×

สำรวจความเชื่อเรื่อง ‘ถ้ำ’ ของคนไทย พื้นที่ของความตาย และการถือกำเนิด

28.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปกติแล้ว นักธรณีวิทยาจะแบ่งถ้ำออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ ถ้ำเป็น-ถ้ำตาย (non-active cave) คือ ถ้ำที่แห้งและไม่มีน้ำไหลแล้ว และถ้ำเป็น (active cave) คือ ถ้ำที่ยังคงมีน้ำไหลภายในถ้ำ ซึ่งถ้ำแบบนี้จะอันตรายมากในช่วงฤดูฝน
  • ในช่วง 2,300-1,000 ปีมาแล้ว คนโบราณได้ถือว่าถ้ำเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง และเป็นสถานที่ของคนตาย ทำให้กลายเป็นพื้นที่น่ากลัว ในขณะเดียวกันถ้ำสามารถเป็นพื้นที่การถือกำเนิดชีวิตได้ในเวลาเดียวกัน
  • ความเชื่อเรื่องผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อดั้งเดิมในสังคมไทย เพียงแต่ด้วยความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมาจึงทำให้ความเชื่อดั้งเดิมพวกนี้ถูกนิยามว่าเป็นสิ่งงมงาย ไร้สาระ

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา จากกรณีที่เด็กและโค้ชจำนวน 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย นอกจากทีมช่วยเหลือต่างๆ เช่น ทหาร ซีล หน่วยกู้ภัย จะพยายามช่วยกันอย่างสุดความสามารถแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีคนจำนวนมากกราบไหว้และพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อว่าภายในถ้ำแห่งนี้มีผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ จึงทำให้ทั้ง 13 คนหลงทางและติดอยู่ในถ้ำ

 

มีผู้เขียนไปบ้างแล้วว่า เพราะความไม่รู้หรือไม่เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติจึงมีการอธิบายว่าทำไมถ้ำจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ในบทความสั้นๆ นี้ผมอยากชี้ชวนให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดที่ทำให้ถ้ำกลายเป็นพื้นที่แห่งความตายผ่านข้อมูลทางโบราณคดี และถอดรหัสโครงสร้างทางความคิดของคนโบราณที่ทำให้ถ้ำกลายเป็นทั้งพื้นที่ของความตาย และการกำเนิดชีวิต

 

เพิงผาแห่งความตาย

ปกติแล้ว นักธรณีวิทยาจะแบ่งถ้ำออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ ถ้ำเป็น-ถ้ำตาย (non-active cave) คือ ถ้ำที่แห้งและไม่มีน้ำไหลแล้ว และถ้ำเป็น (active cave) คือ ถ้ำที่ยังคงมีน้ำไหลภายในถ้ำ ซึ่งถ้ำแบบนี้จะอันตรายมากในช่วงฤดูฝน ถ้ำแบบแรกเป็นถ้ำที่มนุษย์ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะเป็นพื้นที่แห้ง ทำให้เหมาะกับการอยู่อาศัย และใช้เป็นสถานที่ฝังศพ

 

มีเพิงผาอยู่ไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่พบพิธีกรรมการฝังศพ ได้แก่ ถ้ำไทรโยค จ.กาญจนบุรี ถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ เพิงผาบ้านไร่ กับ เพิงผาถ้ำลอด จ.แม่ฮ่องสอน และประตูผา จ.ลำปาง

 

ผมจะขออธิบายเฉพาะเพิงผาบ้านไร่ และเพิงผาถ้ำลอด เพราะเป็นที่ที่ผมเคยได้ร่วมงานขุดค้นทางโบราณคดี ภายใต้โครงการที่ รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย  

 

เพิงผาถ้ำลอด เป็นเพิงผาขนาดเล็ก อยู่ติดกับถ้ำลอด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในถ้ำที่ยาวเป็นอันดับต้นๆ ถ้ำหนึ่งในประเทศไทย ที่ความลึกประมาณ 1 เมตร พบว่าคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 10,000-13,000 ปีมาแล้ว ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ฝังศพ จากการขุดค้นพบว่ามีโครงกระดูกหนึ่ง ผู้ตายเป็นเพศหญิง มีอายุ 13,000 ปีมาแล้ว ถูกจัดวางท่าฝังศพในท่างอตัว ทั้งนี้บางท่านเชื่อว่าเป็นท่าที่คล้ายกับเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา

 

ในขณะที่เพิงผาบ้านไร่ เป็นเพิงผาขนาดใหญ่มาก ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ได้ขุดพบโครงกระดูกเพศชายหนึ่งโครง เป็นคนแก่ โดยชายคนนี้เคยมีอายุเมื่อ 8,500 ปีมาแล้ว ศพถูกจัดวางในท่างอตัวเช่นกัน ที่สำคัญมีหินก้อนหนึ่งที่วางปิดอยู่บนศีรษะ ที่หินก้อนนี้ยังมีดินเทศสีแดง ซึ่งอาจใช้สำหรับเป็นเหมือนกับจานสีเพื่อเขียนภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ และในสมัยก่อน คนโบราณเชื่อว่า สีแดงเป็นสีแทนเลือด จึงเป็นสีที่ให้กำเนิดชีวิต

 

เพิงผาถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่ขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์โบราณ

 

สภาพโครงกระดูกระหว่างที่ขุดพบที่เพิงผาถ้ำลอด

 

ที่เพิงผาบ้านไร่ได้พบกลุ่มของภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ด้วย ไม่ทราบเรื่องราวที่ชัดเจน แต่น่าจะเขียนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

 

ความจริงในถ้ำลอด ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นก็ได้พบภาพเขียนสีเป็นภาพกวางเช่นกัน แต่นักท่องเที่ยวน้อยคนจะเคยเห็นภาพเขียนสีพวกนี้ นักโบราณคดีมักตีความว่า เขียนขึ้นเพื่อพิธีกรรมความอุดมสมบูรณ์

 

ความจริงแล้ว แนวคิดที่มองว่าเพิงผาเป็นพื้นที่สุสานนี้เริ่มต้นในไทยมาแล้วอย่างน้อยคือ 26,000 ปี ซึ่งเป็นค่าอายุที่ได้จากโครงกระดูกที่ขุดพบที่ถ้ำหมอเขียว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วง 26,000-8,500 ปี เพิงผาหรือถ้ำในไทยได้กลายเป็นพื้นที่แห่งความตายมานานมากแล้ว

 

ถ้ำผีแมน ดินแดนแห่งความตาย

‘ผีแมน’ เป็นคำที่ชาวไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนใช้อธิบายโลงศพของคนโบราณที่อยู่ตามเพิงผาและถ้ำต่างๆ ว่าเป็นของผี ไม่ใช่ของคน ถามว่ามีผีจริงๆ ไหม จากประสบการณ์ที่เคยสำรวจถ้ำพวกนี้ และพาคนไปเที่ยว ก็มีบางคนที่เจอผีเข้า เอาเป็นว่า ขอวกกลับมาที่เรื่องโลงผีแมนก่อน

 

โลงผีแมน แท้จริงแล้ว คือโลงศพของคนสมัยโบราณที่เคยอาศัยอยู่ใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อ 2,300-1,000 ปีมาแล้ว คนพวกนี้ใช้เหล็กเป็นเครื่องมือ อยู่กันเป็นสังคมหมู่บ้าน และเมื่อมีคนตายก็จะนำร่างไร้วิญญาณไปวางไว้ในโลงศพที่เก็บไว้ตามถ้ำ หรือแขวนไว้บนเพิงผา หรือหน้าผา โลงศพที่ว่านี้มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ใหญ่สุดที่เคยพบมีขนาดถึง 11 เมตรกว่า เล็กสุดมีขนาดไม่ถึง 1 เมตร ทำให้คนไทใหญ่เชื่อว่า ผีแมนต้องมีร่างกายสูงใหญ่มาก

 

ข้อมูลเปรียบเทียบจากวัฒนธรรมของชาวจ้วง (พูดภาษาตระกูลไท) ในมณฑลกวางสี ประเทศจีน ได้ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ต้องเอาโลงศพไปวางเก็บไว้ตามเพิงผาหรือถ้ำสูงๆ เพราะเชื่อว่า ยิ่งไปไว้สูงเท่าไรก็ยิ่งแสดงความกตัญญูมากเท่านั้น เพราะทำให้ผู้ตายใกล้ชิดสวรรค์ ในขณะที่กลุ่มชนในเขตเกาะบอร์เนียวเชื่อว่า ถ้ำเป็นดินแดนแห่งความตาย เมื่อมีคนตายจะทำโลงศพขึ้นแล้วล่องร่างไร้วิญญาณไปเก็บยังถ้ำ โลงศพจึงเปรียบเสมือนได้กับเรือส่งวิญญาณ

 

ปีเตอร์ เมตคาล์ฟ และ ริชาร์ด ฮันตินตัน นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาชนเผ่าบารา บนเกาะมาดากัสการ์ ได้อธิบายว่า เมื่อมีคนตาย ผู้ชายในเผ่าจะต้องแบกโลงศพไปเก็บไว้ยังถ้ำ แต่ในระหว่างขั้นตอนของการแบกโลงไปนี้ หญิงสาวในเผ่าจะต้องเข้ามาขัดขวาง ทำให้เด็กผู้ชายต้องต่อสู้ และใช้โลงศพกระทุ้งยันให้พวกเด็กผู้หญิงพ้นทาง แต่พวกผู้หญิงจะขัดขวางไปเรื่อยๆ จนโลงศพได้ถูกแบกเข้าถ้ำไป

 

นักมานุษยวิทยาทั้งสองตีความว่า การกระทำเช่นนั้นสะท้อนความคิดเชิงอุปมา ที่มองว่าการแบกศพไปยังถ้ำคือพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านจากภาวะของการมีชีวิตไปสู่ความตาย แต่ก็แฝงความหมายของการกำเนิดใหม่ด้วย เพราะโลงศพเปรียบได้กับอวัยวะเพศชาย ปากถ้ำคืออวัยวะของเพศหญิง ดังนั้น การต่อสู้ตลอดทางของผู้ชายที่แบกโลงศพก็เพื่อเอาโลงเข้าถ้ำนั่นเอง  

 

ดังนั้น ถ้าเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านชาติพันธุ์วรรณนา กรณีถ้ำผีแมนนี้ก็อาจเปรียบได้ว่า ถ้ำเป็นทั้งพื้นที่ที่คนเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความตาย และเป็นดินแดนของการกำเนิดใหม่

 

ผลจากการสำรวจล่าสุดของ รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ที่ถ้ำโลงลงรัก ได้พบโลงผีแมนอยู่โลงหนึ่ง ซึ่งผมมองว่ามีความน่าสนใจ เพราะมีการเขียนลวดลายของโลงคล้ายตารางสี่เหลี่ยม ซึ่งทำให้ผมนึกถึงแนวคิดที่มองว่า โลงศพนั้นคือเรือส่งวิญญาณเพื่อเดินทางไปยังโลกแห่งความตาย ที่มีความหมายถึงเมืองบาดาล หรือเมืองสวรรค์ก็ได้

 

ในบางชนเผ่าถือว่า โลงศพนั้นเปรียบได้กับงู ซึ่งคนโบราณถือว่างูเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย และยังเป็นสัตว์ที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกบาดาลอีกด้วย

 

โลงไม้เขียนลายรูปตาราง คล้ายกับเกล็ดงู ที่ถ้ำโลงลงรัก จ.แม่ฮ่องสอน

 

จากทั้งหมดที่กล่าวมาในช่วง 2,300-1,000 ปีมาแล้ว คนโบราณได้ถือว่าถ้ำเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง และเป็นสถานที่ของคนตาย ทำให้กลายเป็นพื้นที่น่ากลัว แต่ในขณะเดียวกัน คนโบราณก็มองในลักษณะคู่ตรงข้ามด้วยก็คือ ถ้ำสามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่ของความตาย และการถือกำเนิดชีวิตได้ในเวลาเดียวกัน

 

ตำนานถ้ำในไทย

คงไม่แปลกอะไรที่ความเชื่อว่าถ้ำเป็นสถานที่แห่งความตายและเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ยังคงตกค้างมาในปัจจุบัน แต่อยากให้สังเกตว่า ถ้ำและภูเขามักถูกอธิบายว่าเปรียบได้กับผู้หญิง ในขณะที่มักมีสิ่งอื่นที่มาคู่กันโดยเป็นเพศชาย

 

ตัวอย่างเช่น ในตำนานของถ้ำหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยล้านนาหรือก่อนล้านนา ตามตำนานเล่าว่า เจ้าสุวรรณคำแดงได้พบกับลูกยักษ์ผู้เลอโฉมนามว่า ‘อินเหลา’ จึงได้พยายามติดตามนางไปจนถึงถ้ำเชียงดาว เมื่อตามเข้าไปเรื่อยๆ กลับหายไปไม่กลับออกมาอีกเลย ตำนานนี้ก็ดูจะมีส่วนคล้ายแนวคิดเรื่องถ้ำตามที่กล่าวมาเช่นกัน คือ ถ้ำเป็นสัญลักษณ์แทนผู้หญิง ส่วนเจ้าสุวรรณคำแดงเป็นเหมือนกับผู้ชายที่ลอดเข้าถ้ำไป

 

ส่วนถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย จากบทความของณัฐพงศ์ ดวงแก้ว ที่นำเสนอใน THE STANDARD ได้เล่าว่า นานมาแล้วมีหญิงสาวสูงศักดิ์หนีตามนายทหาร และอยู่ร่วมกันจนท้องแก่ วันหนึ่งสามีของเธอได้ออกไปทำนา แต่โชคร้ายเจอพ่อผัวของผู้หญิงฆ่าตาย เมื่อสามีไม่กลับมาหาจึงได้กลั้นใจตาย กลายเป็น ‘ดอยนางนอนรอผัว’ ซึ่งทุกวันนี้ยังเชื่อกันว่าดวงวิญญาณของเธอยังคงรอคอยสามีอยู่

 

ตำนานนี้ได้นำไปผูกติดกับสัณฐานของดอยลูกนี้ที่มีลักษณะคล้ายกับหญิงสาวท้องนอนเหยียดยาว จึงทำให้เชื่อด้วยว่า ดอยลูกนี้เป็นที่สิงสถิตของเจ้าแม่นางนอนไปด้วย

 

นอกจากตำนานเรื่องนี้แล้ว จากการตามข่าวยังพบว่า ชาวบ้านบางคนยังเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้มีเจ้าปู่พญานาค เป็นผู้ปกปักรักษาถ้ำแห่งนี้อีกด้วย

 

ดังนั้น ถ้าเอาความเชื่อเรื่องถ้ำของชาวบาราและเรื่องโลงผีแมนมาอธิบายเชิงสัญลักษณ์ ถ้ำหลวงนี้ได้แฝงสัญลักษณ์ของผู้หญิง คือ ถ้ำ และสัญลักษณ์ของผู้ชาย คือ พญานาค เอาไว้เช่นกัน และเมื่อประมวลจากความเชื่อต่างๆ แล้วก็จะเห็นได้ว่า การที่มีคนไปทำนายทายทัก ประกอบพิธีกรรมต่างๆ หน้าถ้ำ และอื่นๆ ในทำนองไสยศาสตร์นั้น จึงสะท้อนรากความเชื่อที่ยาวนาน จนทำให้ถ้ำธรรมชาตินี้ได้พัฒนาขึ้นกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

 

ความเชื่อเรื่องผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อดั้งเดิมในสังคมไทย เพียงแต่ด้วยความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา จึงทำให้ความเชื่อดั้งเดิมพวกนี้ถูกนิยามว่าเป็นสิ่งงมงาย ไร้สาระ

 

กรณีของเด็กและโค้ชจำนวน 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการปะทะกันของความคิดแบบไสยศาสตร์ vs ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ และทำให้เห็นว่าในยามที่คุณไม่รู้จะไปพึ่งใคร ไม่รู้จะหาวิธีการใดมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว อำนาจที่เหนืออำนาจของมนุษย์คือ ผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังคงทำหน้าที่ได้ดีในการช่วยบรรเทาความรู้สึกและวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้

 

ขอให้ทั้ง 13 คนปลอดภัยครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising