×

Car Seat สำคัญอย่างไร ภาครัฐควรมีนโยบายอะไรเพิ่มเติมบ้าง

10.05.2022
  • LOADING...
Car Seat

หลังจากที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ซึ่งกำหนดให้คนโดยสาร ‘รถยนต์’ ที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องจัดให้นั่งใน ‘ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก’ (Car Seat) หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ถึงแม้จะเริ่มบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดในอีก 120 วัน หรือตรงกับวันที่ 5 กันยายน 2565 ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ 

 

หลายคนคงมีความสงสัยว่า Car Seat คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญ ประเทศอื่นมีกฎหมายแบบเดียวกันนี้หรือไม่ และรัฐบาลควรมีนโยบายอะไรเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ Car Seat บ้าง

 

Car Seat คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญ

 

‘ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก’ (Car Seat หรือ Child Restraint System: CRS) คืออุปกรณ์เสริมเบาะที่นั่งรถยนต์ เป็นเบาะที่นั่งและมีเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 12 ปี ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะเกิดอุบัติเหตุ เช่น เด็กกระเด็นออกจากรถ เนื่องจากรูปร่างของเด็กไม่เหมาะสมกับเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ จึงต้องใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ต่างออกไป ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า

 

  • Car Seat ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้ 71-82% เมื่อเทียบกับการคาดเข็มขัดเพียงอย่างเดียว
  • Car Seat แบบเสริมลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงได้ 45% ในเด็กอายุระหว่าง 4-8 ปี เมื่อเทียบกับการคาดเข็มขัดเพียงอย่างเดียว
  • ในขณะที่การคาดเข็มขัดลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ประมาณ 50% ในเด็กโตและผู้ใหญ่

 

สำหรับข้อมูลในประเทศไทยในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรประมาณ 1,500 ราย และบาดเจ็บอีก 2 แสนราย หรือ 20 รายต่อชั่วโมง และคิดเป็น 25% ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด โดยประมาณ 2 ใน 3 ประสบอุบัติเหตุขณะโดยสารรถจักรยานยนต์ และอีก 1 ใน 3 ขณะโดยสารรถยนต์ อุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด แต่สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัยในผู้ใหญ่ และการใช้ Car Seat สำหรับเด็ก

 

ประเภทของ Car Seat และการติดตั้ง

 

Car Seat แบ่งเป็น 3 ประเภท การเลือกใช้จะขึ้นกับช่วงอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของเด็กดังนี้

 

  • แบบติดตั้งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ (Rear-Facing Car Seat) สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงวัยหัดเดิน 2-4 ปี จนกระทั่งมีน้ำหนักหรือส่วนสูงเกินที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด เด็กจะนั่งหันหน้าเข้าหาเบาะรถ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกต้นคอหัก จากการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดการชนหรือเบรกรุนแรง
  • แบบติดตั้งหันหน้าไปทางด้านหน้ารถ (Forward-Facing Car Seat) สำหรับเด็กเล็กจนถึงอายุอย่างน้อย 5 ปี โดยยึดน้ำหนักหรือส่วนสูงตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด
  • แบบเสริม (Booster Seat) สำหรับเด็กโต เพื่อยกตัวเด็กขึ้นให้สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ได้พอดี โดยส่วนล่างของเข็มขัดนิรภัยต้องพาดผ่านหน้าขาส่วนบน (ไม่ใช่ส่วนท้อง) และส่วนบนพาดผ่านหัวไหล่และหน้าอกตรงกลาง (ไม่ใช่คอ/หน้า หรือไม่ผ่านหัวไหล่) ซึ่งมักจะไม่พอดีจนกว่าเด็กจะอายุ 9-12 ปี

 

การติดตั้งควรปฏิบัติตามคู่มือหรือปรึกษาพนักงานขาย โดย Car Seat ทุกประเภทควรติดตั้งไว้ที่เบาะหลัง เพราะเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุด และถุงลมนิรภัยอาจทำให้เด็กที่นั่งเบาะหน้าเสียชีวิตได้ ห้ามติดตั้ง Car Seat ประเภทหันหน้าไปทางด้านหลังรถไว้หน้าถุงลมนิรภัยเด็ดขาด เด็กควรนั่งใน Car Seat ตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะใช้ระยะเวลาสั้นเพียงใด และผู้ใหญ่จะเป็นตัวอย่างของการคาดเข็มขัดนิรภัยแก่เด็กทุกครั้ง

 

ประเทศอื่นออกกฎหมายบังคับหรือไม่

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ให้บริการเช่ารถ Rhinocarhire ระบุว่าทั่วโลกมีประเทศทั้งหมด 96 ประเทศที่บังคับการใช้ Car Seat เช่น แคนาดา อเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึง 6 ประเทศในอาเซียนด้วย ได้แก่ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

 

  • 🇨🇦 แคนาดา กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีนั่งใน Car Seat ยกเว้นรถแท็กซี่ (ยกเว้นรับส่งกรณีส่วนตัว หรืออยู่ภายใต้สัญญากับโรงเรียนหรือหน่วยงานอื่นสำหรับการขนส่งเด็ก) รถโดยสารประจำทาง รถฉุกเฉิน มีโทษปรับ 240 ดอลลาร์แคนาดา และหัก 2 คะแนน
  • 🇺🇸 อเมริกา รายละเอียดขึ้นกับแต่ละรัฐ ยกตัวอย่างนิวยอร์กกำหนดให้เด็กนั่งใน Car Seat จนถึงอายุ 8 ปี และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีทุกคนต้องนั่งใน Car Seat ประเภทหันหน้าไปทางด้านหลังรถ ยกเว้นรถแท็กซี่ มีโทษปรับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ และหัก 3 คะแนน
  • 🇬🇧 สหราชอาณาจักร กำหนดให้เด็กที่เดินทางด้วยรถยนต์และรถตู้ต้องนั่งใน Car Seat ที่เหมาะสมจนกว่าจะอายุ 12 ปี หรือสูง 135 เซนติเมตร ซึ่งในเว็บไซต์ของทางการจะมีคำแนะนำการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับส่วนสูงหรือน้ำหนัก มีโทษปรับ 60 ปอนด์ และหัก 3 คะแนน

 

การบังคับให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ใช้ Car Seat ของไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ Car Seat หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมควบคุมโรค, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่ได้รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของ Car Seat เท่าที่ควร

 

ภาครัฐควรมีนโยบายอะไรเพิ่มเติมบ้าง

 

ในแง่ของความปลอดภัยทางถนน เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การปฏิบัติตามกฎหมาย แต่คือพฤติกรรมการนั่งใน Car Seat ของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จนกว่าจะสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใหญ่ได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะเกิดอุบัติเหตุ เมื่อวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดพฤติกรรมสุขภาพ PRECEDE-PROCEDE model ของ Green and Kreuter (1991) จะมีปัจจัยหลัก 3 ประการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

  • ปัจจัยนำ (Predisposing) คือตัวเด็ก เช่น ความสามารถในการนั่ง Car Seat 
  • ปัจจัยเสริม (Reinforcing) ได้แก่ พ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น การรับรู้ความเสี่ยง ความสามารถในการจัดการกับลูกให้นั่ง Car Seat, ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสอนวิธีการสื่อสารกับเด็ก, สื่อมวลชนที่สามารถเผยแพร่คำแนะนำต่างๆ ของผู้เชี่ยวชาญ, ตำรวจที่บังคับใช้กฎหมาย
  • ปัจจัยเอื้อ (Enabling) คือ อุปกรณ์ Car Seat ซึ่งไม่มีติดตั้งมาพร้อมกับรถ จึงต้องหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง และมีคุณภาพ, แหล่งข้อมูลแนะนำการเลือกซื้อ Car Seat เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, บรรทัดฐานทางสังคม/นโยบาย

 

จุดคานงัดที่สำคัญน่าจะเป็นอุปกรณ์ Car Seat ภาครัฐควรมีนโยบายเพิ่มเติมโดยกำหนดมาตรฐาน ซึ่งอาจเทียบเคียงจากมาตรฐาน i-Size (R129) หรือ ECE R44 ของยุโรป ส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ และมาตรการทางภาษีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

 

ยกตัวอย่าง 🇲🇾 มาเลเซียที่ออกกฎหมาย Car Seat ก่อนหน้าไทยไม่นาน (เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563) แต่ Anthony Loke รัฐมนตรีคมนาคม ได้ประกาศว่าจะใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจผู้ปกครอง โดยยกเว้นภาษีนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิตจาก 10% เหลือ 5% 

 

กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เป็นนโยบายที่สร้างบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ว่าผู้ใหญ่จะต้องให้เด็กนั่ง Car Seat ขณะโดยสารรถยนต์ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้บางส่วนเป็นประเด็นการดำเนินโยบาย (Implementation) ซึ่งไม่รายละเอียดเป็นขั้นตอนมาพร้อมกับการประกาศนโยบาย (Adoption) และความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขอให้ผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับเอาไปกำหนดแนวการทำงานโดยยึดเป้าหมายสูงสุดเป็นสำคัญ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising