×

ดิจิทัลวอลเล็ต: จุดรั่วไหล (Leakage) ของตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) จากเศรษฐกิจไทยที่ขับเคลื่อนด้วยโลกาภิวัตน์

03.11.2023
  • LOADING...

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) เป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งมีเดิมพันสูง เนื่องจากเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง และเป็นนโยบายที่มีต้นทุนสูง เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องของประชาชนในวงกว้าง บทความนี้นำเสนอจุดรั่วไหล (Leakage) ของค่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่เกิดมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และอาจทำให้ผลประโยชน์สุทธิ (Net Benefit) ของนโยบายไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ 

 

​แน่นอนว่าจุดขายของนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลคือการเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้หย่อนเงินลงไป รัฐบาลและนักวิชาการที่สนับสนุนดิจิทัลวอลเล็ตมักพูดถึงตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวคิดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ หรือมีชื่ออีกอย่างว่า Keynesian Multiplier ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ของการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเอกชน (ที่มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาล) ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากกว่ามูลค่าเริ่มแรกของการจับจ่ายใช้สอย การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการผลิตเป็นห่วงโซ่ จนมีคำกล่าวว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้สามารถสร้าง “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” ให้กับประเทศได้ 

ขนาดของพายุหมุนหรือค่าตัวคูณขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้จ่ายจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume: MPC) เช่น หากมีรายได้เพิ่มขึ้น 10,000 บาท และผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 6,000 บาท ค่า MPC จะเท่ากับ 0.6 ก่อเกิดเป็นค่าตัวทวีเท่ากับ 1/(1-0.6) = 2.5 เท่า หรือพูดง่ายๆ ว่า ใส่เงินไป 10,000 บาท จะก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจรวม 25,000 บาท ค่าตัวคูณเท่ากับ 4.0 จึงหมายถึงการมี MPC เท่ากับ 0.75

 

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อ MPC ไม่ว่าจะเป็นการออม ภาษี และหนี้ จึงเป็นที่มาของเงื่อนไขของดิจิทัลวอลเล็ตว่าห้ามใช้ไปกับการออมและการจ่ายหนี้ เพื่อผลักดันให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในประเด็นของการออมและการจ่ายหนี้นั้น แม้ประชาชนจะไม่สามารถนำเงินดิจิทัลไปออมหรือจ่ายหนี้ได้โดยตรง แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ได้รับเงินดิจิทัลย่อมสามารถจัดสรร (Allocate) เงินในกระเป๋าของตนเองเพื่อออมและจ่ายหนี้ได้ การบังคับไม่ให้ออมหรือจ่ายหนี้โดยเชื่อว่าจะสามารถผลักเงินเข้าสู่ระบบได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นจึงอาจไม่สะท้อนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย-ออม-จ่ายหนี้ของประชาชน  

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอคือ การรั่วไหลของการกระตุ้นเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่เข้าเป็นไปส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กและเปิด (Small Open Economy) ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่นำพาไทยให้หลุดจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในช่วงปี 1950 มาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกในปี 1990 และกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางฐานบนในปี 2010 

ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนการระบาดของโรคโควิด มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Trade-to-GDP Ratio) ซึ่งเป็นดัชนีที่นักเศรษฐศาสตร์นิยมใช้ในการวัดระดับของการเปิดเสรีการค้า อยู่ที่ร้อยละ 109.7 (ขณะที่สัดส่วนของการส่งออกและนำเข้าสินค้าอยู่ที่ร้อยละ 88.7) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ทำให้ไทยเป็น ‘Supertrading Nations’ ตามนิยามของ พอล ครุกแมน นอกจากนั้น นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา การค้าระหว่างประเทศของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการเข้าร่วมในเครือข่ายการผลิตข้ามชาติ (Global Production Networks) ซึ่งเป็นการแบ่งขั้นตอนการผลิตออกเป็นงาน (Tasks) จำแนกเป็นการผลิตชิ้นส่วน (Parts and Components) และการประกอบ (Final Assembly) ในสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ งานเหล่านี้ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และช่วยเร่งกระบวนการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรมาเป็นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

งานวิจัยหลายชิ้น เช่น Ilzetzki et al. (2013) และ Riguzzi & Wegmueller (2017) พบว่า ประเทศที่มีระดับของการเปิดเสรีการค้าสูงมักมีค่าตัวคูณทางการคลังต่ำ เนื่องจากการรั่วไหลผ่านการนำเข้า (Leakage Through Imports) อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้น เช่น Cacciatore & Traum (2022) พบว่า ประเทศที่มีระดับของการเปิดเสรีการค้าสูงอาจมีค่าตัวคูณทางการคลังที่สูง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของสัดส่วนการนำเข้าของภาครัฐและเอกชน และการชำระหนี้ของรัฐบาล

 

เมื่อการนำเข้าเป็นจุดรั่วไหลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีผลทำให้ค่า MPC และค่า Multiplier ต่ำ ดังนั้นรัฐบาลและนักวิชาการที่สนับสนุนดิจิทัลวอลเล็ตจึงไม่เพียงให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายภายในพื้นที่จำกัด (เช่น ในอำเภอเดียวกัน) แต่รวมถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น (Locally Made Products) และร้านค้า/วิสาหกิจชุมชน ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ค่า MPC สูงสุด หวังผลักเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

ความพยายามในการเพิ่มค่าตัวคูณทางการคลังผ่านการสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นนั้น อาจเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคบิดเบือนการบริโภค (Distortion) จากสินค้านำเข้าที่มีราคาถูก (เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสในการผลิตในไทยแพงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น) เป็นสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นหรือในประเทศ แต่มีต้นทุนและราคาแพงกว่า ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานของระบบเศรษฐกิจลดลง และสวัสดิการของสังคมลดลง

 

นัยสำคัญของการมุ่งเพิ่มตัวทวีคูณทางการคลังผ่านการ ‘จู้จี้’ ในการจับจ่ายใช้สอย คือการเพิ่มบรรยากาศของการกีดกันทางการค้า (Protectionism) โดยไม่จำเป็น บรรยากาศดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการใช้มาตรการทางการค้าที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี แต่เป็นรากทางความคิดที่มุ่งเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้วยการลดการนำเข้าและพยายามผลิตทุกอย่าง โดยละเลยต้นทุนค่าเสียโอกาสในการผลิตสินค้านั้น 

 

แม้การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าการค้าจะหมายถึงการนำเข้าสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) มาผลิตต่อหรือนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย และไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่การให้ความสำคัญที่มากเกินไปกับสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นอาจเพิ่มความเกลียดกลัวสินค้านำเข้า อาจส่งผลต่อกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์อันเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย 

ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิดนั้น กระแสการทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพราะผู้นำและผู้กำหนดนโยบายต้องการสงวนกิจกรรมทางเศรษฐกิจไว้ให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่พาโลกกลับไปสู่ยุคของการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Era) แต่องค์กรระหว่างประเทศอย่าง World Bank และ World Economic Forum ต่างเรียกร้องให้ประเทศสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าและลดอุปสรรคทางการค้า เนื่องจากเห็นว่าการค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพ 

ดังนั้นรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรให้ความระมัดระวังกับเงื่อนไขของการใช้เงินดิจิทัล ที่แม้สามารถปิดจุดรั่วไหลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจบิดเบือนการบริโภคของประชาชน และส่งผลกระทบต่อทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising