×

‘ซีไอเอ็มบี ไทย’ คงคาดการณ์ GDP ปีนี้และปีหน้าที่ 3.2% และ 3.4% แนะจับตา 6 ปัจจัยเสี่ยงฉุดการเติบโต ห่วงปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง

06.12.2022
  • LOADING...
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ที่ 3.2% และปี 2566 ที่ 3.4% แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีเกินคาดในช่วงไตรมาส 3 ที่ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนถึง 4.5% (YoY) หรือขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับฤดูกาลถึง 1.2% (QoQ) แต่การฟื้นตัวหลักมาจากการเปิดเมืองและการเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มากขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ยังกระจุกตัวในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ขณะที่การใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ยังขยายตัวไม่โดดเด่น อาจด้วยรายได้คนทั่วไปไม่ได้ปรับขึ้นมาก แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงจนคนระมัดระวังการใช้จ่าย นอกจากการบริโภคภาคเอกชนแล้ว การลงทุนภาคเอกชนก็เป็นตัวสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งการสั่งซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบ รวมทั้งภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อเนื่องในปีนี้  

 

นอกจากนี้ ภาพการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่ามาจากอุปสงค์ที่อัดอั้นมานานและพร้อมกระโจนใช้จ่าย หรือ Pent-Up Demand ซึ่งมองต่อไปก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงได้ จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ 3.7%YoY หรือ 0.6%QoQ โดยการส่งออกน่าจะเริ่มชะลอลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ​ และยุโรปที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการส่งออกของจีนมีแนวโน้มติดลบในปีหน้า ทั้งจากอุปสงค์ตลาดโลกที่อ่อนแอลง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน และจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งโดยรวมจะกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ขณะที่กลุ่มอาหารแปรรูปและสินค้าเกษตรน่าจะยังพอประคองตัวได้จากการที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น มองการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และน่าจะยังหวังเรื่องการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังอาเซียนรวมทั้งไทยได้ในปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่การก่อสร้างคอนโดมิเนียมในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทที่คนไทยพอเข้าถึงได้น่าเป็นโอกาสในการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว อาจเห็นบทบาทการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลง โดยการใช้จ่ายภาครัฐอาจไม่ขยายตัวจากปีนี้ และน่าจะไม่สามารถคาดหวังโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้มากนัก ด้วยงบประมาณที่จำกัดและนำมาใช้ด้านสวัสดิการคนจนเป็นสำคัญ อีกทั้งหากรัฐบาลใช้เงินมากระตุ้นการใช้จ่ายมากเกินไปก็อาจทำให้อุปสงค์เร่งแรงกว่าการขยายตัวของอุปทาน ความไม่สมดุลนี้จะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง หรือการขาดความเชื่อมั่นในภาคการคลังในประเทศ ซึ่งรัฐน่าจะประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเน้นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในปีหน้า 

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า ขณะที่เศรษฐกิจกำลังมีความเปราะบางและความเสี่ยงเรื่องหนี้ครัวเรือนเช่นนี้ การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ทางสหรัฐฯ​ กำลังอยู่ช่วงปลายทางของการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึงระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 1-2 ในปีหน้า ดังนั้นแล้ว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะหยุดขึ้นดอกบี้ยได้ช่วงกลางปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2% ในช่วงกลางปีหน้า จากระดับ 1.25% ในปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะอยู่เหนือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระดับบนที่ 3% ซึ่งทาง ธปท. ยังไม่น่าส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปีหน้าได้ 

 

ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนมองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์ เพื่อใช้จ่ายลดลงตาม ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ​ ตามคาดน่าจะเป็นบรรยากาศในการลงทุนที่ดีขึ้น แม้ Fed จะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า โดยธนาคารมองเงินบาทไว้ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2565 นี้ 

 

อย่างไรก็ดี ก็กังวลในส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่ยังสูงในช่วงครึ่งแรกปีหน้า ประกอบกับการส่งออกที่ยังมีทิศทางไม่สดใสและรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ซึ่งน่าจะยังทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงกลางปีหน้า และน่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีตามการฟื้นตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยมองเงินบาทที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในปลายปี 2566   

 

อมรเทพระบุว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับ 3 ความเสี่ยงที่ต่อเนื่องมาจากปีนี้และมีความโอกาสที่จะรุนแรงขึ้น ประกอบด้วย

 

  1. ปัญหาการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ จนกระทบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารสัตว์ ปุ๋ย รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ  

 

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้เงินเฟ้อจะปรับลดลง Fed ลดความร้อนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย แต่อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ลดลงในกรอบให้ได้ จนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยแรงกว่าคาด  

 

  1. จีนล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ต่อเนื่องตามมาตรการ Zero-COVID แต่รอบนี้มีการประท้วงในหลายเมือง ซึ่งสะท้อนความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายนี้ ขณะที่รัฐบาลจีนยังไม่มีท่าทีผ่อนปรน หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็น่าจะกระทบอุปสงค์ในประเทศจีน โดยฉพาะต้องติดตามว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะมีปัญหา จนฟองสบู่แตก ราคาที่ดินร่วงหรือไม่ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ที่สูงในภาคส่วนนี้ รวมทั้งทำให้ห่วงโซ่การผลิตชะงักงัน และอาจจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตในประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบตามมาด้วยเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบจากจีน  

 

ขณะเดียวกันก็จะมีความเสี่ยงความเสี่ยงอื่นๆ ตามมาสมทบ ได้แก่ 

 

  1. วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูง เช่น อิตาลี หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจนนักลงทุนกังวลปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เช่นในอดีต แม้ทางธนาคารกลางยุโรปจะมีมาตรการรับมือ แต่หากยูโรโซนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง การช่วยเหลืออาจทำได้จำกัด และน่าจะกระทบความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและกลับไปถือสินทรัพย์สกุลดอลลาร์อีกครั้ง 

 

  1. วิกฤตตลาดเกิดใหม่ สืบเนื่องจากปีนี้ที่หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะเมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเร็วจากรายจ่ายด้านน้ำมันและเงินโอนออกนอกประเทศ ขณะที่รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวหดหาย ปัญหานี้อาจขยายวงได้อีกครั้ง เสมือนใครจะเป็นโดมิโนรายต่อไปที่จะล้ม หากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและดึงเงินลงทุนกลับ ค่าเงินจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และประเทศเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาสภาพคล่อง ต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ปัญหานี้ไม่น่ารุนแรงจนลามไปประเทศที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงและไม่มีปัญหาด้านความเชื่อมั่น

 

  1. โควิดกลายพันธุ์ แพร่ได้เร็ว หลบภูมิคุ้มกัน แม้อาการไม่รุนแรง แต่จะส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขมีปัญหา รัฐบาลอาจต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออาจกระทบความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว รวมทั้งอาจกระทบภาคการผลิต ซึ่งจะมีผลให้ห่วงโซ่อุปทานมีปัญหากระทบการส่งออกได้  
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising