ ก็จะนำมาซึ่งโอกาสมหาศาลในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจผู้สูงวัยในประเทศที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องประมาณ 5-10% ต่อปี”

 

โดยดีป้ามองว่า การส่งเสริมให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมยังช่วยส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็น การลดความเสี่ยงต่ออันตรายจากอุบัติเหตุผ่านเทคโนโลยี IoT การสร้างเกมเพื่อพัฒนาการทำงานของสมองในผู้สูงวัย การติดตามสุขภาวะหรือสุขภาพเชิงดิจิทัล และการเข้าถึงการรักษาแบบออนไลน์

 

ชารัดทิ้งท้ายว่า “ในวาระที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2564-2573 เป็นทศวรรษแห่งสูงวัยสุขภาวะดี (Decade of Healthy Ageing) ดีแทคในฐานะองค์กรเอกชน และ Corporate Citizenship ที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสังคมสูงวัยยุคดิจิทัลที่แข็งแรงผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างสังคมดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสดีได้อย่างทั่วถึง เพื่อชีวิตเท่าเทียม”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising