×

ยังจำได้ไหม จำได้หรือเปล่า…หวนคืนวันวาน สัญลักษณ์ความอร่อยก่อนดาวมิชลิน

22.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins read
  • ย้อนรอยอดีตหาสัญลักษณ์ความอร่อยคู่ใจนักชิมที่ครั้งหนึ่งเคยทรงอิทธิพลที่สุดในเมืองไทย และความขลังขึ้นชื่อที่ส่งผลต่อร้านอาหารในยุคนั้นจวบจนปัจจุบัน
  • ความเป็นมาของ ‘เชลล์ชวนชิม’ ตราการันตีรสชาติอายุครึ่งศตวรรษ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘มิชลินไกด์’ ของยางรถมิชลิน ที่มอบดาวสัญลักษณ์ความอร่อยให้คนขับรถไปลิ้มลอง
  • ใครจะคิดว่าที่มาของ ‘เปิบพิสดาร’ ตราความอร่อยของนักชิมฝีปาก (กา) กล้าที่ดำเนินมากว่า 4 ทศวรรษจนถึงปัจจุบัน แท้จริงแล้วเกี่ยวโยงอย่างไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม

     ก่อนจะมีโซเชียลมีเดียที่เหล่าฟู้ดดี้จำนวนไม่น้อยต่างตั้งตนเป็นกูรูแนะนำร้านอาหารอร่อยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็เป็นเหมือนกับงานอดิเรกของคนรุ่นใหม่ในสมัยนี้ที่ไม่ว่าจะแวะไปชิมที่ไหนก็ต้องเช็กอินและโพสต์แนะนำร้านอาหารที่ตนชอบและติดใจในรสชาติกัน ซึ่งนั่นก็เป็นข้อดีในแง่ที่ทำให้เราแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันได้อย่างฉับไว

     แต่ในสมัยก่อนที่ไม่มีเครื่องมือออนไลน์แบบนี้ล่ะ? คนเราจะเสาะหาร้านอร่อยที่เชื่อใจในรสชาติได้อย่างไร ถ้าพูดถึงระดับสากลก็คงหนีไม่พ้นตราสัญลักษณ์ความอร่อยระดับโลกอย่าง ‘มิชลินสตาร์’ ในหนังสือคู่มือมิชลิน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.​ 1926 จนถึงทุกวันนี้ และก็อย่างที่หลายคนก็น่าจะทราบกันดีว่าเมืองไทยเรากำลังจะมีมิชลินไกด์บุ๊กฉบับกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจะเปิดตัวในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 นี้ นับเป็นความตื่นเต้นสำหรับนักกินทั้งไทยและเทศ ที่จะได้สนุกสนานกับประสบการณ์กินตามดาวมิชลินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความอร่อยระดับสากล

     แต่ก่อนหน้านั้นในสมัยที่ยังไม่มีทั้งมิชลินไกด์ฉบับกรุงเทพฯ​ คนไทยเรามีสัญลักษณ์อะไรบ้างที่พอจะการันตีถึงคุณภาพและรสชาติ THE STANDARD ชวนคุณมาย้อนรำลึกถึงสัญลักษณ์ความอร่อยในอดีต ตั้งแต่สมัยที่พวกเราหลายคนยังเด็ก และหลายคนอาจจะยังไม่เกิดเลยด้วยซำ้ ยังจำได้ไหม…จำได้หรือเปล่า?

 

ตำนาน 50 ปีของ ‘เชลล์ชวนชิม’

     ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 สมัยที่น้ำมันพรีเมียม 95 ยังราคาลิตรละ 2.10 บาท ช่วงเวลานั้น รัฐบาลขณะนั้นกำลังตัดถนนสายใหม่ไปทั่วประเทศสัญลักษณ์ความอร่อยอันเป็นตำนานของ ‘เชลล์ชวนชิม’ เกิดจากไอเดียของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ซึ่งหลายคนอาจจะรู้จักท่านในฐานะของประธานมูลนิธิโครงการหลวง

     แต่เมื่อย้อนไปเมื่อความคิดดังกล่าวได้เกิดขึ้น ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายและการโฆษณาของบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ด้วยหน้าที่ของท่านในขณะนั้นซึ่งต้องทำกิจกรรมการตลาดเพื่อส่งเสริมการขาย เมื่อได้ปรึกษากับ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ จึงได้เกิดไอเดียในการมอบตราสัญลักษณ์ความอร่อยของเชลล์ให้กับร้านอาหาร โดยแรงบันดาลใจมาจาก ‘มิชลินไกด์’ ของยางรถมิชลิน ที่มอบดาวอันเป็นสัญลักษณ์ความอร่อยให้แก่ร้านอาหารร้านเด็ด เพื่อให้คนขับรถนักเดินทางได้นำไปเป็นคู่มือในการสรรหาร้านอร่อยรับประทาน เป็นการกระตุ้นให้คนได้ขับขี่และกระตุ้นยอดขาย ‘เชลล์ชวนชิม’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีเชลล์เป็นสปอนเซอร์ค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง และค่าเรื่อง

     ส่วน ม.ร.ว.ถนัดศรี เป็นผู้ชวนชิมและมอบตราสัญลักษณ์ความอร่อยให้กับร้านอาหารที่ ‘สอบผ่าน’ พร้อมทั้งเขียนคอลัมน์แนะนำลงในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งเริ่มเขียนตอนแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2504 ทั้งนี้ทางเชลล์ หรือ ม.ร.ว.ถนัดศรี ไม่ได้มีการเรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ จากทางร้าน หากแต่ร้านจะต้องผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ ดังนี้

 

 

เกณฑ์การพิจารณาของเชลล์ชวนชิม

  1. อาหารอร่อยได้มาตรฐาน
  2. บริการดี
  3. ถูกหรือแพงไม่สำคัญ​ ขอให้อร่อยเป็นพอ
  4. ต้องปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

 

     ก่อนที่โลโก้ของเชลล์ชวนชิมจะกลายมาเป็นสัญลักษณ์รูปชามเบญจรงค์ลายผักกาดอย่างที่หลายคน (ที่เกิดทัน) คุ้นตากันนั้น ความจริงแล้วก่อนหน้านั้นโลโก้ของเชลล์ชวนชิมเป็นรูปตราสัญลักษณ์เชลล์และก๊าซหุงต้ม ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะลิงก์กับช่วงสมัยแรกที่เชลล์เพิ่งเริ่มจำหน่ายก๊าซหุงต้มนั่นเอง มาเปลี่ยนเป็นรูปชามอย่างที่ทุกคนคุ้นตากันดีก็เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2525

     อนึ่ง ม.ร.ว.ถนัดศรี เคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของการให้ตราสัญลักษณ์แล้วไม่ไม่มีการยึดคืน เพราะจะเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของโลโก้เชลล์ชวนชิมเอาไว้ว่า “เพราะจะถือเป็นการสร้างศัตรู ซึ่งร้านที่ได้รับไปก็จะต้องรักษามาตรฐานเอาเอง และคนกินก็จะเป็นคนตัดสิน”

     หลังจากที่สิ้นสุดวาระใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ม.ร.ว.ถนัดศรีก็ย้ายคอลัมน์ไปอยู่กับกับอีกหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกหลายแห่ง อาทิ ฟ้าเมืองไทย จนมาสิ้นสุดในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 27 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2555 หลังจากที่ทางบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ไม่ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนอีกต่อไป จึงเป็นการปิดฉากตำนานสัญลักษณ์ความอร่อยโลโก้แรกของไทยลงอย่างสมบูรณ์

 

 

เชลล์ชวนชิมในความทรงจำของร้านบะหมี่ปู ‘ตั้งเลียกเส็ง’

     ร้านบะหมี่ปูเจ้าเก่าแห่งบางขุนนนท์ มีประวัติความเป็นมานับย้อนหลังไปได้ถึง 85 ปี โดยเดิมทีนั้นตั้งเลียกเส็งดำเนินกิจการอยู่ในย่านสะพานพุทธ​ ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของ คุณลุงสุรินทร์ นุชจิรสุวรรณ วัย 70 ปี ความจริงแล้วร้านนี้ได้รับตราสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมมาแล้วถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในรุ่นของคุณพ่อของคุณลุงสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2498 และต่อมาก็เป็นที่รุ่นที่ 2 คือ พี่ชายของลุงสุรินทร์ จนมาถึงยุคที่ 3 คือ ลุงสุรินทร์ ซึ่งได้ย้ายร้านมาอยู่ที่บางขุนนนท์ และหลังจากที่เพิ่งย้ายร้านมาได้เพียงไม่กี่เดือน ตั้งเลียกเส็ง ณ​ บางขุนนนท์ก็ได้รับตราสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมซำ้อีกรอบ

 

 

“เชลล์ชวนชิมในสมัยนั้นมีความน่าเชื่อถือมากไหม” THE STANDARD ถาม รุ่นที่ 3 ผู้สืบสานรสชาติของบะหมี่ปูเจ้าเก่าแก่

     “สมัยนั้นเชลล์ชวนชิมถือว่าน่าเชื่อถือมาก เพราะเป็นสัญลักษณ์ความอร่อยที่มีอยู่เพียงเจ้าเดียวเลย ถามว่ามีผลให้ลูกค้าของเราเยอะขึ้นไหม ก็บอกได้เลยว่ามีมากขึ้น ทั้งตอนที่คุณพ่อของผมได้จากร้านแรก และตอนที่ย้ายร้าน ซึ่งก็ทำให้เรามีลูกค้ามาเรื่อยๆ ซึ่งหลายคนก็เป็นลูกค้าประจำกันมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่าตามมากินกันตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ซึ่งถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีสัญลักษณ์ความอร่อยอื่นๆ ตามมา อย่างมีรายการอะไรมาถ่ายแล้วเขามอบรูปหรือตราเอาไว้ให้ แต่ผมก็ไม่ได้เอาออกมาโชว์เพราะเห็นว่าเรามีตราของคุณพ่อ (ม.ร.ว.ถนัดศรี) เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว

 

 

เมื่อคุยกันถึงเหตุผลที่ทำให้ร้านได้รับตราสัญลักษณ์การันตีความอร่อย ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรสชาติ และบริการที่ได้เรื่องตามมาตรฐานเชลล์ชวนชิม

     “ก่อนหน้านี้คุณพ่อท่านมาที่ร้านของเราแทบจะทุกเดือน เพิ่งจะหยุดมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เองด้วยวัยที่มากขึ้น เคยถามท่านอยู่เหมือนกันว่าทำไมจึงมอบเชลล์ชวนชิมให้กับเรา ท่านบอกว่าร้านเรารสอร่อยเป็นธรรมชาติดี อย่างน้ำซุปเราก็ใช้ไก่ทั้งตัวกับกระดูกไก่อีกหลายกิโลกรัม ทำให้หวานน้ำต้มกระดูก ไม่มีการใช้ชูรสใดๆ อย่างบะหมี่ที่ร้านอื่นส่วนใหญ่ก็เป็นแป้ง แต่เส้นบะหมี่ทำเองของเราใช้ไข่เป็นส่วนผสมเยอะ ส่วนปูที่หลายๆ ร้านใช้มักจะให้แค่เศษปู แต่ของเรามาเป็นก้าม คัดขนาดมาอย่างดีแถมยังขายในราคาไม่แพง (บะหมี่ปูเริ่มต้นที่ 40 บาท ส่วนบะหมี่ก้ามปูเริ่มต้นที่ 60 บาท)”

     ลองชิมแล้วเส้นบะหมี่เหนียวนุ่ม เนื้อปูดำทะเลสดๆ เต็มรสชาติ ส่วนน้ำซุปก็หวานน้ำต้มกระดูก ด้านข้าวหมูแดงก็หอมกลิ่นย่าง นอกจากนี้ทางร้านยังมีข้าวหมูกรอบกับเปาะเปี๊ยะสดที่น้ำราดเป็นสูตรต้นตำรับที่ไม่หวานเลี่ยน แต่กลมกล่อม ทั้งหมดสนนราคาไม่แพงเลย ตกจานละ 35-40 บาทเท่านั้น

 

ไม่อยากจะได้สัญลักษณ์ความอร่อยอื่นๆ อีกบ้างหรือ สมัยนี้ก็มีตั้งมากมาย ถ้าเอาออกมาติดแล้วอาจจะทำให้ลูกค้ามากขึ้นก็ได้

     “มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอกครับ คือลูกค้าเราก็มีอยู่แล้ว เราทำของอร่อยมีคุณภาพในราคาที่ถูก อย่างไรเสียลูกค้าก็ต้องมา โอเคว่ามีคนมาถูกใจให้ตราอะไรอีกมันก็อาจจะช่วยได้ แต่ที่สำคัญก็คือเราก็ต้องอร่อยไว้ก่อน และเราก็มีเชลล์ชวนชิมที่คุณพ่อให้มาการันตีอยู่แล้ว แค่นี้ผมว่าเราเพียงพอแล้ว เราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย”

 

คำตอบง่ายและสั้น ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘ตั้งเลียกเส็ง’ มีสัญลักษณ์ความอร่อยของเชลล์ชวนชิมเพียงอย่างเดียวประดับไว้ภายในร้าน พร้อมกับภาพของ ม.ร.ว.ถนัดศรี แต่ก่อนที่จะจากร้านบะหมี่ปูเจ้าเด็ดย่านบางขุนนนท์ไป เราถามคำถามเดียวกันนี้กับ ‘รุ่นที่ 4’ คุณศิริธวัช นุชจิระสุวรรณ ลูกชายของคุณลุงสุรินทร์ ซึ่งให้คำตอบกับเราว่า

     “ก็อยากจะขายดีนะ แต่ผมมองว่าฐานของเรามันก็มาแบบนี้ การจะมีอะไรเยอะแยะมันก็อาจไม่ใช่ทาง และเราก็มั่นใจในเชลล์ชวนชิม การที่บอกว่าถ้าได้สัญลักษณ์ความอร่อยรุ่นใหม่ๆ แล้วจะทำให้ขายดีกว่านี้มันก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ให้มันเป็นเรื่องของอนาคตไป ทุกวันนี้คุณพ่อของผมท่านยังเป็นคนตัดสินใจอยู่ มันก็เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ในอนาคตถ้าจะมีอะไรมาก็ค่อยพิจารณากันไป

 

 

‘เปิบพิสดาร’ ป้ายเขียวที่การันตีรสโอชามากว่า 4 ทศวรรษ

     ถัดจากป้ายเชลล์ชวนชิมที่ทุกวันนี้กลายเป็นสัญลักษณ์สุดคลาสสิก อีกหนึ่งป้ายการันตีความอร่อยที่ปรากฏให้เห็นจนชินตาหนีไม่พ้นป้ายกลมสีเขียวแปะตรา ‘เปิบพิสดาร’ ที่มักมากับคำว่า ‘แม่ช้อย นางรำ’ นามปากกาอันทรงอิทธิพลในหมู่นักชิมไทยตั้งแต่ยุค 80s เรื่อยมา

     ‘แม่ช้อย นางรำ’ เป็นนามปากกาของนักชิมและกูรูด้านอาหาร ‘สันติ เศวตวิมล’ อดีตนักข่าวสงครามและนักหนังสือพิมพ์ผู้โด่งดังที่สุดในฐานะนักชิม คอลัมนิสต์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของเมืองไทย โดยเป็นชื่อที่เริ่มต้นจากการจรดปากกาเขียนบทความด้านอาหารให้กับหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ แต่น้อยคนจะรู้นักว่าคอลัมน์เปิบพิสดารนั้นกลับเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

     เนื่องจากคอลัมน์การเมืองใต้นามปากกาว่า ‘สามตา’ ของเขาถูกจับตามองจากรัฐบาลในขณะนั้นจนถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเขียนบทความ ทำให้เขาหันปลายปากกาด้ามคมไปเขียนบทความอันมาจากความสนใจใคร่รู้ส่วนตัว กอปรกับความทรงจำสมัยเด็กเคยติดตามคุณพ่อไปชิมอาหารตามร้านอาหารย่านต่างๆ อาทิ พระนครและกรุงธนบุรี คอลัมน์ ‘เปิบพิสดาร’ จึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2519 โดยมี สมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการ ไทยรัฐ ขณะนั้นเป็นผู้ตั้งชื่อ

     ส่วนนามปากกา ‘แม่ช้อย นางรำ’ ที่ฟังดูละม้ายคล้ายชื่อของผู้หญิงนั้น แท้จริงแล้วมาจากชื่อต้นช้อยนางรำในบทประพันธ์ ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นสัญลักษณ์ของไม้เลื้อยที่ปีนป่ายขึ้นที่สูงด้วยการพันกับต้นไม้ใหญ่ แต่ไม่ทำลายต้นไม้ที่เกาะ ต่างกับกาฝาก เหตุผลที่เลือกชื่อนี้เป็นเพราะตรงกับเรื่องราวชีวิตของเขาที่ขึ้นไปที่สูงได้เพราะแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ และแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ต่างกับกาฝาก และนามปากกานี้ยังเป็นที่มาของสำบัดสำนวนทรงจริตอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น เจ้าคะ เจ้าขา และอิชั้น เพื่อหลบเรดาร์สำรวจของรัฐบาลที่พยายามเข้าแทรกแซงสื่อสิ่งพิมพ์ และเพื่อแฝงตัวผ่านสำนวนภาษาเนื่องจากถูกสั่งห้ามเขียน ณ ขณะนั้น

     ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้เกิดสัญลักษณ์ความอร่อยของ ‘เปิบพิสดาร’ ของแม่ช้อย นางรำขึ้น พร้อมกับตราปี พ.ศ. ที่ถือกำเนิด ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 นั่นเอง และจำแนกการให้คะแนนเป็นสัญลักษณ์ดาวจากทั้งหมด 5 ดวง

 

 

เกณฑ์การให้ดาวของเปิบพิสดาร

  1. ความสะอาด
  2. ความอร่อย
  3. การบริการ
  4. ราคายุติธรรม
  5. บรรยากาศ

 

     นอกจากคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ และ สยามกีฬา ที่ใช้ภาษาเขียนที่แพรวพราวด้วยลีลาลูกล่อลูกชนที่ไม่เหมือนใคร และอัดแน่นด้วยข้อมูลที่เก็บประสบการณ์จากเส้นทางนักชิมแล้ว ครั้งหนึ่งเปิบพิสดารยังเคยมีรายการโทรทัศน์ที่นักชิมชาวไทยต้องจดพิกัดไปตามชิม โดยมีรายการโทรทัศน์ ท้าพิสูจน์ ช่วงเปิบพิสดาร ฉายทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 รวมถึง แม่ช้อยอร่อยเด็ด ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 เช่นกัน

     ปัจจุบันตราสัญลักษณ์บอกรสโอชาของ ‘เปิบพิสดาร’ ยังคงติดอยู่ตามร้านต่างๆ แม้สีจะซีดจากกาลเวลาและแสงแดดบ้าง แต่ให้แล้วให้เลย ไม่มีการเอาคืน เส้นทางของ ‘เปิบพิสดาร’ และ ‘แม่ช้อย นางรำ’ ยังคงดำเนินต่อมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ทั้งปัจจุบันยังปรับเป็นรูปแบบของเว็บไซต์ Maechoice.com รวบรวมการรีวิวร้านอาหารจากทั่วไทยทั้งเก่าและใหม่ โดยสมาชิกเว็บไซต์สามารถร่วมให้ดาวตามเกณฑ์ต่างๆ ได้ รวมถึงมีเฟซบุ๊กเพจ แม่ช้อยนางรำ และสามารถชมได้ผ่านทางยูทูบ maechoicechannel เช่นกัน

 

 

‘ก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็ก’ หนึ่งในตำนานเปิบพิสดาร

     แม้ชื่อร้านก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็กจะฟังดูคุ้นชินราวกับเป็นแฟรนไชส์ประหนึ่งชายสี่บะหมี่เกี๊ยว แท้จริงแล้วร้านสามคูหาที่สี่แยกไฟฉาย ถนนพรานนก แห่งนี้ เป็นสาขาดั้งเดิมและสาขาเดียวเท่านั้น โดยเริ่มจาก หยิมไช้ หรือ วิชัย อึ้งนพพรกุล ปัจจุบันวัย 91 ปี ที่ผันตัวจากการขายไอศกรีมไม้แดงมาขายก๋วยเตี๋ยวหาบร่วมกับน้องชาย ในปี พ.ศ. 2497 หยิมไช้รวมกับน้องชายอีก 4 คนร่วมกันเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อไร้ชื่อที่วัดดงมูลเหล็ก ซึ่งก๋วยเตี๋ยวชามแรกที่ขายในร้านราคา 50 สตางค์

     จากนั้นในปี พ.ศ. 2508 หลังจากแต่งงาน หยิมไช้ก็ย้ายออกมาเปิดที่สามแยกไฟฉาย (ณ ขณะนั้น) บนถนนพรานนก ร่วมกับพี่คนโต ส่วนพี่น้องอีก 2 คนก็ออกไปเปิดร้านแยกเป็นของตัวเองโดยใช้สูตรเดียวกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงร้านเดียว และดำเนินงานโดยรุ่นที่ 2 คือรุ่นลูกและลูกสะใภ้ที่รับหน้าที่สานต่อในปี พ.ศ. 2542 โดยหยิมไช้ย้ายที่จากหน้าร้านมานั่งมองความสำเร็จอยู่หลังร้าน คอยเก็บสตางค์และชิมรสชาติเพื่อคุมให้ความอร่อยตรงสูตรไม่มีผิดเพี้ยน ก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็กจึงยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าเจ้าเก่าที่ติดตามมาชิมอยู่เป็นนิจ

 

 

ไม่ต้องการเชลล์ชวนชิม

     ทางร้านเล่าว่าครั้งที่เปิดร้านใหม่ๆ นั้นขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนหยิมไช้ถูกดักตีหัวขณะปั่นจักรยาน ทั้งยังโดนปล่อยข่าวลือว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวใส่กัญชา และใช้หัวแมวต้ม จนเมื่อปี พ.ศ. 2506 เชลล์ชวนชิมของ ม.ร.ว.ถนัดศรี เคยติดต่อมาเพื่อมอบตราสัญลักษณ์อันโด่งดัง แต่หยิมไช้บอกปฏิเสธไป เนื่องจากเกรงว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ถึงกระนั้นเชลล์ชวนชิมก็ช่วยบอกต่อถึงความอร่อย และ ม.ร.ว.ถนัดศรี ก็ช่วยแก้ข่าวลือผ่านทางรายการวิทยุและหนังสือพิมพ์ จนได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นหนาตา

     หลังจากส่งต่อให้รุ่นที่ 2 เข้ามาดูแลร้าน ในที่สุดก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัดดงมูลเหล็กจึงมีตราสัญลักษณ์ความอร่อยมาประดับกับเขาบ้าง นั่นคือ ‘เปิบพิสดาร’ ในปี พ.ศ. 2549

     “แม่ช้อย นางรำนำเอาร้านไปออกรายการในตอนนั้น ช่วยโปรโมตให้ หลังจากนั้นก็มีรายการโทรทัศน์อื่นๆ ติดต่อมา อย่าง ครัวคุณต๋อย แต่ติดต่อมากี่ทีก็ไม่ได้ไป เพราะเราไม่ได้ทำในร้าน ต้องไปทำที่รายการของเขา” คุณหมวย ทายาทผู้สานต่อความอร่อยรุ่น 2 บอกกับ THE STANDARD

 

 

     ปัจจุบันผนังของร้านก๋วยเตี๋ยววัดดงมูลเหล็กเต็มไปด้วยภาพคนดังแต่ละแวดวงที่เคยแวะเวียนมาเป็นหลักฐานการันตีรสชาติอย่างไม่ขาดสาย อาทิ โดม-ปกรณ์ ลัม, บัวชมพู ฟอร์ด, บอย โกสิยพงษ์, ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์, วิษณุ เครืองาม, กนก รัตน์วงศ์สกุล ฯลฯ ทางร้านเผยว่ามีประกาศนียบัตรความอร่อยอีกจำนวนมากที่ได้รับจนต้องเก็บเข้าตู้ เหลือแต่เพียงไม่กี่ตราสำแดงความอร่อยที่ยังเผยให้เห็น เช่น เปิบพิสดาร, What is It จาก iTV, ร้านนี้อร่อย 100 ร้าน

 

สัญลักษณ์ความอร่อยชื่อดังมีอิทธิพลอย่างไร

     “ช่วยโปรโมตให้คนรู้จักร้านเรามากขึ้น แต่ถามว่าสำคัญแค่ไหน คงตอบว่าไม่มาก เพราะเรามั่นใจว่าอาหารของเราอร่อย สะอาด และใช้ของดีตลอดมา ไม่เคยเปลี่ยน ลูกค้าของเรามักเป็นลูกค้าเดิมๆ ที่ตามมาตั้งแต่สมัยวัดดงมูลเหล็ก มาทั้งจากธรรมศาสตร์ ศิริราช หรือกรมทหารเรือ ชวน หลีกภัย ก็เคยมาสมัยแกเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ สังเกตว่าคนที่มาส่วนใหญ่จะขับรถมาเพื่อกินโดยเฉพาะ เป็นกลุ่มคนที่เป็นเจ้าเก่าขาประจำเสียเยอะ”

 

 

ถ้าอย่างนั้นแม้ไม่มีสถาบันไหนให้ป้ายบอกว่าอร่อย ก็ไม่มีผลอย่างนั้นหรือ

     “เชื่อว่าสูตรความสำเร็จของร้านนี้จริงๆ แล้วมีอยู่ 5 ข้อ หนึ่งคือต้องอร่อย ถ้าร้านสวยชิคแค่ไหนแต่ไม่อร่อยก็จบ ร้านของเราเด่นที่น้ำซุปที่ใช้กระดูกวัว 30-40 กิโลกรัม เลยหวาน อร่อย ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ต้องปรุงเพิ่ม ทำให้เด็กๆ ก็ชอบ กินกับข้าว กับไข่เจียวก็อร่อย ขายวันละ 200-300 ชามได้ และสูตรเด็ดอีกอย่างของร้านคือ พริกดอง ที่จะหอมหวานกว่าเพราะไม่ใช้น้ำส้มสายชูดอง ใช้พริกขี้หนูสวนจากใต้กับน้ำส้มสายชูหมักที่ทำจากสับปะรด ร้านเราใช้แต่ของดีๆ สองคือต้องสะอาด ถ้าอร่อยแต่ร้านสกปรก เจอแมลงสาบเข้าไปก็จบ เพราะเขามีประสบการณ์ที่ไม่ดี ร้านเราถู 2 รอบทั้งเช้าและเย็นเลยสะอาดอยู่ตลอด สามคือราคา เพราะถ้าอร่อยแต่แพง คนก็ไม่อยากมา ก๋วยเตี๋ยวที่นี่ราคาเริ่มต้นชามละ 50 พิเศษ 70 บาท สี่คือที่จอดรถต้องมี และห้าคือบริการ ไม่เถียงลูกค้าหรือขึ้นเสียง ไม่ช้า แค่นี้คนก็อยากกลับมากินอีก

 

เหลือบไปเห็นป้ายหน้าร้านเขียนว่ามีบริการส่งทาง UberEATS และ Line Man จึงถามทายาทต่อว่า โซเชียลมีเดียช่วยเพิ่มลูกค้าใหม่ๆ มากแค่ไหน

     “เดี๋ยวนี้วัยรุ่นชอบร้านชิคๆ เอาไว้ถ่ายรูป ซึ่งเขาหาร้านได้ตามโซเชียลมีเดียที่มีเยอะแยะ ส่วนลูกค้าวัยรุ่นที่มาร้านส่วนใหญ่มาจากการบอกต่อๆ กันมากกว่า”

 

ตัวอย่างสัญลักษณ์ความอร่อยอื่นๆ ของไทย

 

 

  • หมึกแดงไกด์: เกิดจากลูกชายคนโตของ ม.ร.ว.ถนัดศรี นั่นคือ ม.ล.ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ เจ้าของนามปากกา ‘หมึกแดง’ ในการให้ป้ายประกาศนียบัตรนั้น มีมาตรฐาน 5 ข้อ ได้แก่ 1. ความสะอาด 2. การบริการ 3. รสชาติ 4. คุณภาพของวัตถุดิบและราคา 5. แต่ละข้อจะมีการให้ดาวกำกับ โดยร้านที่เข้าร่วมจะต้องยอมรับเงื่อนไขของหมึกแดงดังต่อไปนี้ 1. ห้ามเอาป้ายไปขายต่อ 2. ถ้าร้านไม่ได้มาตรฐานมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าคุณภาพลดลงจะต้องคืนป้าย หรือต้องลดดาวลง 4. มีการตรวจมาตรฐานทุกๆ 3 ปี 3. ป้ายเดียว ร้านเดียว เปิดสาขาใหม่ไม่สามารถใช้ป้ายเดิมได้ 4. โลโก้หมึกแดงไม่สามารถนำไปใช้ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ม.ล.​ศิริเฉลิม ยังคงดำเนินรอยตามรุ่นพ่อในเรื่องการให้ป้ายโดยไม่มีการรับเงิน และการไปชิมอาหารก็ดำเนินการโดยทีมงานของหมึกแดงที่เจ้าของร้านจะไม่มีทางรู้ตัว

 

 

  • Thai Select: สัญลักษณ์ความอร่อยของร้านอาหารไทยต่างแดนที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดทำขึ้นเป็นการการันตีมาตรฐานรสชาติและคุณภาพร้านอาหารไทย แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1. Thai Select Premium คุณภาพยอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว และ 2. Thai Select คุณภาพเยี่ยมระดับ 3-4 ดาว โดยร้านอาหารที่จะได้รับสัญลักษณ์นี้ต้องผ่านการพิจารณาอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย คุณสมบัติของพ่อครัวหรือแม่ครัว คุณภาพของวัตถุดิบ มาตรฐานการบริการ อุปกรณ์การปรุง รวมถึงความสะอาดและบรรยากาศของร้าน ฯลฯ

 

 

  • Clean Food Good Taste: สัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย ของกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย และสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ โดยจะมอบให้กับร้านอาหาร โรงอาหาร ไปจนถึงรถเข็นอาหารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกำหนดของแต่ละประเภท โดยแต่ละเกณฑ์มีไม่ต่ำกว่า 12 ข้อ อาทิ ความสะอาด การจัดการขยะมูลฝอย สุขอนามัยของห้องน้ำ เขียงและมีดต้องใช้แยกระหว่างเนื้อสุกและดิบ ไปจนถึงการเก็บล้างภาชนะ

 

 

FYI
  • ตราสัญลักษณ์เปิบพิสดารมีค่าใช้จ่าย 3,000 บาท โดยคิดเป็นค่ากรอบรูปและการจัดทำ รวมถึงการโปรโมตร้านผ่านช่องทางต่างๆ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising