×

ป.ป.ช. ฟันผิดจริยธรรมร้ายแรง ‘ศุภชัย โพธิ์สุ – สุชาติ ภิญโญ’ ถือครองที่ดินรัฐโดยมิชอบ

โดย THE STANDARD TEAM
25.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 เมษายน) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญเกี่ยวกับกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ศุภชัย โพธิ์สุ สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สส. นครพนม ยึดถือครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. 2 หรือใบจองในโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่แปลงป่าดงพะทาย ท้องที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยการซื้อที่ดินและไม่มีหลักฐานใบจองที่ดิน จำนวน 40 แปลง เนื้อที่ 220 ไร่

 

เนื่องจากข้อเท็จจริงจากการไต่สวน ปรากฏว่าศุภชัยได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. นครพนม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 และกรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. นครพนม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 โดยแจ้งว่าครอบครองที่ดินประเภทใบจอง (น.ส. 2) ในท้องที่ตำบลพะทาย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จำนวน 40 แปลง เนื้อที่รวม 220 ไร่ 

 

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2532-2534 ศุภชัยซึ่งเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการจัดสรรที่ดิน และเป็นผู้ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินและใบจองในโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่แปลงป่าดงพะทาย ได้ซื้อที่ดินโดยทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับประชาชนผู้ได้รับจัดสรรที่ดินและได้รับใบจอง (น.ส. 2) ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินชั่วคราวในโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่แปลงป่าดงพะทาย ท้องที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จำนวน 40 แปลง เนื้อที่รวม 220 ไร่ 

 

ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถโอนหรือซื้อขายเปลี่ยนมือได้ เว้นแต่ตกทอดโดยมรดก โดยหลังจากที่มีการส่งมอบใบจองและการครอบครองที่ดินให้ศุภชัยแล้ว ศุภชัยได้เข้าทำประโยชน์โดยปลูกต้นยางพาราเต็มพื้นที่ต่อเนื่องเรื่อยมา แม้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมจะมีคำสั่งให้ผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินและใบจองเดิมสิ้นสิทธิในที่ดินและออกจากที่ดินและจำหน่ายสิทธิใบจอง ตามมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565, วันที่ 5 กันยายน 2565 และวันที่ 22 กันยายน 2565 

 

ภายหลังมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ

 

การที่ ศุภชัย โพธิ์สุ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม และยังดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 มีหนังสือเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 และวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ขอสละสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน แปลงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้มีคำสั่งจำหน่ายใบจองที่ดินดังกล่าว จึงไม่มีผลให้การยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินประเภทใบจอง (น.ส. 2) ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐในโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่แปลงป่าดงพะทาย โดยการซื้อที่ดินและไม่มีหลักฐานใบจองที่ดิน (น.ส. 2) รวมทั้งไม่มีคุณสมบัติในการที่จะได้ที่ดินตามระเบียบว่าด้วย การจัดที่ดินเพื่อประชาชน ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ศุภชัย โพธิ์สุ ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

 

ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติเห็นว่า การกระทำของศุภชัยเป็นการครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ของรัฐ ทั้งยังเป็นการกีดกันผู้ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีอยู่แล้วแต่เป็นจำนวนน้อยไม่พอเลี้ยงชีพ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 7 และข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 และข้อบังคับ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 9 และข้อ 10   

 

ฟัน สุชาติ ภิญโญ สส. เพื่อไทย ถือครองที่ดินวังน้ำเขียวมิชอบ

 

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังมีมติชี้มูลความผิด สุชาติ ภิญโญ สส. นครราชสีมา เขต 6 พรรคเพื่อไทย กรณียึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าไม้ถาวรป่าวังน้ำเขียว ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาและยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาโดยมิชอบ 

 

เนื่องจากข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า สุชาติได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 โดยแจ้งว่า พรทิพย์ ทองแสงสุข ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ได้ยึดถือครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่สำรวจ ภ. 146 บริเวณบ้านห้วยน้ำเค็ม หมู่ที่ 11 ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 และยึดถือครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่สำรวจ 251/54 บริเวณบ้านวังไผ่ หมู่ที่ 12 ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 6 แปลง เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 โดยให้บุคคลอื่นปลูกข้าวโพดประมาณ 100 ไร่ 

 

จากการตรวจสอบพบว่าที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่สำรวจ ภ. 146 อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรป่าวังน้ำเขียว เป็นที่ดินของรัฐตามประกาศของกรมป่าไม้ปี 2506 และพรทิพย์ไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ายึดถือครอบครอง หรือได้รับการยกเว้นให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากหน่วยงานของรัฐ การเข้ายึดถือครอบครองดังกล่าวจึงเป็นการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันครอบครองป่าที่ถูกแผ้วถาง 

 

โดยฝ่าฝืนมาตรา 54 ซึ่งให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 สำหรับที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่สำรวจ 251/54 อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ปี 2543 พรทิพย์ ทองแสงสุข มิได้เป็นผู้ยากไร้หรือไร้ที่ดินทำกิน เนื่องจากมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและห้างหุ้นส่วน มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถยนต์จำนวนหลายคัน และมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหลายแปลง 

 

สุชาติ และพรทิพย์ ได้ยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จนกระทั่งสุชาติได้รับเลือกตั้งเป็น สส. นครราชสีมา ก็ยังคงยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องเรื่อยมา ทั้งที่สุชาติและพรทิพย์ไม่ใช่บุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร และไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพเกษตรกรรม ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติว่าการกระทำของสุชาติเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกบุกรุกทำลาย และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์การดำรงตำแหน่งอันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง  

 

โดยทั้ง 2 กรณีจึงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising