×

ทวี สอดส่อง ถล่มมติ ครม. ต่อสัมปทานทางด่วนเอื้อเอกชน ปล้นสมบัติแผ่นดิน ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
15.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ โดยมี ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธาน

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายถึงกรณี ครม. มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบปรับแก้ร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ ซึ่งการต่อสัมปทานดังกล่าวเป็นการปล้นสาธารณสมบัติแผ่นดิน ขโมยเงินหลวง รีดเอาทรัพย์ประชาชน

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อไปว่า ประชาชนควรจ่ายค่าทางด่วนถูกลง ถ้าครบสัญญาจะต้องเปิดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่กลายเป็นอีกไม่กี่ปีค่าทางด่วนจะถูกปรับเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เอกชนกลายเป็นเสือนอนกิน ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินออกมาแล้ว นายกฯ และ ครม. ได้ดำเนินการอย่างไร และศาลก็เห็นด้วยที่ค่าทางด่วนต้องต่ำลง เงินก้อนนี้แทนที่รัฐบาลจะได้ใช้ แต่กลับไปเป็นของคนภายนอกที่เป็นพวกพ้อง

 

ส่วนปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พรรคประชาชาติได้เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แต่เดิมมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เพื่อให้มีกรรมสิทธิ์อยู่ต่อไปได้ โดยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเงิน เพราะหากรัฐรังแกประชาชนก็ต้องมีการเยียวยา แต่สุดท้ายรัฐบาลไม่รับกฎหมายนี้ นอกจากนี้ยังพูดถึงที่ดินในความดูแลของการรถไฟฯ ด้วย

 

ขณะที่ สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แถลงถึงเรื่องดังกล่าวว่า ช่วงที่ พ.ต.อ. ทวี อภิปรายว่ามูลหนี้ตามข้อพิพาททั้งหมดจะมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้นไม่ถูกต้อง ความจริงคือมูลหนี้ตามข้อพิพาททั้งหมดมีมูลค่า 1.37 แสนล้านบาท (ในกรณีหากแพ้คดีกับ BEM) ซึ่งได้มีการเจรจาต่อรองแล้ว มูลหนี้ทั้งหมดจะมีมูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท

 

ในช่วงที่ พ.ต.อ. ทวี อภิปรายว่าการรับสภาพหนี้ดังกล่าวทำให้ กทพ. มีหนี้เพิ่มจนทำให้ฐานะทางการเงินติดลบเป็นจำนวนมาก (จากกำไร 6,000 ล้านบาท เป็นขาดทุน 65,000 ล้านบาท) ข้อเท็จจริงคือในปี 2563 ที่พบว่าขาดทุน 65,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น สถานะทางการเงินในภาพรวมที่แท้จริงยังมีผลประกอบการที่กำไรทุกปี และนำเงินส่งรัฐปีละประมาณ 3-5 พันล้านบาทมาอย่างต่อเนื่อง

 

“การขยายสัญญาตามมติ ครม. มิชอบตามกฎหมาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนั้น จึงขอยืนยันว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมทั้งกับประชาชนผู้ใช้บริการ และกับเอกชนผู้ร่วมลงทุนดำเนินการบริหาร โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนและภาครัฐ และหลักธรรมาภิบาลตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด” สุรเชษฐ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising