“แอบโลห์คืออัจฉริยะและผู้มีวิสัยทัศน์อย่างแท้จริง…ตำนาน ความรัก และจิตวิญญาณของเขาจะยังคงอยู่กับเราตลอดไป ขอบคุณที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราแอบโลห์ Rest in Power พักผ่อนนะ(พี่)น้องชาย”
นี่คือคำไว้อาลัยของ ดาวิเด เด จิจิลิโอ (Davide De Giglio) และอันเดรอา กริลลี (Andrea Grilli) สองผู้บริหารระดับสูงของ New Guards Group บริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่นลักชัวรี Off-White ที่ได้กล่าวถึงการจากไปของ เวอร์จิล แอบโลห์ (Virgil Abloh) ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Off-White และครีเอทีฟไดเรกเตอร์กลุ่มเสื้อผ้าผู้ชายแบรนด์ Louis Vuitton
28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คือหนึ่งในวันแห่งการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการแฟชั่นและอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์โลก เมื่อแอบโลห์ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 41 ปี จากอาการป่วยโรคมะเร็งหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Angiosarcoma) หลังจากที่ก่อนหน้านี้แพทย์ได้วินิจฉัยว่าแอบโลห์ป่วยจากโรคดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2019 เพียงแต่ตัวเขาไม่ได้เปิดเผยอาการป่วยดังกล่าวออกมาให้สื่อ สาธารณชนได้รับรู้
ผลงานที่โดดเด่นของแอบโลห์ นอกเหนือจากการปลุกปั้น Off-White ด้วยคอนเซปต์การนำสื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เข้ามาช่วยสร้างการรับรู้ของผู้คนแล้ว แอบโลห์ยังได้ร่วมสร้างสรรค์คอลเล็กชัน โปรเจกต์พิเศษต่างๆ ร่วมกับแบรนด์ดังมากมาย เช่น การทำงานร่วมกับ Nike ในโปรเจกต์คอลแลบร่วมกับ Off-White มาตั้งแต่ปี 2016
การทำงานร่วมกับ Mercedes-Benz ออกแบบรถยนต์รุ่นพิเศษในโปรเจกต์ Geländewagen (เจอลานเดอวาเกน) การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ร่วมกับ IKEA ที่ทำให้แฟนๆ ในไทยเคยไปต่อคิวรอห้างเปิดกันมาแล้ว ไปจนถึงการทำงานร่วมกับแบรนด์น้ำแร่ Evian ที่เขาเคยออกแบบขวดให้ ตลอดจนการได้รับการยอมรับจากแฟชั่นดีไซน์เนอร์ของแบรนด์ดังมากมาย ทั้ง Michael Kors, Dolce & Gabbana, Jacquemus และ Gucci ที่ล้วนแล้วแต่ยกย่องให้เขาเปรียบเสมือนแรงบันดาลใจ
หลังการจากไปของแอบโลห์ เราเห็นคนดัง ผู้นำในอุตสาหกรรมแฟชั่น งานสร้างสรรค์จำนวนมาก ที่ได้ออกมาร่วมไว้อาลัยต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ของครอบครัวแอบโลห์ในครั้งนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด The Secret Sauce เชื่อว่าบทเรียน แนวคิดของแอบโลห์ในการใช้ชีวิตและการทำงาน น่าจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจชั้นดีที่ส่งต่อให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลกสามารถนำไปปรับใช้ ต่อยอดในชีวิตประจำวันของตัวเองได้
The Secret Sauce สรุปบทเรียนสำคัญจากการทำงานของแอบโลห์ออกมาเป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนได้เรียนรู้เรื่องราวและแนวคิดของเขาแบบรวบรัด เพื่อให้เห็นว่าเบื้องหลังความสำเร็จของชายผู้นี้มีที่มาที่ไปและสารตั้งต้นอย่างไร
เปลี่ยนกำแพงอุปสรรคให้ล่องหน เพราะพลังแห่งความสร้างสรรค์มาจากการมองโลกมุมบวก
นี่คือคำกล่าวที่ผู้คนในอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์มักจะพูดถึงกัน ทั้งยังเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ได้ดีว่าการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ไร้ซึ่งข้อจำกัดในทุกๆ มิติ มองที่ปลายทางที่เราอยากให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ก่อนจะมองอุปสรรคระหว่างทาง ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนทำงานสามารถรังสรรค์นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างไม่รู้จบ ไร้แรงฉุดรั้ง
จากบทความที่ Vogue เผยแพร่ไว้ตั้งแต่ต้นปี 2020 ระบุว่า 2 ใน 5 บทเรียนที่ บรูก บ๊อบ (Brooke Bobb) ผู้เขียนบทความดังกล่าว ได้เรียนรู้จากการทำงานของตัวแอบโลห์คือ การไม่โฟกัสที่อุปสรรค ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียว (Don’t focus on the hurdles) แล้วลืมทุกๆ มุมมองเชิงลบให้มากที่สุด โดยให้ตั้งตัวเป็นคนที่มองโลกในแง่บวกอยู่เสมอแทน (Forget the negativity and be an eternal optimist)
แอบโลห์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเอาแต่คิดถึงแค่อุปสรรค ข้อจำกัดที่มี เมื่อนั้นเราก็จะติดบ่วงคิดแต่ว่ามันทำไม่ได้ ไม่มีทางสำเร็จ เพราะเอาแต่มองถึงข้อจำกัดของสิ่งๆ นั้น ดังนั้นให้ลองถอยออกมามองภาพรวมที่ใหญ่ขึ้นแทน หาวิธีที่แตกต่าง คิดให้ฉีกกรอบขนบเดิมๆ เข้าไว้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณทำได้แบบนั้น ไอเดียใหม่ที่น่าสนใจย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆ วินาที
“หากคุณมองแต่อุปสรรค ท้ายที่สุดแล้วโฟกัสของคุณก็จะอยู่ที่อุปสรรคเพียงอย่างเดียว ผมเริ่มสังเกตสิ่งนี้ก็ตั้งแต่ช่วงที่ค้นพบว่าเทรนด์แฟชั่นเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงไร คุณจะพบว่าตอนที่พาตัวเองไปงานแฟชั่นโชว์ตามที่ต่างๆ ในยุคหนึ่ง คุณจะเห็นใครสักคนสวมเสื้อฮู้ดแบรนด์ Thrasher พร้อมกระโปรงและรองเท้าผ้าใบ แต่สุดท้ายบนรันเวย์กลับไม่มีแบรนด์ใดที่สามารถสะท้อนสไตล์ใหม่ๆ รสชาติที่ต่างออกไปแบบนั้นได้เลย
“ส่ิงนี้เองที่เป็นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่ Off-White เป็น และสะท้อนมันออกมาในวันนี้ มันคือการผสมผสานระหว่างแบรนด์สตรีทจ๋าๆ รวมกับแบรนด์แฟชั่นลักชัวรี ดังนั้นแฟชั่นโชว์แรกของผมจึงเป็นโชว์ของนางแบบผู้หญิงล้วนๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่คำว่า ‘สตรีทแวร์’ จะกลายมาเป็นประโยคยอดฮิตของเหล่าบรรณาธิการแฟชั่นด้วยซ้ำ
“เพราะฉะนั้นแทนที่จะให้อะไรๆ ถูกจำกัดตีกรอบล้อมรอบด้วยคำว่าสตรีทแวร์ ผมตัดสินใจว่าจะให้สิ่งที่เรียกว่าสตรีทแวร์นี่แหละที่จะมานิยามสิ่งที่ผมทำ และเช่นกัน ผมก็ต้องเป็นคนที่สามารถกำหนดนิยามความเป็นสตรีทแวร์ได้ด้วยตัวของผมเอง ผมได้รับการ Empowered จากคำๆ นี้ มันให้มุมมองที่ต่างออกไปในการทำงานของผม และผลักให้ผมสามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้เรื่อยๆ”
ส่วนประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ กระแสติติงเชิงลบที่เขาได้รับ แอบโลห์บอกว่าตัวเขาเองรับรู้ทั้งหมด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วเขากลับไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย
“แน่นอนว่าผมเห็นและรับรู้มันดี (ความเห็นและคำวิจารณ์เชิงลบ) แต่อะไรพวกนี้ก็ไม่ต่างจากความเชื่อในสมัยเด็กๆ ที่ว่ามีผีแอบหลบซ่อนอยู่ใต้เตียงนั่นแหละ เหมือนกับว่าถ้าคุณเชื่อว่ามันมีอยู่จริง มันก็จะทำให้ทุกๆ การกระทำของคุณถูกควบคุมด้วยผีตนนั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วใต้เตียงของคุณมันโล่งโจ้ง ไม่มีอะไรแบบที่ว่าเลยด้วยซ้ำ ผมเลยมองว่าสุดท้ายแล้วกฎของอุตสาหกรรมนี้ (แฟชั่นและงานสร้างสรรค์) ก็คือจินตนาการของมนุษย์และผู้คนเองนี่แหละ”
เวอร์จิลในบทบาทการเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2017
ใช้แนวคิดแบบ 3% หรือ ‘3% Approach’ ต่อยอดน้อยนิด เพิ่มมูลค่ามหาศาล
ขึ้นชื่อว่า ‘งานสร้างสรรค์’ ความหมายของมันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่างานชิ้นนั้นๆ และไอเดียที่เกิดขึ้นย่อมมีมูลค่า และความยูนีกในแบบฉบับของตัวเองตามแต่ความสามารถ พรสวรรค์ และพรแสวงส่วนบุคคลของดีไซเนอร์ ศิลปิน
ตัวแอบโลห์เองก็เช่นกัน ด้วยความสามารถ พลังอันเหลือล้น และไอเดียสร้างสรรค์สุดบรรเจิดในแบบฉบับของเขา ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญอย่างย่ิงที่ผลักดันให้ผลงานของแอบโลห์มีเอกลักษณ์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จนสามารถขับให้ Off-White โดดเด่นและเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมากทั่วโลกได้อย่างอัศจรรย์
อย่างไรก็ดี นักออกแบบหรือคนทำงานสร้างสรรค์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีเคล็ดลับหรือ ‘กลยุทธ์พลิกแพลง’ ที่หลากหลายตามสไตล์ของพวกเขาเอง เพื่อให้งานที่รังสรรค์ออกมาฉีกจากกรอบเดิมๆ ลดความซ้ำซาก จำเจ หรือปัญหาการตันทาง ‘ความคิดสร้างสรรค์’ อยู่ตลอดเวลา
หนึ่งในวิธีที่แอบโลห์ใช้ก็คือแนวคิด ‘3% Approach’ ซึ่งเป็นการต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับงานหรือฟอร์มตั้งต้นที่เคยมีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มเติม ผสมผสานผ่านไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการคิดงานไม่ออก
วิธีการง่ายๆ แต่ล้ำลึก เริ่มต้นด้วยการที่แอบโลห์จะนำงานเดิม หรือสินค้าแฟชั่นที่เป็นไอคอนิกแต่เดิมมาตั้งต้น แล้วหยอดไอเดียของเขาที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีลายเซ็นในแบบแอบโลห์สุดๆ เข้าไปแค่ 3% เท่านั้น เพื่อทำให้ผลงานชิ้นนั้นๆ มีมูลค่าในแบบของมัน
“ตอนนี้ผมสนใจแค่การปรับแต่งมันเพิ่มแค่ 3% จากฟอร์มออริจินัลตั้งต้นเท่านั้น ผมเป็นคนเหนื่อยง่าย อาจจะเพราะผมแก่เกินไป (หัวเราะ) แต่ประเด็นก็คือ ผมพบว่าการปรับแต่งผลงานพวกนั้นเพิ่ม 3% มันมีความน่าสนใจสำหรับตัวผมเอง
“ผมเคยถูกขอให้ออกแบบรองเท้า Nike Air Force 1 ขึ้นมาอีกคู่ ซึ่งสิ่งที่ผมทำก็คือการยั้งตัวเองและจะปรับแต่ง ออกแบบมันเพิ่มเข้าไปแค่ 3% เท่านั้น เพราะผมไม่ได้ต้องการรองเท้าคู่ใหม่ขึ้นมาทั้งคู่ (ไม่ได้อยากได้คู่ใหม่ที่มีดีไซน์ต่างจากเดิมแบบสุดขั้ว) แต่ผมอยากได้อะไรบางอย่างที่ทำให้ผมคิดถึงรองเท้าคู่ที่ผมมีอยู่แล้ว แต่ทำมันออกมาในแบบของตัวผมเอง” แอบโลห์บรรยายพลางหยิบรองเท้า Nike Air Force One x Off-White ขึ้นมาโชว์ ระหว่างที่เขาได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2017
ในแง่หนึ่ง 3% Approach ก็เหมือนการทำงานแบบ Upcycling เพียงแต่เป็นการนำไอเดียเดิม งานเดิมที่มีอยู่ กลับมาปรุงรสใหม่ให้มีรสชาติจัดจ้านขึ้นในสัดส่วนแค่ 3% เท่านั้น เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่า สร้างความสดใหม่ แต่ยังคงฟอร์มดั้งเดิมของผลงานชิ้นนั้นๆ เอาไว้
สร้างสมดุลของการเป็น ‘น้ำครึ่งแก้ว’ วางตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่างการยึดติดขนบเดิมๆ และการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ
ตำนานดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับมักจะเน้นย้ำกับตัวเองถึงกฎการสร้างสมดุลระหว่าง ‘The Purist’ และ ‘The Tourist’ หรือการเชื่อมกลุ่มคนทั้งสองก้อนเข้าหากันให้ได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับงานเของเขา เพราะท้ายที่สุดแล้วหากคุณสามารถพาคนทั้งสองกลุ่มนี้ให้มาเจอกันตรงกลางได้จริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่ความสำเร็จมากมายที่จะตามมาอย่างมหาศาล รวมถึงการที่งานของคุณจะได้รับการยอมรับ เป็นที่รู้จักโดยผู้คนในวงกว้างแบบไร้พรมแดนด้วย
แอบโลห์อธิบายไว้ว่า The Purist จะเหมือนกับคนที่มักยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิมๆ เป็นคนที่อยู่ในกรอบ เชื่อในวิธีปฏิบัติหรือแนวคิดแบบดั้งเดิมอยู่หน่อยๆ ฉะนั้นคนกลุ่มนี้ในความหมายของแอบโลห์คือคนที่เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในงานศิลปะ ถ้าไปเดินตามงานนิทรรศการ The Purist จะเหมือนคนที่ชอบไขว้ขา เอานิ้วชันคางตัวเอง พลางยืนดูงานศิลปะและอธิบายได้เป็นล้านเหตุผลว่าทำไมผลงานที่เขาหรือเธอมองถึงสลักสำคัญขนาดนั้น
ขณะที่ The Tourist จะเหมือนกลุ่มคนขาจร เป็นนักท่องเที่ยวที่พร้อมจะท่องโลกกว้าง เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยแววตาเป็นประกาย ใคร่รู้ ใคร่สงสัย เปิดรับ เปิดกว้างอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นงานของเขาในฐานะดีไซเนอร์ผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะ สินค้าแฟชั่นที่วางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ คือการสร้างพื้นที่ตรงกลางที่สามารถพาผู้คนในแบบ The Purist มาเจอกับ The Tourist ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความแตกแยกออกจากกัน
ความหมายคือ ผลิตภัณฑ์ งานออกแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นจะต้องขายได้กับคนกลุ่ม Tourist ขณะเดียวกันก็ต้องเกิดขึ้นจากไอเดีย ความสร้างสรรค์ และคงไว้ซึ่งสุนทรียภาพของศิลปะ งานออกแบบเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่ม Purist ด้วย
ในโปรเจกต์ที่เวอร์จิลและ Off-White มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยอดนิยมที่ครองใจผู้คนนับสองพันล้านคนทั่วโลกจากสวีเดนตั้งแต่ปี 2017 ตัวแอบโลห์เองอธิบายไว้ว่า เขาได้นำแนวคิด ‘The Purist’ และ ‘The Tourist’ มาใช้เช่นกัน เนื่องจากเขาต้องออกแบบสินค้าเฟอร์นิเจอร์แฟชั่นที่ใช้งานได้จริงๆ ให้กับลูกค้าของ IKEA หลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งในที่นี้เขานิยามว่าเป็นกลุ่ม The Tourist
โจทย์ของงานนี้คือการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ให้กับผู้บริโภคคนรุ่นใหม่กลุ่มมิลเลนเนียล เขาจึงใช้วิธีการจ้างทีมงานเพิ่มด้วยการสรรหาทีมจากผู้ใช้งานในโลก Instagram ทำให้เขาได้ทีมงานเด็ก คนรุ่นใหม่มาร่วมงานด้วย เพื่ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
ตัวอย่างของงานออกแบบในโปรเจกต์นี้ก็เช่น พรมผืนยักษ์ที่มีข้อความว่า ‘KEEP OFF (อย่ายืนบนนี้)’ ซึ่งดูผิวเผินอาจจะเป็นถ้อยคำที่ดูเรียบง่าย แต่มันผ่านกระบวนการคิดมาหลายขั้นตอน กลั่นกรองผ่านไอเดียมากมายมหาศาลที่หลั่งไหลพรั่งพรู และเมื่อมันถูกจัดวางอยู่บนพรมของ IKEA ด้วยท่าทางและสไตล์ของ Off-White แล้ว พรมผืนนี้กลับมีจริตจะก้าน และมีความยูนีกในแบบฉบับของแอบโลห์สุดๆ
‘Work in Progress’ นิยามที่บอกเราว่า ไม่จำเป็นต้องดีเยี่ยม 100% ไร้ที่ติในทุกๆ ครั้ง แต่จงเรียนรู้และทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างเข้าไว้
แอบโลห์บอกไว้ว่า เขาชอบแนวคิดที่ชื่อว่า Work in Progress นี้มากๆ ซึ่งถ้าจะให้อธิบายเพิ่มเติม ก็ตีความง่ายๆ เลยว่า งานทุกอย่างที่คุณทำนั้น บางครั้งบางคราวมันก็ไม่จำเป็นต้องดีเลิศ สมบูรณ์แบบในระดับ 100% เสมอไป เพราะเขาไม่ใช่คนแบบเพอร์เฟกชันนิสต์
ตรงกันข้าม พอเขารู้ตัวว่าไม่จำเป็นจะต้องทำให้ทุกอย่างมันออกมาเลิศเลอขนาดนั้น เขาก็พบว่าประตูโอกาสของการได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่หลากหลายกว่าเดิมก็เปิดกว้างขึ้นมากๆ
“ตอนที่ผมรู้ตัวว่ามันโอเคนะที่จะปล่อยวางบ้างก็ได้ ไม่ต้องทำตัวเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์เสมอไป เมื่อนั้นแหละคือตอนที่ผมค้นพบว่าตัวเองได้ลองเริ่มลงมือทำอะไรๆ ที่หลากหลายเยอะขึ้นมาก แถมยังนอนหลับเต็มอิ่มในตอนกลางคืนด้วย” แอบโลห์ขยายความแนวคิดแบบ Work in Progress เพิ่มเติม
ทั้ง 4 ข้อข้างตนที่เราหยิบยกขึ้นมาเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งจากเรื่องราวความสำเร็จและแนวคิดการทำงานในแบบฉบับของแอบโลห์ตลอด 41 ปีในชีวิตการทำงานของเขาเท่านั้น เพราะหากจะเล่าทั้งหมด เราเชื่อว่าคุณคงจะต้องไถนิ้วบนหน้าจอทัชสกรีนบนสมาร์ทโฟนของคุณจนเมื่อยนิ้วเป็นแน่! และตัวผู้เขียนเองคงไม่สามารถสาธยายให้จบแบบกระชับๆ ได้ใจความที่ครบถ้วนได้
อย่างไรก็ดี The Secret Sauce และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บางช่วงบางตอนที่เราหยิบขึ้นมาถ่ายทอด บอกเล่า และส่งต่อให้กับคุณ น่าจะจุดประกายไอเดีย หรือกลายเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสรรค์งานออกแบบหรืองานใดๆ ก็ตามให้กับผู้อ่านได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
อ้างอิง:
- https://news.harvard.edu/gazette/story/2017/11/harvard-welcomes-virgil-abloh-for-gsd-lecture/
- https://www.youtube.com/watch?v=qie5VITX6eQ
- https://www.teenvogue.com/story/virgil-abloh-interview
- https://time.com/6124197/virgil-abloh-dies/
- https://www.architecturaldigest.com/story/virgil-abloh-on-what-design-can-learn-from-streetwear
- https://www.gq.com/story/virgil-abloh-wants-to-help-you-start-a-brand
- https://www.vogue.com/article/virgil-abloh-career-lessons-decade
- https://www.bbc.com/news/newsbeat-59414088
- https://theartssection.org/home/2019/6/18/mcas-new-virgil-abloh-exhibit-explores-the-dichotomies-of-purists-vs-tourists
- https://www.metalmagazine.eu/en/post/article/virgil-abloh-navigating-a-path-between-tourist-and-purist
- https://james.tf/virgil-abloh-editor-in-brief
- ชื่อแบรนด์ Off-White มาจากความตั้งใจของแอบโลห์ที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวผสมผสานระหว่างการเป็นแบรนด์สตรีทแวร์และแบรนด์ลักชัวรีแฟชั่นไฮเอนด์ โดยที่ชื่อ Off-White ในความหมายของแอบโลห์ก็คือ ‘สีเทา’ ที่คั่นอยู่ระหว่างขาวและดำ ซึ่งก็พ้องกับคอนเซปต์การวางตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่างการเป็นแบรนด์สตรีทแวร์และแบรนด์ลักชัวรีแฟชั่น
- แอบโลห์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า Off-White ไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงชัดเจน เจตนารมณ์ของเขาคือการสร้างสรรค์งานและผลิตภัณฑ์สำหรับคนทุกคน ดึงดูดคนที่มีความแตกต่างหลากหลายด้วยความยูนีกในแบบฉบับของตัวเองมากกว่า
- BBC นิยามความสำเร็จของแอบโลห์ว่าเป็นการเปิดประตู สร้างแรงบันดาลใจ และสานฝันให้กับดีไซเนอร์ผิวสีรุ่นใหม่ๆ ได้มีที่ยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น งานสร้างสรรค์