×

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) มีกี่สายพันธุ์กันแน่ บางสายพันธุ์ ‘ดุ’ กว่าอีกสายพันธุ์จริงหรือไม่

13.04.2020
  • LOADING...
โควิด-19 มีกี่สายพันธุ์

HIGHLIGHTS

1 Mins. Read
  • การเพิ่มจำนวนของไวรัสไม่ใช่งานคราฟต์ เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์ร่างกาย จะเหมือนส่งต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อความรวดเร็ว แต่ละชิ้นส่วนจะถูกแยกออกจากกันไปตามแผนกเพื่อจำลองขึ้นมาใหม่ ข้อเสียของโรงงานนี้คือไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ ของก๊อบปี้จึงมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ง่าย ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ก็เช่นกัน
  • การกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 เป็นกลไกตามธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะในขั้นตอนการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัสเปรียบเสมือนการก๊อบปี้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างความรุนแรงของโรคกับไวรัสที่กลายพันธุ์จากชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่ง

โควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 มีหลายสายพันธุ์จริงไหม บางสายพันธุ์ ‘ดุ’ กว่าอีกสายพันธุ์จริงหรือเปล่า แล้วจริงแค่ไหนที่พวกมันจะกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ 

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการเพิ่มจำนวนของไวรัสไม่ใช่งานคราฟต์ เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์ร่างกาย จะเหมือนส่งต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อความรวดเร็ว แต่ละชิ้นส่วนจะถูกแยกออกจากกันไปตามแผนกเพื่อจำลองขึ้นมาใหม่ แผนกนี้ผลิตสารพันธุกรรม แผนกนั้นผลิตไขมันหุ้ม แผนกโน้นผลิตหนาม (Spike-อัตลักษณ์ของแบรนด์) จากนั้นก็จะลำเลียงมาประกอบกันเป็นตัวไวรัสอีกที ข้อเสียของโรงงานนี้คือไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ

 

ของก๊อบปี้จึงมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ง่าย

 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ก็เช่นกัน

 

ไวรัส SARS-CoV-2 ชนิด S กับ L

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 เราอาจเคยได้ยินว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เริ่มแยกออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ S-type กับ L-type โดยที่มีสายพันธุ์หนึ่งรุนแรงกว่าอีกสายพันธุ์หนึ่ง แต่ข้อสรุปนี้เป็นเพียง ‘ความเห็น’ ไม่ใช่ ‘ข้อค้นพบ’ 

 

จากงานวิจัยของ Xiaolu Tang และคณะ ในรายงานที่ชื่อว่า ‘On the origin and continuing evolution of SARS-CoV-2’ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร National Science Review เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 นักวิจัยได้ศึกษาจีโนมของไวรัสสายพันธุ์ใหม่จำนวน 103 ตัวอย่าง พบว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่งสนิปส์ (SNPs: Single nucleotide polymorphisms) 2 ตำแหน่งที่สามารถแบ่งไวรัสออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ S-type (มาจากกรดอะมิโนชื่อ Serine) และ L-type (มาจากกรดอะมิโนชื่อ Leucine) โดยชนิด S เป็นชนิดดั้งเดิมของไวรัส แต่ต่อมาพบชนิด L เป็นสัดส่วนมากกว่า คือ 37.8% ต่อ 62.2%

 

โควิด-19 มีกี่สายพันธุ์

ภาพที่ 1 ความแตกต่างของไวรัส SARS-CoV-2 ชนิด S และ L

 

จึงนำมาสู่ ‘ความเห็น’ ว่าเป็นเพราะชนิด L แพร่กระจายได้เร็ว และแบ่งตัวได้เร็วกว่า (Potentially higher transmission and/or replication rates) แสดงว่ามีความรุนแรงมากกว่า ทว่าเขาไม่ควรสรุปผลการศึกษาเช่นนี้ เนื่องจากความสามารถในการแพร่กระจายควรวัดจากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ละสายพันธุ์ ส่วนความรุนแรงก็ควรมีการเปรียบเทียบกับอาการของผู้ป่วยและผลลัพธ์การรักษา

 

สายพันธุ์สนามมวยดุกว่าสายพันธุ์สถานบันเทิง?

เช่นเดียวกับเรื่องสายพันธุ์สนามมวยกับสายพันธุ์สถานบันเทิงที่เคยมีข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า ‘สายพันธุ์ที่ระบาดในสนามมวยดุกว่าสายพันธุ์สถานบันเทิง’ โดยแพทย์ท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่ามีเซียนมวยคนหนึ่งติดจากสมาชิกในครอบครัวที่เดินทางกลับมาจากอิตาลี ซึ่งในขณะนั้นที่อิตาลีมีอัตราป่วยตายสูงมาก ประกอบกับมีแพทย์อีกท่านตั้งสมมติฐานว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ติดเชื้อจากสนามมวยมีอาการรุนแรงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง

 

ข้อสรุปนี้ก็ไม่สมเหตุสมผลอีกเช่นกัน เพราะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้วยประวัติการสัมผัส (ประวัติการเดินทาง) ยังไม่มีการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งหมดของไวรัสยืนยันว่าเป็นชนิดใด และแตกต่างกันระหว่างผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้หรือไม่ 

 

อีกทั้งความรุนแรงของโรคยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ยกตัวอย่าง ‘ปัจจัยด้านผู้ป่วย’ เช่น อายุ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่เข้าไปเที่ยวสถานบันเทิงจะมีอายุน้อยกว่าผู้ที่เข้าไปชมการแข่งขันชกมวย

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย สรุปได้ว่า

 

  • ชนิดที่เข้ามาจากประเทศจีนในเดือนมกราคม คือชนิด L
  • ชนิดที่ระบาดในเดือนมีนาคมที่สนามมวยและสถานบันเทิงทองหล่อเป็นชนิดเดียวกัน คือชนิด S
  • ชนิดที่ตรวจพบในผู้ที่เดินทางกลับมาจากอิตาลี คือชนิด L (คนละชนิดกับที่สนามมวย)
  • ชนิดที่ระบาดในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-ปัจจุบัน คือชนิด S มากกว่าชนิด L (ตรงกันข้ามกับที่นักวิจัยชาวจีนวิเคราะห์)
  • การแยกชนิดไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และไม่เกี่ยวกับการกลายพันธุ์เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิต้านทาน แต่เป็นการศึกษาความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาเท่านั้นว่าติดเชื้อมาจากที่ใด

 

ดังนั้นสมมติฐานเรื่องความรุนแรงระหว่างสายพันธุ์สนามมวยกับสถานบันเทิงจึงได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง สิ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้คือ ‘ปัจจัยด้านไวรัส’ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้โรคมีความรุนแรง และการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งต่อจากนี้เราจะได้ยินจากข่าวมากขึ้น เพราะขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 4 ของการระบาดแล้ว ไวรัสย่อมเกิดการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม แต่จะมีผลต่อการคิดค้นวัคซีนก็ต่อเมื่อเกิดการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่งที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งก็คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์หรือหนามที่ไวรัสใช้เกาะกับเซลล์ของเรานั่นเอง

 

นอกจากนี้ยังมีข่าวชนิด A, B และ C

เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กระจายฐานการผลิตไปทั่วโลก ซึ่งมีความแตกต่างทั้งคน และสิ่งแวดล้อม ยิ่งก๊อบปี้ก็ยิ่งแตกต่างจากต้นแบบผลิตภัณฑ์เดิม (หรือไวรัสกำลังทำ Market Segmentation อยู่กันแน่?) 

 

โดยจากงานวิจัย ‘Phylogenetic network analysis of SARS-CoV-2 genomes’ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS (Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America) เมื่อวันที่ 8 เมษายน นักวิจัยได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของสายวิวัฒนาการ (Phylogenetic network analysis) ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่จำนวน 160 ตัวอย่าง 

 

พบว่ามีการแตกออกเป็น 3 สายตามการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน ซึ่งตั้งชื่อว่าเป็นสาย A, B และ C โดยชนิด A เป็นสายดั้งเดิมที่คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่พบในค้างคาวมากที่สุด ชนิด A และ C พบมากนอกเอเชียตะวันออก เช่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนชนิด B พบมากในเอเชียตะวันออก

 

ความสำคัญของข้อค้นพบนี้คือการศึกษาความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาอย่างที่ ศ.นพ.ยง กล่าว เพราะเมื่อวิเคราะห์จีโนมไวรัสของผู้ติดเชื้อชาวบราซิลรายแรก ซึ่งเดินทางมาจากอิตาลีก็พบว่าเป็นชนิด C เหมือนกัน หรืออีกกรณีหนึ่งผู้ป่วยในรัฐออนแทรีโอของแคนาดา ซึ่งเดินทางกลับมาจากมณฑลกวางตุ้งของจีน จีโนมไวรัสที่เขาติดเชื้อก็เป็นพี่น้องกับไวรัสที่พบในเมืองฝอซาน และเมืองเซินเจิ้น ซึ่งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งเช่นกัน

โควิด-19 มีกี่สายพันธุ์

ภาพที่ 2 ความเชื่อมโยงของสายวิวัฒนาการของไวรัส SARS-CoV-2 ชนิด A, B และ C

 

สำหรับไทย นักวิจัยไม่ได้วิเคราะห์ไว้ว่าจัดอยู่ในสายใด แต่เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์ฐานข้อมูล GISAID ซึ่งผู้วิจัยใช้ในการวิเคราะห์พบว่า มีจีโนมของไวรัสที่พบในประเทศไทยจำนวน 2 ตัวอย่างจากทั้งหมด 3,123 ตัวอย่าง ซึ่งยังเป็นช่วงแรกของการระบาด จึงมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับที่ระบาดในประเทศจีน แต่หลังจากนั้นน่าจะต้องรอการตีพิมพ์ผลการวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยอีกครั้ง

 

โดยสรุปการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 เป็นกลไกตามธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะในขั้นตอนการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัสเปรียบเสมือนการก๊อบปี้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างความรุนแรงของโรคกับไวรัสที่กลายพันธุ์จากชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่ง ทว่าเราก็สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของไวรัสนี้ในการศึกษาความเชื่อมโยงที่มาที่ไปของผู้ป่วยได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์ 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising