×

เมื่อโควิดแพร่เชื้อทางอากาศ ทำไมการระบายอากาศถึงสำคัญ และจะเพิ่มการระบายอากาศได้อย่างไร

30.08.2021
  • LOADING...
เมื่อโควิดแพร่เชื้อทางอากาศ

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ทำไมการระบายอากาศถึงสำคัญ? และองค์กรหรือผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีการระบายอากาศได้ดี?
  • การระบายอากาศมีความสำคัญ เพราะโควิดสามารถแพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตรและนานหลายชั่วโมง
  • ความเสี่ยงในพื้นที่ปิดจึงไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อ องค์กรหรือผู้ประกอบการสามารถเพิ่มการระบายอากาศได้หลายวิธี เช่น การเปิดหน้าต่าง การติดตั้งพัดลมดูดอากาศ การติดตั้งเครื่องกรองอากาศ

การคลายล็อกรอบ 1 กันยายน 2564 นี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ ศบค. พูดถึง ‘การระบายอากาศ’ อย่างจริงจัง ทั้งการระบุไว้ในมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-FREE Setting) โดยด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีระบบระบายอากาศ และทั้งการจำกัดจำนวนผู้นั่งในร้านอาหารตามลักษณะการระบายอากาศระหว่างห้องปรับอากาศ (นั่งได้ 50%) และพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี (นั่งได้ 75%)

 

ทำไมการระบายอากาศถึงสำคัญ? และองค์กรหรือผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีการระบายอากาศได้ดี? เพราะถึงแม้จะเป็นห้องปรับอากาศหรือเป็นร้านอาหารภายในห้างสรรพสินค้า หากมีมาตรการระบายอากาศเพิ่มเติมก็จะทำให้พนักงานหรือผู้มาใช้บริการมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และถ้าหากมีผู้ติดเชื้อมาในพื้นที่ก็จะลดความเสี่ยงในการระบาดแบบ Superspreading Event ได้

 

โควิดแพร่กระจายผ่านทางอากาศ

มาตรการ DMH (TTA) หรือการเว้นระยะหว่าง (D-Distancing) การสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า (M-Mask) และการล้างมือ (H-Hand Washing) ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือ ศบค. เน้นย้ำประชาชนทุกครั้งในการแถลงข่าวเป็นมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลในการป้องกันโควิด มาจากพื้นฐานความรู้เรื่องการแพร่กระจายเชื้อว่าโควิดสามารถติดต่อผ่าน 2 ช่องทางหลักคือ

 

  • ละอองขนาดใหญ่ (Droplets) คือการหายใจเอาละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่เข้าไปหรือโดนไอจามรด ซึ่งละอองขนาดใหญ่นี้จะตกสู่พื้นในระยะ 1-2 เมตร
  • การสัมผัสทางอ้อม (Indirect Contact) คือการนำมือไปสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนละอองขนาดใหญ่ข้างต้นแล้วสัมผัสบริเวณเยื่อบุตา/จมูก/ปาก

 

ต่างประเทศที่มีคำคล้องจองในการสื่อสารวิธีการป้องกันโควิดคืออังกฤษ ใช้คำ 4 คำคือ ‘Hands, face, space and fresh air’ ซึ่งเดิมมีแค่ 3 คำแรก ได้แก่ การล้างมือ (Hands) การสวมหน้ากาก (Face) และการเว้นระยะห่าง (Space) แต่ต่อมาช่วงต้นปีนี้ได้เพิ่ม ‘อากาศธรรมชาติ’ (Fresh Air) ขึ้นมา เพราะความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจะลดลงเมื่ออยู่ในสถานที่นอกอาคาร ซึ่งอากาศถ่ายเทสะดวก

 

หากอธิบายให้ละเอียดขึ้น นอกจาก 2 ช่องทางติดต่อข้างต้นแล้ว โควิดยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) ได้ผ่านละอองขนาดเล็ก (Aerosols) คือละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน สามารถลอยอยู่ในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตร และนานหลายชั่วโมง ดังนั้นถึงแม้จะเว้นระยะห่าง 2 เมตรแล้วก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ (แน่นอนว่าความเสี่ยงลดลงตามระยะห่างและระยะเวลาที่สัมผัส)

 

เดิมนักระบาดวิทยาเชื่อว่าว่าโควิดแพร่กระจายทางอากาศเฉพาะ ‘ในโรงพยาบาล’ ที่มีการทำหัตถการที่สร้างละอองขนาดเล็ก (Aerosol-Generating Procedure) เช่น การพ่นยา การใส่ท่อช่วยหายใจ บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องจึงต้องสวมหน้ากากชนิด N95 

 

แต่ในภายหลังมีหลักฐานยืนยันว่าโควิดสามารถแพร่กระจายได้ไกลกว่า 2 เมตร แม้จะเป็นกิจกรรม ‘นอกโรงพยาบาล’ ก็ตาม เช่น การรับประทานอาหารในร้านอาหาร การร้องประสานเสียง การออกกำลังกาย เพราะกิจกรรมเหล่านี้ต่างก็สามารถสร้างละอองขนาดเล็กขึ้นมาได้เช่นกัน แต่มีข้อสังเกตว่ากิจกรรมเหล่านี้ต้องอยู่ในพื้นที่ปิดด้วย เช่น ห้องปรับอากาศ โบสถ์ ฟิตเนส นอกจากนี้การหายใจปกติ การไอจามก็สามารถปล่อยละอองขนาดเล็กออกมาได้ ดังนั้นความเสี่ยงในพื้นที่ปิดจึงไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อ

 

การป้องกันอย่างแรกคือการสวมหน้ากาก หากผู้ติดเชื้อสวมหน้ากาก โอกาสที่จะปล่อยละอองขนาดเล็กออกมาก็น้อยลง หากคนปกติสวมหน้ากาก โอกาสที่จะสูดหายใจเอาละอองนั้นเข้าไปก็น้อยลงไปอีก แต่ที่น่ากังวลคือกิจกรรมที่ต้องถอดหน้ากาก เช่น การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม การทดลองสินค้า การออกกำลังกายระดับปานกลาง-หนัก จึงควรมีการระบายอากาศเข้ามาลดความเสี่ยง

 

จะลดความเสี่ยงในการรับเชื้อทางอากาศอย่างไร?

เมื่อละอองขนาดเล็กสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตรและนานหลายชั่วโมง การลดความเสี่ยงคือการลดความเข้มข้นของละอองเหล่านี้ลง อาจนึกภาพเป็นห้องที่ตั้งเตาหมูกระทะไว้ตรงกลาง ควันจากการปิ้งหมูคลุ้งทั่วห้อง อย่างแรกที่ทำได้เลยคือการเปิดหน้าต่างระบายให้ควันออกไป หรือถ้าเปิดหน้าต่าง 2 ด้านก็จะทำให้อากาศภายนอกเข้ามามากขึ้น

 

ต่อมาคือยกพัดลมมาเปิดตรงหน้าต่างช่วยดูดควันออกไปได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเปรียบเทียบควันเป็นละอองที่มีไวรัสอยู่จะต้องควบคุมทิศทางของลมไม่ให้หมุนวนอยู่ภายในห้อง หรือไม่ให้พัดเข้าหาคนที่ไม่ได้รับควันตั้งแต่แรก อย่างสุดท้ายเปิดเครื่องกรองอากาศที่เคยซื้อมาตอนมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ช่วยอีกแรง แต่ถ้าจะยุ่งยากขนาดนี้ก็อาจยกเตาหมูกระทะออกไปตั้งนอกบ้านให้สิ้นเรื่อง (ฮา)

 

ทั้งหมดนี้เป็นภาพเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายว่าถ้าจะลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายทางอากาศ สำหรับประชาชนมีทางเลือกคือ

1. หลีกเลี่ยงสถานที่ปิด
2. ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากาก 2 ชั้น คือสวมหน้ากากอนามัยแล้วทับด้วยหน้ากากผ้า เพราะวิธีนี้จะเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันละอองขนาดเล็กได้ 80-100%
3. ลดระยะเวลาที่ใช้ ซึ่งถ้าน้อยกว่า 15 นาทีก็จะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ 

 

สำหรับองค์กรหรือผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มการระบายอากาศ ดังนี้

 

  • เปิดหน้าต่างหรือประตู เพื่อให้อากาศภายนอกไหลเวียนเข้ามาภายในห้อง อาจใช้วิธีการเปิดหน้าต่างบ่อยๆ เช่น การเปิดหน้าต่าง-สลับกับการเปิดเครื่องปรับอากาศ  
  • ติดตั้งพัดลม เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการเปิดหน้าต่าง เช่น การวางพัดลมไว้ใกล้กับหน้าต่างที่เปิดแล้วพัดออกนอกห้อง การติดตั้งพัดลมระบายอากาศที่หน้าต่าง/ผนัง รวมถึงตรวจสอบและซ่อมบำรุงพัดลมระบายอากาศ (Exhaust Fan) ที่ติดตั้งไว้อยู่เดิมด้วย 
  • ใช้เครื่องกรองอากาศชนิดพกพาที่ใช้ไส้กรอง HEPA ซึ่งโดยมาตรฐานสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอนได้มากกว่า 99% โดยวางเครื่องกรองให้อยู่ในบริเวณเดียวกับผู้ใช้งาน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่สามารถใช้ทดแทนการระบายอากาศได้ เพราะเครื่องจะกรองอากาศที่ปนเปื้อนภายในห้องเท่านั้น  
  • อาจติดตั้งเครื่องฉายรังสียูวีเพื่อทำลายเชื้อโรค (UVGI) เพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรคในกรณีที่การเพิ่มการระบายอากาศและการกรองอากาศทำได้จำกัด 
  • ในอาคารที่ใช้ระบบปรับอากาศแบบ HVAC หรือแอร์ท่อ เช่น ห้างสรรพสินค้า ควรเปิดระบบโดยใช้อากาศภายนอกสูงสุดเป็นระยะเวลา 2 ชั่วโมงก่อน-หลังเปิดทำการ

 

ยิ่งระบายอากาศได้มากเท่าไร ยิ่งลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายเชื้อได้มากเท่านั้น ทั้งนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ไม่ได้กำหนดเป้าหมายในการระบายอากาศไว้ ส่วนในวารสารวิชาการต่างประเทศมีผู้เสนอว่า ควรระบายอากาศได้ 4-6 ACH (4-6 เท่าของปริมาตรห้องต่อชั่วโมง) ในขณะที่ประเทศไทย กรมอนามัยแนะนำอัตราการระบายอากาศ 2 เกณฑ์ กล่าวคือ

 

  • ตามจำนวนคน อย่างน้อย 10 ลิตรต่อวินาทีต่อคน* 
  • หรือตามขนาดพื้นที่ อย่างน้อย 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อตารางเมตร

 

*เกณฑ์ข้อแรกตรงกับคำแนะนำของ WHO สำหรับสถานที่ที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับสถานพยาบาล WHO แนะนำ 60 ลิตรต่อวินาทีต่อคน หรือ 6 ACH ในพื้นที่ทั่วไปและ 160 ลิตรต่อวินาทีต่อคน หรือ 12 ACH ในพื้นที่ที่มีการทำหัตถการสร้างละอองขนาดเล็ก ดังนั้นถ้าจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานข้างต้น องค์กรหรือผู้ประกอบการควรปรึกษาวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม

 

โดยสรุปการระบายอากาศมีความสำคัญ เพราะโควิดสามารถแพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตรและนานหลายชั่วโมง ความเสี่ยงในพื้นที่ปิดจึงไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อ องค์กรหรือผู้ประกอบการสามารถเพิ่มการระบายอากาศได้หลายวิธี เช่น การเปิดหน้าต่าง การติดตั้งพัดลมดูดอากาศ การติดตั้งเครื่องกรองอากาศ ถึงแม้ ศบค. จะอนุญาตให้จัดกิจกรรมรวมคนหรือให้นั่งรับประทานที่ร้านได้แล้ว แต่หากปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ลดความเสี่ยงลงก็จะเพิ่มความมั่นใจให้กับพนักงานและผู้ที่มาใช้บริการมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising